เมื่อพระปัญจวัคคีย์หนีจากพระพุทธองค์แล้ว ท่านเห็นว่าเป็นลาภเป็นโชคของท่าน จะได้มีโอกาสทำความเพียร ครั้งเมื่อพระปัญจวัคคีย์อยู่ก็วุ่นวายก่อกวนหลายอารมณ์ บัดนี้พระปัญจวัคคีย์ออกจากท่าน พระปัญจวัคคีย์เห็นว่าพระพุทธองค์นั้นคลายออกจากความเพียรเวียนมาหาความมักมาก เพราะว่าสมัยก่อนนั้นเอาจริงเอาจังเรื่องอัตตกิลมถานุโยโค เรื่องการทรมาน เรื่องการขบ เรื่องการฉัน เรื่องการหลับการนอน เอาแท้ๆ เมื่อถึงคราวอันนี้แล้ว พอมาพิจารณาแล้วมันก็ไม่เป็นไป ประพฤติด้วยทิฏฐิ ประพฤติด้วยมานะ ด้วยความยึดมั่นถือมั่น คิดปรารภโลกว่าเป็นธรรม คิดปรารภตนว่าเป็นธรรมมันไม่ได้ปรารภธรรมะ
อย่างว่าเราจะทรมาน ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ก่อนจะทำอย่างนั้นก็ปรารภว่าให้โลกสรรเสริญ ให้เขาว่านี่แหละเป็นคนเอาจริงเอาจัง ก็เลยทำอันนั้น เป็นโลกหมด ทำเพื่อความยกย่องสรรเสริญ ให้เขาว่าดี ให้เขาว่าเลิศ ให้เขาว่าประเสริฐ ให้เขาว่าปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ คิดอย่างนี้แล้วจึงทำ เรียกว่ามันปรารภโลก อีกอย่างหนึ่งคือปรารภตนเอง เชื่อมั่นในความเห็นของตนเอง เชื่อมั่นในการประพฤติปฏิบัติของตน ใครจะว่าผิดก็ช่างถูกก็ตาม ไม่เอาเป็นประมาณ ชอบอย่างไรก็ทำอย่างนั้น ไม่ได้คลำหน้าคลำหลัง นี่ปรารภตนเองอีกประเภทหนึ่ง อย่าปล่อยอย่าวางด้วยความยึดมั่น
เรื่องปรารภโลกกับปรารภตนนี้ มันมีแต่เรื่องอุปาทานแน่นหนาอยู่เท่านั้น พระพุทธองค์พิจารณาเห็นว่าเรื่องที่จะปรารภธรรมะ คือให้มันถูกธรรมะแล้วจึงทำไม่มี ฉะนั้นการปฏิบัติจึงเป็นหมัน ละกิเลสไม่ได้ท่านก็หวนมาพิจารณาใหม่คือ ที่ทำงานตั้งแต่ต้นท่านก็มาดูผลงาน มัน สิ่งที่ประพฤติปฏิบัตินั้น ผลที่เกิดจากเหตุที่ท่านกระทำนั้นเป็นอย่างไร ภาวนาแล้วคิดไปลึกซึ้งแล้วเห็นว่ามันไม่ถูก มีแต่เรื่องตนเท่านั้น เรื่องโลกเท่านั้น เรื่องธรรมะเรื่องอนัตตานี้ไม่มี เรื่องสูญ เรื่องว่าง เรื่องปล่อย เรื่องวาง ไม่มี คือเรื่องปล่อยวางมันมีอยู่ แต่ว่าปล่อยโดยความยึดมั่นถือมั่น
ท่านก็คิดไปคิดมาพิจารณาดูแล้ว ถึงจะสอนลูกศิษย์เขาก็เห็นไม่ได้ ไม่ใช่สิ่งที่จะบอก ให้ลูกศิษย์เข้าใจกันได้ง่าย เพราะว่าลูกศิษย์นั้นเขาแน่นเหลือเกินในการกระทำอย่างนั้น ในการสอนอย่างนั้น ในความเห็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าของเราท่านก็เห็นว่าทำอย่างนั้น ก็ทำตายเปล่า อดตายเปล่า ทำตามโลก ทำตามตน ท่านก็พิจารณาใหม่ หาสิ่งที่มันพอดี เป็นสัมมาปฏิปทา ส่วนจิตก็เป็นจิต ส่วนกายก็เป็นกายเรื่องกายนี้มันไม่ใช่กิเลสตัณหากับใครหรอก ถ้าจะไปฆ่าอันนั้นเฉยๆมันก็ไม่หมดกิเลส มันไม่ใช่ที่ของมัน แม้จะอดขบอดฉัน อดหลับอดนอนให้มันเหี่ยวมันแห้ง ว่าจะให้มันหมดกิเลสนั้น มันก็หมดไม่ได้แต่ความเข้าใจที่ว่ามันได้สั่งสอนในการทรมานนี้ พระปัญจวัคคีย์ติดมาก
ต่อนั้นพระพุทธเจ้าก็กลับมาฉันจังหันให้มากขึ้น ให้มันธรรมดาอะไรก็ให้มันธรรมดาๆมากขึ้น พอพระปัญจวัคคีย์เห็นการประพฤติปฏิบัติของพระพุทธองค์เคลื่อนจากของเก่า มันเปลี่ยนจากการปฏิบัตินั้นมาก็เลยพากันเข้าใจว่าพระพุทธองค์นั้นคลายความเพียรเวียนมาหาความมักมาก ความเห็นผู้หนึ่งมันจะเลื่อนขึ้นไปข้างบน คือพ้นสมมติ อีกผู้หนึ่งเห็นว่ามันจะเลื่อนลงไปข้างล่าง คือคลายความเพียรเวียนมาหาความมักมาก การทนมานตนเองมันแน่นอยู่ในหัวใจของพระปัญจวัคคีย์ทั้งหลาย เพราะพระพุทธองค์ก็เคยสอนอย่างนั้นปฏิบัติมาอย่างนั้น สอนมาอย่างนั้น จนกว่าท่านได้เห็นโทษมัน เห็นโทษมันชัดเจน ท่านจึงละมันได้ เมื่อละมันได้แล้ว ท่านก็เห็นประโยชน์ในการละนั้น ท่านจึงกระทำอย่างนั้นโดยมิได้ลงขอผู้อื่นเลยพอพระปัญจวัคคีย์เห็นพระพุทธเจ้าทำอย่างนั้น ก็พากันหนีจากท่าน เห็นว่ามันไม่ถูก ไม่ทำตาม ก็เหมือนนกที่หนีจากต้นไม้ เห็นว่าต้นไม้ไม่มีกิ่งหรือก้านกว้างขวาง ไม่มีร่มมีเย็น หรือปลาจะหนีจากน้ำ ก็เห็นว่าน้ำ มันน้อย ไม่เย็น มันเบื่อ ว่าอย่างนั้น ความเห็นเป็นอย่างนั้น ก็เลยเลิกกันจากพระพุทธเจ้า
ทีนี้พระองค์ก็ได้พิจารณาธรรม ท่านก็เลยฉันให้สบาย อยู่ให้สบาย จิตก็ให้มันเป็นจิต กายก็ให้มันเป็นกาย จิตมันก็เป็นเรื่องของจิต กายมันก็เป็นเรื่องของกาย ท่านก็ไม่ได้บีบมันเท่าไร ไม่ได้บังคับมันเท่าไร พอแต่จะทำราคะ โทสะ โมหะ ให้บรรเทาลง แต่ก่อนท่านก็เดินอยู่สองทาง กามสุขัลลิกานุโยโค มีความสุขมีความรักเกิดขึ้นมาแล้วก็สนใจเกาะด้วยอุปาทาน เป็นตัวเป็นตนขึ้นมา ไม่ได้ปล่อยไม่ได้วาง กระทบความสุขก็ติดในความสุข กระทบความทุกข์ก็ติดในความทุกข์ เป็นกามสุขัลลิกานุโยโค กับอัตตกิลมถานุโยโค พระองค์ติดอยู่ในสงสาร ท่านมองพิจารณาเห็นชัดเจนเข้าไปว่า อันนี้ไม่ใช่หน้าที่ของสมณะที่จะเดินไปในทางนั้น สุขแล้วก็ยึดสุข ทุกข์แล้วก็ยึดทุกข์คุณสมบัติของผู้เป็นสมณะไม่ใช่อย่างนั้น ไม่ใช่เรื่องยึดเรื่องมั่นเรื่องหมายในสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น ครั้นติดอยู่ในนั้นมันก็เป็นตัวเป็นตน มันก็เป็นโลก ถ้าปฏิบัติบากบั่นในสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น ก็ยังไม่เป็นโลกวิทูไม่รู้แจ้งโลก วิ่งทางซ้ายวิ่งทางขวาอยู่ตลอดเวลา บัดนี้ท่านเพ่งถึงส่วนจิต จริงๆ ตามรักษาจิตของตนล้วนๆ สอนจิตของตนล้วนๆ
เรื่องธรรมชาติทุกอย่างมันเป็นไปตามเรื่องของมัน ไม่ได้เป็นอะไร เหมือนกันกับโรคในร่างกายเรานี้ เป็นเจ็บ เป็นไข้ เป็นหวัดเป็นไอ เป็นโรคนั้นโรคนี้ ก็เป็น ในร่างกายของเรา ความเป็นจริงคนเราก็หวงแหนกายของเราจนเกินขอบเขตเหมือนกัน ก่อนที่มันจะหวงแหนก็เนื่องจากความเห็นผิด มันจึงปล่อยไม่ได้ อย่างศาลาเราอยู่เดี๋ยวนี้เราสร้างมันขึ้นเป็นศาลาของเรา จิ้งเหลนมันก็มาอยู่ จิ้กจกมันก็มาอยู่หนูมันก็มาอยู่ เราก็เบียดเบียนแต่มัน เพราะเราเห็นว่าศาลาของเราไม่ใช่ของจิ้งเหลนจิ้งจก เลยเบียดเบียนมัน เหมือนกันกับโรคในร่างกายเราที่เป็นอยู่ ร่างกายเราถือว่าเป็นบ้านเป็นของของเรา ถ้าจะมาเจ็บหัวปวดท้องนิดหนึ่งก็ทุรนทุราย ไม่อยากให้มันเจ็บ ไม่อยากให้มันเป็นทุกข์ ขาก็ขาของเราไม่อยากให้มันเจ็บ แขนก็แขนของเราไม่อยากให้มันเจ็บ หัวนี่ก็หัวของเรา ไม่อยากให้มันเจ็บ ไม่อยากให้มันเป็นอะไรเลย ที่นี่ รักษามันให้ได้ หลงไป หลงจากความจริงมา เราก็จรเข้ามาอยู่กับสังขาร นี้ก็เหมือนกัน ศาลานี้ไม่ใช่ศาลาของเราตามความจริงนะ เราก็เป็นเจ้าของชั่วคราว หนูมันก็เป็นเจ้าของชั่วคราวจิ้งเหลนมันก็เป็นเจ้าของชั่วคราว จิ้งจกมันก็เป็นเจ้าของชั่วคราวเท่านั้นแต่มันไม่รู้จักกัน
ร่างกายนี้ก็เหมือนกัน ความเป็นจริงพระพุทธเจ้าท่านสอนว่าไม่มีตัวไม่มีตนอยู่นี้ เราก็มายึดสังขารก้อนนี้ว่าเป็นตัวเป็นตน เป็นเราเป็นเขาแน่นอนเข้าไป ทีนี้สังขารจะเปลี่ยนแปลงก็ไม่อยากให้เปลี่ยนบอกเท่าไรก็ไม่เข้าใจ พูดเท่าไรก็ไม่เข้าใจ บอกจริงๆก็ยิ่งหลงจริงๆอันนี้ไม่ใช่ตัว ว่าอย่างนั้น ก็ยิ่งหลงใหญ่ ยิ่งไม่รู้เรื่อง เรามาภาวนาให้มันเป็นตัวเป็นตน ฉะนั้นคนโดยมากไม่เห็นตัวตน ผู้ที่เห็นตัวตนจริงๆก็คือผู้ที่เห็นว่ามิใช่ตัวมิใช่ตน คือเห็นตนตามธรรมชาติ ผู้ที่เห็นตัวด้วยอุปาทานนี้ว่า นี่เป็นตัวเป็นตน ผู้นั้นไม่เห็น มันก้าวก่ายอยู่อย่างนี้นะ จะทำอย่างไร มันไม่เห็นง่ายๆก้อนนี้ อุปาทานมันยึดไว้
ฉะนั้นท่านจึงบอกว่าให้พิจารณารู้เท่าด้วยปัญญา ให้เห็นด้วยปัญญา คือพิจารณาสังขารว่า มันจริงอย่างไรก็ให้เห็นตามเป็นจริงอย่างนั้น อาศัยปัญญารู้ตามเป็นจริงของสังขารเรียกว่าตัวปัญญา ถ้ารู้ไม่ตามเป็นจริงของสังขารนั้นก็ไปแย้งกัน ไปขัดกัน สังขารนี้มันสมควรที่จะปล่อยไปแล้ว ก็ยังจะไปกางไปกั้นมันไว้ ไปร้องขอให้เป็นอยู่อย่างนั้น หาสิ่งของสารพัดอย่างมาแก้มัน มาไถ่ถอนเอาสารพัด ถ้ามันเจ็บมันไข้แล้วไม่อยากไป จึงค้นหาสูตรอะไรต่างๆพากันมาสวด สูตร โพชฌังโค ธัมมจักร อนัตตลักขณสูตร ไม่อยากให้มันเป็นอย่างนั้นพากันกั้นพากันห้าม ก็เลยเป็นพิธีรีตองไป ยึดมั่นถือมั่นยิ่งไปกันใหญ่โดยบทสวดต่างๆ คือสวดให้มันหายโรค เอามาสวดต่ออายุกัน เอามาสวดให้มันยืนยาว สารพัดอย่าง
ความเป็นจริงท่านให้สวดเพื่อเห็นชัด แต่เรามาสวดให้หลงรูปัง อนิจจัง เวทนา อนิจจา สัญญา อนิจจา สังขารา อนิจจา วิญญาณัง อนิจจัง...บทที่สวดนั้นไม่ใช่สวดให้เราหลงนะ สวดให้เรารู้เรื่องตามความเป็นจริงของมันอย่างนั้น จะได้ปล่อยจะได้วาง จะได้ไม่เสียใจ จะได้ทอดอาลัย อันนั้นมันจะสั้น แต่เรามาสวดให้มันยาวออก ถ้ามันยาวอยากจะให้มันสั้น บังคับธรรมชาติให้มันเป็นไป หลงกันหมด ที่มาทำกันในศาลานั้นก็มาหลงกันหมดทุกคน คนที่สวดก็หลง คนที่นอนฟังอยู่ก็หลง ใครที่ไหนก็หลงทั้งนั้น ทำอย่างไรจึงจะไม่เป็นทุกข์ คิดอย่างนั้น จะปฏิบัติที่ไหนกัน จึงปฏิบัติให้มันหลงไปแก้ความจริงในเรื่องนั้น ถ้ามันเกิดขึ้นมาแล้ว ท่านผู้รู้ทั้งหลายเห็นว่ามันไม่มีอะไรเกิดมาแล้วต้องมีโรคอย่างนี้ แต่ว่าพระพุทธเจ้าก็ดี อริยสาวกของท่านก็ดี มีเจ็บมีไข้เป็นธรรมดา ท่านก็รักษาฉันยาเป็นธรรมดาเท่านั้นแหละ มันเป็นเรื่องแก้ธาตุ แต่ความเป็นจริงท่านไม่ได้ถือมั่นถือลางถือขลัง ยึดมั่นจนเกินไป หรอก ท่านก็รักษามันด้วยความเห็นชอบ ไม่ใช่รักษาด้วยความหลง มันหายก็หาย ไม่หายก็ไม่หาย เป็นอย่างนั้น
อันนี้แหละ เขาว่าศาสนาในประเทศไทยเรามันเจริญ แต่ผมว่ามันเสื่อมจนถึงที่สุดมันแล้ว ในศาลามีแต่หูฟังทั้งนั้น หมดศาลาเลยเอียงหูฟัง มันเอียงซ้ายเลยนะ ตลอดผู้ใหญ่ผู้โตก็ทำอย่างนั้นอยู่ ว่ามันเป็นอย่างนั้น มันเลยหลงตามกันหมดทุกอย่างเลย ฉะนั้นถ้าเราไปเห็นอย่างนั้นแล้ว ก็เลยพูดอะไรไม่ออก มันคนละเรื่องกัน แล้วจะให้มันพ้นทุกข์กันที่ไหน ท่านให้สวดเพื่อให้มันแจ้ง เรามาสวดให้มันมืดมันหันหลังใส่กันเลย ผู้หนึ่งเดินไปทางตะวันตก อีกผู้หนึ่งเดินไปทางตะวันออก จะพบกันได้อย่างไร มันไม่ใกล้เลยเรื่องเหล่านี้ ถ้าหากว่าเราได้ภาวนาแล้ว ตามความเป็นจริงมันเป็นอย่างนั้น ก็กำลังหลงกัน ไม่รู้จะว่ากันได้อย่างไร อะไรก็เป็นพิธีรีตองไปหมดทุกอย่าง สวดอยู่ แต่ว่าสวดด้วยความโง่ ไม่ใช่สวดด้วยปัญญา เรียนแต่เรียนด้วยความโง่ ไม่ได้เรียนด้วยปัญญา รู้ก็รู้ด้วยความโง่ ไม่ได้รู้ด้วยปัญญา มันเลยไปก็ไปด้วยความโง่ อยู่ก็อยู่ด้วยความโง่ มันก็เป็นอย่างนั้น ที่สอนกันทุกวันนี้ก็เรียกว่าสอนให้คนโง่ทั้งนั้นแหละ แต่เขาว่าสอนให้คนฉลาด สอนให้คนรู้ แต่หลักความเป็นจริง ฟังๆดูแล้วก็สอนให้คนหลงงมงาย
ความเป็นจริง หลักธรรมะ ท่านสอนให้พวกเราทั้งหลายปฏิบัติเพื่อเห็นอนัตตา คือเห็นตัวตนนี้ว่ามันเป็นของว่าง ไม่ใช่เป็นของมีตัวตน เป็นของว่างจากตัวตน แต่เราก็มาเรียนกันให้มันเป็นตัวเป็นตนก็เลยไม่อยากจะให้มันทุกข์ ไม่อยากจะให้มันลำบาก อยากจะให้มันสะดวก อยากจะให้มันพ้นทุกข์ ถ้ามีตัวมีตนมันจะพ้นทุกข์เมื่อไร ดูซิอย่างเรามีของชิ้นหนึ่งที่มีราคามาก เมื่อเราได้รับมาเป็นของเราแล้ว เปลี่ยนเสีย จิตใจเปลี่ยนแล้ว ต้องหาที่วางมัน จะเอาไว้ตรงไหนดีหนอ เอาไว้ตรงนั้นขโมยมันจะย่องเอาไปละมั้ง คิดจนเลิกคิดแล้วหาที่ซ่อนของ นะ แล้วจิตมันเปลี่ยนเมื่อไร มันเปลี่ยนเมื่อเราได้วัตถุอันนี้เอง ทุกข์แล้วเอาไว้ตรงนี้ก็ไม่ค่อยสบายใจ เอาไว้ตรงนั้นก็ไม่ค่อยสบายใจ เลยวุ่นกันจนหมดแหละ นั่งก็ทุกข์ เดินก็ทุกข์ นอนก็ทุกข์ นี่ทุกข์เกิดขึ้นมาแล้วมันเกิดเมื่อไร มันเกิดในเมื่อเราเข้าใจว่าของของเรา มันมีมาแล้ว ได้ มาแล้ว ทุกข์อยู่เดี๋ยวนี้ แต่ก่อนไม่มี มันก็ไม่เป็นทุกข์ ทุกข์ยังไม่เกิด ไม่มีอะไรเกิดขึ้นที่จะจับมัน
อัตตานี้ก็เหมือนกัน ถ้าเราเข้าใจว่าตัวของเรา ตนของเรา สภาพสิ่งแวดล้อมนั้นมันก็เป็นของตนไปด้วย ของเราไปด้วย มันก็เลยวุ่นขึ้นไป เพราะอะไร ต้นเหตุคือมันมีตัวมีตน ไม่ได้เพิกสมมุติอันนี้ออกให้เห็นวิมุตติ ตัวตนนี้มันเป็นของสมมุติ ให้เพิกให้รื้อสมมุติอันนี้ออกให้เห็นแก่นของมัน คือวิมุตติ พลิกสมมุติอันนี้กลับให้เป็นวิมุตติ
อันนี้ถ้าเปรียบกับข้าวก็เรียกว่าข้าวยังไม่ได้ซ้อม ข้าวนั้นกินได้ไหม กินได้ แต่เราไปปฏิบัติมันซิ คือให้เอาไปซ้อมมัน ให้ถอดเปลือกออกไปเสีย มันก็จะเจอข้าวสารอยู่ตรงนั้นแหละ ทีนี้ถ้าเราไม่ได้สีมันออกจากเปลือกของมันก็ไม่เป็นข้าวสาร ความเห็นเช่นนี้ก็เหมือนกันกับสุนัข สุนัขมันนอนอยู่บนกองข้าวเปลือกนั่นแหละท้องร้องจ๊อก...จ๊อก..จ๊อก...มันก็มัวแต่นอนอยู่นั่นแหละ จิตมันหวั่นวิตก "จะไปหากินที่ไหนหนอ" แน่ะ ท้องมันหิวมันก็โจนออกจากกองข้าวเปลือก วิ่งไปหากินอาหารเศษๆทั้งหลายเหล่านั้น ทั้งๆที่มันนอนทับอยู่อาหารมันอยู่ตรงนั้น แต่มันไม่รู้จัก เพราะอะไร มันไม่เห็นข้าว สุนัขมันกินข้าวเปลือกไม่ได้ อาหารมันมีอยู่แต่มันกินไม่ได้ ความรู้เรามีอยู่ถ้าเราไม่เอาไปปฏิบัติ เราก็ไม่รู้เรื่องเหมือนกัน โง่ขนาดสุนัขมันนอนอยู่บนกองข้าวเปลือกนอนทับอาหารอยู่ได้ แต่ว่าไม่รู้จักกินอาหารที่มันนอนทับอยู่ เมื่อหิวอาหารก็ต้องโจนจากข้าววิ่งไปหากินที่อื่น อันนี้มันก็น่าสงสารอยู่เหมือนกัน อย่าทำตัวเหมือนสุนัขนอนอยู่บนกองข้าวเปลือก
เหมือนกันฉันนั้นข้าวสารมีอยู่ อะไรมันปิด เปลือกข้าวมันปิดสุนัขกินไม่ได้วิมุตติก็มีอยู่ อะไรมันปิดไว้ สมมุติมันปิดไม่ให้เห็นวิมุตติ ให้พุทธบริษัททั้งหลายนั่งทับ ไม่รู้จัก..'ข้าว' ไม่รู้จักการประพฤติปฏิบัตินั่นจึงไม่เห็นวิมุตติมันก็จึงติดสม มุติ อยู่ตลอดกาลตลอดเวลา เมื่อมันติดอยู่ในสมมุติมันก็เกิดทุกข์ขึ้นมา เกิดภพขึ้นมา เกิดชาติ ขึ้นมาชรา พยาธิ มรณะ ถึงวันตายตามเข้ามา ฉะนั้นมันไม่มีอะไรบังอยู่หรอก มันบังอยู่ตรงนี้ เราเรียนธรรมะ ไม่รู้จักธรรมะ ก็เหมือนกับสุนัขนอนอยู่บนข้าวเปลือก ไม่รู้จักข้าว หิวจวนจะตายมันก็ตายทิ้งเฉยๆนั่นแหละ ไม่มีอะไรกิน ข้าวเปลือกมันกินไม่ได้ มันไม่รู้จักหาอาหารของมันเลย นานๆไปไม่มีอะไรกิน มันก็ตายไปบนกองข้าวเปลือกนั่นแหละ บนอาหารนั่นแหละ
มนุษย์เรานี้ก็เหมือนกัน ธรรมที่เราเรียนมา ธรรมะที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ ถึงจะศึกษาธรรมะเท่าไรก็ตามทีเถิด ถ้าไม่ประพฤติปฏิบัติแล้วก็ไม่เห็น ไม่เห็นแล้วก็ไม่รู้ ไม่รู้ก็ไม่รู้จัก ข้อปฏิบัติ อย่าพึงว่าเราเรียนมาก เรารู้มากแล้วเราจะเห็นธรรมะของพระพุทธเจ้า ก็เหมือนเรามีตา อย่างนี้ก็นึกว่าเราเห็นทุกอย่าง เพราะว่าเรามองไปแล้ว หรือจะนึกว่าเราได้ยินแล้วทุกอย่าง เพราะเรามีหูอยู่แล้ว มันเห็นไม่ถึงที่สุดของมัน มันก็เป็นตานอกไป ท่านไม่จัดว่าเป็นตาใน หูก็เรียกว่าหูนอก ไม่ได้เรียกว่าหูใน มิฉะนั้นถ้าท่านพลิกสมมุติเข้าไปเห็นวิมุตติ แล้วก็เป็นของจริง เห็นชัด ถอนทันที มันจึงถอนสมมุติออก ถอนความยึดมั่นถือมั่นออก ถอนทุกสิ่งทุกอย่าง
เหมือนกับผลไม้หวานๆใบหนึ่ง ผลไม้นั้นมันหวานอยู่ก็จริงแต่ว่ามันต้องอาศัยการกระทบประสบจึงรู้ว่ามันหวานหรือมันเปรี้ยวจริงผลไม้นั้นถ้าไม่มีอะไรกระทบ มันก็หวานอยู่ตามธรรมชาติ หวานแต่ไม่มีใครรู้จัก เหมือนธรรมะของพระพุทธเจ้าของเรา เป็นสัจจธรรมจริงอยู่ก็ตาม แต่สำหรับคนที่ไม่รู้จริงนั้นก็เป็นของไม่จริง ถึงมันจะดีเลิศประเสริฐสักเท่าไรก็ตามทีเถอะมันไม่มีราคาเฉพาะกับคนที่ไม่รู้เรื่อง
ฉะนั้นจะไปเอาทุกข์ทำไม ใครในโลกนี้อยากเอาทุกข์ใส่ตัวมีไหม ไม่มีใครทั้งนั้นแหละ ไม่อยากได้ทุกข์ แต่ว่าสร้างเหตุให้ทุกข์เกิดขึ้นมา มันก็เท่ากับเราไปแสวงหาความทุกข์นั่นเอง แต่ใจจริงของเราแสวงหาความสุข ไม่อยากได้ทุกข์ นี่มันก็เป็นของมันอยู่อย่างนี้ทำไมจิตใจของเรามันสร้างเหตุให้ทุกข์เกิดขึ้นมาได้ เรารู้เท่านี้ก็พอแล้วใจเราไม่ชอบทุกข์ แต่เราสร้างความทุกข์ขึ้นมาเป็นตัวของเราทำไม มันก็เห็นง่ายๆก็คือคนที่ไม่รู้จักทุกข์นั่นเอง ไม่รู้จักทุกข์ ไม่รู้จักเหตุเกิดของทุกข์ ไม่รู้ความดับทุกข์ ไม่รู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ จึงประพฤติอย่างนั้น จึงเห็นอย่างนั้น จะไม่มีความทุกข์ได้อย่างไรก็เพราะคนไปทำอย่างนั้น
ถ้ามันเป็นเช่นนั้น มันก็เป็นมิจฉาทิฏฐิทั้งดุ้นนั้นแหละ แต่ว่าเราไม่เข้าใจว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ อะไรที่เราได้พูด เราได้เห็น เราได้ทำแล้วเป็นทุกข์ อันนั้นเป็นมิจฉาทิฏฐิทั้งนั้น ถ้าไม่เป็นมิจฉาทิฏฐิมันไม่ทุกข์อย่างนั้นหรอก มันไม่ยึดในความทุกข์อันนั้น มันไม่ยึดในความสุขนั้นๆ ไม่ได้ยึดตามอาการทั้งหลายเหล่านั้น มันจะปล่อยวางตามเรื่องของมัน เช่น กระแสน้ำที่มันไหลมา ไม่ต้องกาง กั้นมัน ให้มันไหลไปตามสะดวกของมันนั้นแหละ เพราะมันไหลอย่างนั้น กระแสธรรมก็เป็นอย่างนั้น กระแสจิตของเราที่ไม่รู้จักมันก็ไปกางกั้นธรรมะด้วยที่ว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ แล้วไปตะโกน โน้น มิจฉาทิฏฐิอยู่ที่โน้น คนโน้นเป็นมิจฉาทิฏฐิ แต่ตัวเราเองเป็นมิจฉาทิฏฐิ คือทุกข์เกิดขึ้นมาเพราะ เราเป็นมิจฉาทิฏฐิ อันนั้นเราไม่รู้เรื่อง อันนี้ก็น่าสังเกตน่าพิจารณาเหมือนกันนะ ถ้าเป็นมิจฉาทิฏฐิเมื่อไรก็เป็นทุกข์เมื่อนั้น ไม่ทุกข์ในเวลาปัจจุบันนั้น ต่อไปมันก็ให้ผลมาเป็นทุกข์
อันนี้พูดเฉพาะคนเรามันหลงเท่านั้น อะไรมันปิดไว้ อะไรมันบังไว้ สมมุติมันบังวิมุตติให้คนมอง เห็นไม่ชัดในธรรมทั้งหลาย ต่างคนก็ต่างศึกษา ต่างคนก็ต่างเล่าเรียน ต่างคนก็ต่างทำ แต่ทำด้วยความไม่รู้จัก ก็เหมือนกันกับคนหลงตะวันนั้นแหละ เดินไปทางตะวันตกเข้าใจว่าเดินไปทางตะวันออก หรือเดินไปทิศเหนือเข้าใจว่าเดินไปทิศใต้ มันหลงขนาดนี้ เราปฏิบัตินี้มันก็เลยเป็นขี้ของการปฏิบัติโดยตรงแล้วมันก็เป็นวิบัติ วิบัตินี้คือมันพลิกไปคนละทาง หมดจากความมุ่งหมายของธรรมะที่ถูกต้อง สภาพอันนี้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เราก็เข้าใจว่าอันนี้ถ้าทำขึ้น ถ้าบ่นขึ้น ถ้าท่องขึ้น ถ้ารู้เรื่องอันนี้ มันจะเป็นเหตุให้ทุกข์ดับ ก็เหมือนกันกับคนที่อยากได้มากๆนั่นแหละ อะไรๆก็หามามากๆ ถ้าเราได้มากแล้วมันก็ดับทุกข์ จะไม่มีทุกข์ ความเข้าใจของคนมันเป็นอย่างนี้ แต่ว่ามันคิดไปคนละทาง เหมือนกันกับคนนี้ไปทิศเหนือ คนนั้นไปทิศใต้ นึกว่าไปทางเดียวกัน
ฉะนั้นพุทธบริษัททั้งหลาย มนุษย์เราทั้งหลายจึงจมอยู่ในกองทุกข์ อยู่ในวัฏฏสงสาร ก็เพราะคิดอย่างนี้ ถ้ามีโรคภัยไข้เจ็บขึ้นมาก็นึกแต่จะให้มันหายเท่านั้น อยากจะให้มันหายเดี๋ยวนี้ จะให้มันหายเท่านั้นแหละ ไม่นึกว่าอันนี้มันเป็นสังขาร อันนี้ไม่มีใครรู้จักสังขารมันเปลี่ยน ทนไม่ได้ ฟังไม่ได้ จะต้องให้หายให้หมด แต่ผลสุดท้ายมันก็สู้ไม่ได้ สู้ความจริงไม่ได้ พังหมด อันนี้คือเราไม่ได้คิด คือมันเห็นผิดหนักเข้าไปเรื่อยๆ
การประพฤติปฏิบัติทุกอย่างเพื่อเห็นธรรมะมันเลิศกว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวง พระพุทธองค์สร้างบารมีตั้งแต่ทานบารมีไปถึงปรมัตถบารมีเพื่ออะไร ก็เพื่อให้รู้จักอันนี้ เพื่อให้เห็นธรรมะ ให้ปฏิบัติธรรมะ แล้วให้รู้ธรรมะ ให้ใจเป็นธรรมะ ให้ปล่อยวางเพื่อจะไม่ให้หนัก อย่าไปยึดมั่นถือมั่นมัน หรือจะพูดง่ายๆอีกอย่างหนึ่งว่า ให้ยึดแต่อย่าให้มั่น นี่ก็ถูกเหมือนกัน คือเราเห็นอะไรก็จับมันขึ้นมาดูเสีย "เออ...อันนี้ก็อันนั้น" แล้วก็วางมันไป เห็นอันนั้นอีกก็ยึดมาอีก แต่อย่ายึดให้มันมั่น เอามาพิจารณา รู้เรื่องแล้วก็ปล่อยวางเท่านั้นแหละ ถ้ายึดไม่วาง แบกไม่หยุดมันก็หนักตลอดเวลาสิ ถ้าเรายึดมาแบกรู้สึกว่ามันหนักก็ปลงมันไป ทิ้งมันเสีย อย่าให้ทุกข์เกิดขึ้นมา ถ้าเป็นเช่นนี้เราก็รู้จักว่าอันนี้เป็นเหตุให้ทุกข์เกิด เมื่อรู้จักเหตุให้ทุกข์เกิดแล้ว ทุกข์มันเกิดไม่ได้ ทุกข์จะเกิด สุขจะเกิด มันอาศัยอัตตาตัวตน อาศัยเราอาศัยของของเรา อาศัยสมมติอันนี้ ถ้าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้เกิดขึ้นมาแล้ววิ่งไปถึงวิมุตติ มันก็เลิกถอน มันถอนสมมุติออก ถอนความสุขออกจากที่นั่น ถอนความทุกข์ออกจากที่นั่น ถอนความยึดมั่นถือมั่นออกจากที่มันยึดนั้น เท่านั้นแหละ
ก็คล้ายกับว่าของของเราชิ้นหนึ่งมันหลุดมือ หายไป เราก็เป็นห่วงก็เป็นทุกข์กับมัน อีกเวลาหนึ่งเราก็พบของนั้นขึ้นมา ความทุกข์ก็หายแว้บไปทีเดียว แม้ยังไม่เห็นวัตถุอันนั้นความทุกข์มันก็หาย อย่างเราเอาของมาวางไว้ตรงนี้ แล้วหลงเสียนึกว่าของเรามันหายไปก็เป็นทุกข์ เมื่อทุกข์เกิดขึ้นแล้วจิตก็พะวงถึงสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น อีกวันหนึ่งอีกเวลาหนึ่ง จิตใจก็วิตกไปถึงของของเราว่า "อ้อ..เอาไว้ตรงนั้น แน่นอนเลย" พอนึกอย่างนั้น รู้ตามความจริงแล้ว ตายังไม่เห็นของเลย สบายใจเลยทีนี้ อันนี้เรียกว่าเห็นทางใน เห็นกับตาใจ ไม่ใช่เห็นกับตานอก เห็นด้วยตาใจ ถึงตานอกยังไม่เห็น มันก็สบายแล้ว มันก็ถอนทุกข์ออกทันที อย่างนี้ก็เหมือนกัน ผู้ที่บำเพ็ญธรรมะ บรรลุธรรมะ เห็นธรรมะ ประสบอารมณ์เมื่อไรปุ๊บ นั่นก็คือปัญญาเกิดขึ้น ก็แก้ปัญหาได้ทันท่วงทีเท่านั้นแหละ หายไปเลย วาง ปล่อย
ฉะนั้นท่านจึงให้พวกเราพบธรรมะ ทีนี้เราพบธรรมะแต่ตัวหนังสือ พบธรรมะกับตำรา อย่างนั้นมันพบแต่เรื่องของธรรมะ ไม่ได้พบธรรมะตามความจริงที่พระบรมครูของเราสอน จะเข้าใจว่าพวกเราทั้งหลายปฏิบัติดีปฏิบัติชอบได้อย่างไร มันไกลกันมาก พระพุทธองค์เป็นโลกวิทู เป็นผู้รู้แจ้งโลก เดี๋ยวนี้เรารู้ไม่แจ้ง รู้เท่าไรก็ยิ่งมืดเข้าไปเท่านั้น รู้เท่าไรก็ยิ่งมืดเข้าไป คือมันรู้มืด ไม่ใช่รู้แจ้ง รู้ไม่ถึงนั่นเองไม่แจ้ง ไม่สว่าง ไม่เบิกบาน คนก็มาคาติดแค่นี้เท่านั้นแหละ แต่ว่ามันไม่ใช่น้อย มันเป็นของ มาก จงละทุกข์ทันทีเมื่อมองเห็นโทษของมัน
ทุกคนโดยมากก็ต้องการความดี ต้องการความสุข แต่ว่าไม่รู้จักว่าอะไรมันเป็นเหตุให้สุขให้ทุกข์เกิดขึ้นมา อะไรทุกอย่างถ้าเรายังไม่เห็นโทษมัน เราก็ละมันไม่ได้ มันจะชั่วขนาดไหนก็ละมันไม่ได้ถ้าเรายังไม่ได้เห็นโทษอย่างจริงจัง แต่เมื่อเราเห็นโทษอย่างแน่นอนจริงๆนั่นแหละ สิ่งทั้งหลายเหล่านั้นเราถึงจะปล่อยได้วางได้ พอเห็นโทษอย่างแน่นอนจริงๆ พร้อมกระทั่งเห็นประโยชน์ในการกระทำอย่างนั้นในการประพฤติอย่างนั้น เปลี่ยนขึ้นมาทันทีเลย อันนี้คนเราประพฤติปฏิบัติอยู่ทำไมมันยังไปไม่ได้ ทำไมมันถึงวางไม่ได้ คือมันยังไม่เห็นโทษอย่างแน่ชัด คือยังไม่รู้แจ้งนี่แหละ รู้ไม่ถึงหรือรู้มืด มันจึงละไม่ได้ ถ้ารู้แจ้งอย่างอรหันตสาวก หรือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา ก็เลิกกันเท่านั้นแหละ แก้ปัญหาหลุดไปทีเดียวแหละ ไม่เป็นของยาก ไม่เป็นของลำบาก
มันก็เหมือนกันกับเรานั่นแหละ หูเราได้ยินเสียงก็ให้มันทำงานตามหน้าที่ของมันสิ ตาทำงานทางรูปก็ให้มันทำสิ จมูกทำงานทางกลิ่นก็ให้มันทำสิ ร่างกายทำงานถูกต้องโผฏฐัพพะก็ให้มันทำงานตามเรื่องของมันสิ ถ้าแบ่งให้มันทำงานตามหน้าที่ของมันแล้ว มันจะ มีอะไรมาแย้งกัน มันไม่ได้ขัดขวางกันเลย อันนี้ก็เหมือนกัน สิ่งเหล่านี้มันก็เป็นสมมุติเราก็ให้มันสิ สิ่งเหล่านั้นก็เป็นวิมุตติ เราก็แบ่งมันสิ เราเป็นผู้รู้เฉยๆ เท่านั้นแหละ รู้ไม่ให้มันขัดข้อง รู้แล้วก็ปล่อย วางมันตามธรรมดา เป็นของมันอยู่อย่างนั้น ของทั้งหลายเหล่านี้เป็นอยู่อย่างนั้น ที่เรายึดมั่นว่าอันนี้ของเรา ใครเป็นคนได้ พ่อเราได้ไหม แม่เราได้ไหม ญาติของเราได้ไหม ใครได้ไหม ไม่มีใครได้ พระพุทธองค์จึงบอกให้วางมันเสีย ปล่อยมันเสีย รู้มันเสีย รู้มันโดยที่ว่ายึดแต่อย่าให้มั่น ใช้มันไปในทางที่เป็นประโยชน์ อย่าใช้มันในทางที่เป็นโทษ คือความยึดมั่นถือมั่นที่ทำให้เราเป็นทุกข์
รู้ธรรมะมันต้องรู้อย่างนี้ คือรู้ในแง่ที่มันพ้นทุกข์ ความรู้นี้เป็นสิ่งสำคัญ รู้เครื่องยนต์กลไก รู้อะไรสารพัดอย่างก็ดีอยู่ แต่ว่ามันไม่เลิศ ธรรมะก็ต้องรู้อย่างนี้เห็นอย่างนี้ ไม่ต้องรู้อะไรมากหรอกให้รู้เท่านี้ก็พอ สำหรับผู้ประพฤติปฏิบัติรู้แล้วก็วาง ไม่ใช่ว่าตายแล้วจึงจะไม่มีทุกข์นะ มันไม่มีทุกข์ในเมื่อยังมีชีวิตอยู่ เพราะมันรู้จักแก้ปัญหามันรู้จักสมมุติวิมุตตินี้เมื่อเรามีชีวิตอยู่ เมื่อเราประพฤติปฏิบัตินี่เองไม่ใช่เอา ที่อื่นหรอก ดังนั้นท่านอย่าไปยึดมั่นถือมั่นอะไรมาก ยึดอย่าให้มันมั่น บางทีจะคิดว่า "ท่านอาจารย์ทำไมจึงพูดอย่างนี้ สอนอย่างนี้" จะไม่ให้สอนอย่างไร ไม่ให้พูดอย่างไร เพราะว่ามันแน่นอนอย่างนั้น มันจริงอย่างนั้น จริงก็อย่าไปยึดมั่นมันซิ ถ้าไปยึดมั่นมันก็เป็นไม่จริงเท่านั้นแหละ เหมือนสุนัขไปจับขามันดูซิ จับมันไม่วางเดี๋ยวมันก็วุ่นมากัด ลองๆดูซิสัตว์ทั้งปวงก็เหมือนกัน เช่น งูไปยึดหางมันซิ ยึดไม่ปล่อยวาง เดี๋ยวมันก็กัดเราเท่านั้นแหละ
สมมุตินี้ก็เหมือนกัน ให้ทำตามสมมุติ สมมุตินี้เป็นของใช้เพื่อให้มันสะดวก เมื่อเรามีชีวิตอยู่นี้ไม่ใช่เรื่องจะต้องยึดมั่นถือมั่นจนมันเกิดทุกข์ทรมาน แล้วก็แล้วไปเท่านั้น อะไรที่เราเข้าใจว่าถูก แล้วก็ยึดมั่นถือมั่นไม่แบ่งใคร นั่นแหละคือมันเห็นผิดแล้ว เป็นมิจฉาทิฏฐิแล้ว เมื่อทุกข์เกิดขึ้นมาปุ๊บ มันเกิดมาจากอะไร เหตุมันก็คือมิจฉาทิฏฐิ มันจึงให้ผลเป็นทุกข์ ถ้ามันถูก ผลที่จะเกิดขึ้นมาจะไม่เป็นทุกข์ ท่านไม่ให้แบก ไม่ให้ยึด ไม่ให้มั่น ถูกก็เป็นของสมมุติ แล้วก็แล้วไป ผิดก็เป็นของสมมุติ แล้วก็แล้วไปเท่านั้น ถ้าเราเห็นว่าถูกแล้วคนอื่นมาแย้งก็อย่าไปถือมัน ปล่อยไป ไม่ได้เสียหายอะไร มันไปตามเรื่องตามเหตุ ตามปัจจัยของมันอย่างเก่า พอรู้แล้วก็ปล่อยมันไปตรงนั้นเลย
แต่โดยมากมันไม่ใช่อย่างนั้น คนเรามันไม่ค่อยยอมกันอย่างนั้นผู้ปฏิบัติเรายังไม่รู้ตัวยังไม่รู้จิตใจของตน พอพูดอะไรจนคนอื่นว่ามันโง่เต็มที่แล้ว ก็ยังนึกว่ามันฉลาดอยู่นั่นแหละ พูดสิ่งที่มันโง่จนคนอื่นฟังไม่ได้ แต่ก็นึกว่าเราฉลาดกว่าคนอื่น คนอื่นทนฟังไม่ได้ก็ยังว่าเราดีเราถูกอยู่นั่นแหละ มันขายความโง่ของตัวเองโดยไม่รู้เรื่อง
ปราชญ์ทั้งหลายท่านบอกว่า คำพูดอันใดวาจาอันใดที่ปราศจากอนิจจังแล้ว คำพูดนั้นไม่ใช่คำพูดของนักปราชญ์เป็นคำพูดที่โง่ เป็นคำพูดที่หลง เป็นคำพูดที่ไม่รู้จักว่าทุกข์จะเกิดตรงนั้น พูดง่ายๆให้เห็นเช่นพรุ่งนี้เราตั้งใจว่าจะไปกรุงเทพฯ แล้วมีคนมาถามว่า
"พรุ่งนี้ท่านจะไปกรุงเทพฯหรือเปล่า" "คิดว่าจะไปกรุงเทพฯ ถ้าไม่มีอุปสรรคขัดข้องก็คงจะไป" นี่เรียกว่าพูดอิงธรรมะ อิงอนิจจัง อิงความจริง อิงความไม่เที่ยง แปรเปลี่ยนตามปัจจัยของมัน ไม่ใช่ว่า "พรุ่งนี้ฉันจะไปแน่" "ถ้าไม่ไปจริงจะให้ทำอย่างไร จะยอมให้ฆ่าให้แกงไหม" อะไรอย่างนี้ พูดกันบ้าๆบอๆ
มันยังเหลืออยู่มากเหมือนกัน การปฏิบัติธรรมะมันลึกซึ้งไปจนเรามองไม่เห็น ที่เรานึกว่าเราพูดถูก แต่มันจะผิดไปทุกคำ ผิดจากหลักความจริงทุกคำ แต่ก็นึกว่าเราพูดถูกไปทุกคำ พูดง่ายๆ เราพูดอะไรบ้าง ทำอะไรบ้าง อันที่มันเป็นเหตุให้ทุกข์เกิด นั่นแหละเรียกว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ เรียกว่าคนหลง คนโง่
โดยมากนักปฏิบัติเราไม่ค่อยจะทบทวนอย่างนี้ เห็นว่าเราดีก็ดีเรื่อยๆไป เช่นเราได้อันหนึ่งขึ้นมา จะเป็นลาภก็ดี ยศก็ดี สรรเสริญก็ดี ก็นึกว่ามันดี ดีตลอดกาลตลอดเวลา แล้วก็ถือเนื้อถือตัวขึ้นมาไม่รู้จักว่าเรานี้คือใคร ที่มันดี มันเกิดจากอะไร เดินไปพบ นาย ก.นาย ข. เหมือนกันหรือไม่ อย่างนี้ พระพุทธองค์ท่านให้วางเป็นปกติอย่างนี้ ถ้าเราไม่สับ เราไม่ขบ ไม่เคี้ยว ไม่ปฏิบัติค้นคว้าอันนี้ ก็เรียกว่ายังจมอยู่ จมอยู่ในใจของเรานั่นแหละ เรียกว่าติดลาภบ้างติดยศบ้าง ติดสรรเสริญบ้าง ก็เปลี่ยนเป็นคนอื่น เพราะสำคัญว่าตัวเรานี้ดีขึ้นแล้ว สำคัญว่าเราเลิศขึ้นแล้ว สำคัญว่าเราเป็นโน่นเป็นนี่แล้วก็เกิดอะไรต่ออะไรขึ้นมาวุ่นวาย
ความเป็นจริงมันไม่เป็นอะไรหรอกคนเรา เป็นก็เป็นด้วยสมมุติถ้าถอนสมมุติไปเป็นวิมุตติ มันก็ไม่เป็นอะไร เป็นสามัญลักษณะ มีลักษณะเสมอกัน ความเกิดขึ้นเบื้องต้น มีความแปรไปเป็นท่ามกลางแล้วก็ดับไปที่สุด มันก็แค่นั้น เห็นสภาพมันเป็นอย่างนั้นแล้ว มันก็ไม่มีอะไรจะเกิดขึ้นมาถ้าเราเข้าใจเช่นนั้นแล้ว มันก็สบาย มันก็สงบ ที่มันไม่สงบก็เหมือนกับพระปัญจวัคคีย์ประพฤติตามที่ครูบาอาจารย์ท่านสอน เมื่อท่านพลิกไปอย่างนั้นก็ไม่รู้ว่าท่านคิดอะไร ท่านทำอะไรก็เลยหาว่าท่านคลายความเพียรเวียนมาหาความมักมาก ถ้าตัวเราเป็นเช่นนั้น ก็คงจะคิดอย่างนั้น คงจะเป็นอย่างนั้นเหมือนกัน ไม่มีทางแก้ไข แต่ความเป็นจริงแล้วพระพุทธเจ้าท่านเดินขั้นสูงขึ้นไปอีกจากพวกเรา เรายังถือตัวอย่างเก่า คิดไปในทางต่ำ ก็นึกว่าเราคิดอยู่ในทางสูง เห็นพระพุทธเจ้าก็คิดว่า ท่านคลายความเพียรเวียนมาหาความมักมากแล้ว เหมือนกับปัญจวัคคีย์ ปฏิบัติกี่พรรษาคิดดูซิ ขนาดนั้นก็ยังหลงอยู่ ยังไม่ถนัด
ท่านจึงให้ทำงานและให้ตรวจผลงานของตน คือที่มันไม่ยอมเรื่องที่มันไม่ยอม เรื่องที่มันยอม มันก็สลายตัวไปเท่านั้นแหละ ไม่มีอะไร ถ้ามันไม่ยอมมันไม่สลาย มันตั้งตัวขึ้นมาเป็นก้อน เป็นตัวอุปาทาน มันไม่มีการแบ่งเบา นักบวชนักพรตเราโดยมากก็ชอบเป็นอย่างนั้น ถ้าติดอยู่ในแง่ไหนก็ดึงอยู่แง่นั้นแหละ ไม่เปลี่ยนแปลงไม่พินิจพิจารณาเห็นว่าเราถูกแล้วก็เห็นว่าเราไม่ผิด แต่ความเป็นจริงความผิดมันฝังอยู่ในความถูก แต่เราไม่รู้จัก เป็นอย่างไรล่ะ "อันนี้แหละถูกแล้ว" แต่คนอื่นว่ามันไม่ถูก ก็ไม่ยอม เถียงกัน นี่อะไรทิฏฐิมานะ ทิฏฐิคือความเห็น มานะคือความยึดไว้ถือไว้ ถ้าเรายึดในสิ่งที่ถูกไม่ปล่อยให้ใครเลยก็เรียกว่ามันผิด ถือถูกนั่นแหละ ยึดมั่นถือมั่นในความถูก มันเป็นขึ้นเดี๋ยวนี้แหละ ไม่เป็นการปล่อยวาง
สิ่งอันนี้เป็นเหตุที่ทำให้คนเราไม่ค่อยสบาย นอกจากผู้ประพฤติปฏิบัติที่เห็นว่า แง่นี้ปุ่มนี้เป็นปุ่มที่สำคัญ ท่านจะจดไว้ พอพูดไปถึงปุ่มนั้นปั๊บ มันจะวิ่งขึ้นมาทันทีเลย ความยึดมั่นถือมั่นวิ่งขึ้นมาอาจจะเป็นอยู่นาน บางทีวันหนึ่ง สองวัน สามเดือนสี่เดือน ถึงปีก็ได้ขนาดช้านะ แต่ขนาดเร็วความปล่อยวางมันจะวิ่งเข้ามาสกัดหน้าเลย คือพอความยึดเกิดขึ้นปุ๊บก็จะมีการปล่อย บังคับให้วางในเวลานั้นเลย จะต้องเห็นสองอย่างนี้พร้อมกันประสานงานกัน ตัวยึดก็มี ผู้ที่ห้ามความยึดนั้นก็มี เราดูสองอย่างนี้เท่านั้นแหละ ไปแก้ปัญหาอันนี้ บางทีมันก็ยึดไปนานก็ปล่อย พิจารณาเรื่อยไป ทำเรื่อยไป มันก็ค่อยบรรเทาไปน้อยไป ความเห็นถูกมันก็เพิ่มเข้ามา ความเห็นผิดมันก็หายไป ความยึดมั่นถือมั่นมันน้อยลง ความไม่ยึดมั่นถือมั่นก็เกิดขึ้นมา มันเป็นเรื่องธรรมดา ทุกคนเป็นอย่างนั้น
ฉะนั้นจึงให้พิจารณา แก้ปัญหาได้ในปัจจุบัน บางทีตัวนั้นมันวิ่งขึ้นมา ตัวนี้มันก็วิ่งตะครุบเลย หายไปเลย อันนี้เราดูภายในใจของเราหรอก ดูภายในใจของเรา แก้ปัญหาเฉพาะภายในใจของเราเองถ้าเราแก้มันไม่ได้ตรงนี้ เป็นต้น ปุ่มนี้จับไว้ เมื่อมันเกิดอีกที่ไหนก็พิจารณาตรงนั้น พระพุทธองค์ก็ให้เพ่งตรงนี้ให้มากที่สุด