วันนี้เป็นวันธรรมสวนะ หรือที่พวกเราพุทธบริษัททั้งหลายเรียกกันว่าเป็นวันพระ เป็นวันชุมนุมผู้ที่มีศรัทธาและความเลื่อมใสมาประพฤติปฏิบัติธรรมะกัน ฉะนั้นต่อไปนี้จงพากันตั้งใจฟัง การฟังธรรมก็ให้รู้จักความหมายถ้าฟังธรรมไม่รู้จักความหมาย ก็เรียกว่าเป็นการเปล่าประโยชน์ ในการฟังธรรมของพวกเรา ธรรมะที่ฟังเป็นทางมรรคที่ทำให้เป็นสัมมาทิฏฐิพ้นจากมิจฉาทิฏฐิ ไม่มีความเห็นผิด พระบรมครูของเรานั้นท่านให้เดินทางมรรค คือศีล สมาธิ ปัญญา
เรามาวัดในวันพระไม่ใช่ว่าเราต้องการอย่างอื่น เรามาวัดเพราะต้องการธรรมะ เพื่อนำไปประพฤติปฏิบัติ เพราะการมาฟังธรรมะนี้ประโยชน์มากตั้งแต่ต้นจนอวสาน เป็นเครื่องรู้จักทาง และไม่ใช่ทางตามสติกำลังของพวกเรา พระพุทธเจ้าทุกองค์และพระสาวกทุกองค์ ที่ดำเนินตามกันมาก็อาศัยการได้ฟัง เรามาฟังธรรมะเพราะว่าเรายังไม่รู้จัก เราจะรู้จักเพราะการมาฟังธรรมให้รู้ การแสดงธรรมก็คนอื่นนั่นแหละแสดงให้ฟัง ทีนี้มันยังเป็นปัญหาอยู่ว่า ท่านจะแสดงผิดหรือถูกนั้น พวกเราก็ยังไม่รู้จัก เพราะว่าเรายังไม่รู้ ยังไม่รู้ว่าผิดหรือถูกเมื่อเราฟังเราก็ยังไม่รู้ว่าผิดหรือถูก มีผู้อธิบายธรรมะให้เราฟังเราก็ฟังไป แต่ไม่รู้ว่ามันผิดหรือมันถูก เพราะเรายังไม่รู้จัก อันนี้มันก็เป็นปัญหาที่สับสนเรียนแม้กระทั่งตัวของเราเอง ถ้าหากว่าเรารู้แล้วคนอื่นจะพูดผิดหรือถูกเราก็รู้จัก แต่ในเมื่อเรายังไม่รู้ คนอื่นพูดผิดหรือถูกเราก็ยังไม่รู้จักแน่นอน เป็นแต่เพียงสำคัญว่าเห็นว่าจะถูกเท่านั้น เห็นแต่เป็นอย่างนั้นเท่านั้น มันจึงเป็นปัญหาอยู่อย่างนี้เรื่อยไป
ดังนั้นพระภิกษุสามเณร อุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย ผู้แสวงหาโมกขธรรมความพ้นทุกข์ จึงเกิดความสงสัยลังเลอยู่เรื่อยไป สิ่งไหนก็ยังไม่แน่นอน อะไรก็ยังไม่แน่นอน เพราะอะไรถึงไม่รู้แน่นอน ได้ข่าวว่าอาจารย์องค์นั้นชื่อเสียงดีก็ไป ไปฟัง เดี๋ยวก็ได้ข่าวว่าอาจารย์องค์นี้ดีขึ้นอีกก็ไปอีก ไปทุกอาจารย์นั่นแหละ แต่ท่านก็มีความเห็นต่างกันไปคนละอย่าง คนละทาง เราเป็นผู้ฟังก็ลังเลสงสัยว่าอะไรผิดอะไรถูกกันแน่ อย่างนี้เราก็ยังผิดอยู่คือยังติดสินใจไม่ได้ ดังนั้นมันจึงเป็นปัญหาอยู่ตลอดกาลอยู่ตลอดเวลา เมื่อเรายังไม่รู้ถึงที่สุดเมื่อไรเราก็จะต้องเป็นอยู่อย่างนี้ ปัญหามีอยู่ว่า การฟังธรรมนั้นเราควรจะทำอย่างไร จึงจะเป็นไปในทางที่ดี เราจึงควรพูดกันให้ดี ฟังให้ดี แล้วก็คิดให้ดี ฟังไม่ดีคิดไม่ดีมันก็ยิ่งไม่เกิดประโยชน์ ฟังดีคิดดีมันก็เป็นประโยชน์ทั้งสองทาง เป็นปัญหาสับสนอยู่อย่างนี้ พระอริยเจ้าทุกๆองค์จะเป็นผู้มีปัญญามาก หรือน้อยก็ตามก็ได้ตรัสรู้ทั้งนั้น แต่มีปัญญาไม่เท่ากัน เพราะคนเราจะมีปัญญาไม่เหมือนกัน ฟังธรรมอันเดียวกัน กัณฑ์เดียวกัน อาจารย์เดียวกัน แต่ก็ยังไม่รู้เหมือนกันอันนี้ก็เพราะเครื่องรับของเรามันต่างกัน ดังนั้นการฟังธรรมเราควรเก็บหมด ท่านอธิบายมาก็เก็บหมด เก็บไว้แล้วก็อย่าเพิ่งไปเข้าใจว่ามันถูกหมด อย่าเพิ่งไปเข้าใจว่ามันผิดหมด เพราะมันเป็นความคิดหรือความรู้สึกที่มันเกิดขึ้นในใจของเราเท่านั้น หมายความว่าความรู้ตามความเป็นจริงนั้นยังไม่มีในเรา เราถึงเป็นอยู่อย่างนั้น ดังนั้นการตรัสรู้ธรรมะมันถึงเป็นการเนิ่นช้า เพราะเราไม่รู้แน่นอน การไม่รู้แน่นอนนี้เป็นปัญหาที่สับสนเหลือเกิน ทีนี้ถ้าหากว่ามันเป็นปัญหาที่สับสนอย่างนี้เราก็ตกลงใจยังไม่ได้ในเรื่องของความเป็นจริง ดังนั้นเราจึงควรนำเอาอันนี้ไปพิจารณา เพื่อการภาวนานั่นเอง
เมื่อเราฟังไปนั้นก็เป็นเพียงสักแต่ว่าฟัง เราฟังเราก็พอรู้ แต่รู้ยังไม่ถึง มีทั้งการฟัง มีทั้งการรู้ แต่รู้ยังไม่ถึง มันก็ยังมีความสงสัยลังเลอยู่ตลอดเวลา การปฏิบัติของพวกเราทั้งหลาย จึงมีแต่ความลังเลสงสัยอยู่ตลอดกาล เมื่อยังมีการลังเลสงสัยอยู่ มันก็ยังไม่เห็นโทษในสิ่งที่ควรละ เพียงศีลสิบเท่านั้นก็ยังรับไม่ได้ มันก็ยังไม่เป็นประโยชน์การปฏิบัติของพวกเรานั้น ไม่ค่อยจะตั้งใจปฏิบัติให้เห็นตามความเป็นจริงกัน เปรียบเหมือนกับชาวประมงคนหนึ่ง ไปสุ่มปลาในหนองในคลองสุ่มไปๆ ก็มีอยู่ครั้งหนึ่งที่มีความรู้สึกว่ามีสัตว์ตัวหนึ่งเข้าไปติดอยู่ในสุ่มนั้น มันสัมผัสด้วยกายของเรา ทำให้เราพอจะรู้ได้ แต่เมื่อสัมผัสถึงใจเราก็ยังไม่รู้จัก เพียงแต่รู้ว่ามีตัวอะไรอย่างหนึ่งมาปรากฏอยู่ในสุ่มของเขา เขาก็กดสุ่มลงไปให้แน่น เพราะกลัวว่าถ้าเป็นปลาแล้วมันจะหนีออกไปเสีย กดลงไปให้แน่น แล้วก็เอามือล้วงลงไปก็ปะทะกับสัตว์ที่อยู่ในสุ่มนั้น คลำๆดูก็รู้สึกว่าตัวมันยาวๆ จะว่าเป็นงูก็ไม่ใช่ จะว่าเป็นปลาไหลก็ไม่ใช่ สงสัยอยู่อย่างนี้ คนสุ่มปลาคนนั้นก็ไม่สบายใจไม่รู้ว่าจะทิ้งหรือจะเอามันดี อย่างนี้ก็เป็น "วิจิกิจฉา" ยังลังเลสงสัยอยู่อย่างนั้น ทำให้ชาวประมงนั้นลำบากใจ จะทิ้งหรือจะเอาก็ไม่แน่นอน อันนี้เรียก "วิจิกิจฉา" ถ้าจะปล่อยไปก็กลัวว่ามันจะเป็นปลาไหล หรือว่าจะกำเอามันขึ้นมาก็กลัวว่าจะเป็นงู กลัวมันจะกัดเอา มีความลังเลสงสัยอยู่ จึงเรียกว่าเป็นปัญหาสับสน ในที่สุดก็เลยล้วงลงไปจับเอามันชูขึ้นมาอย่างระมัดระวัง พอมันพ้นน้ำขึ้นมาคอลายๆ เป็นแฉกๆ ก็เห็นชัด รู้ชัดเจนว่ามันเป็นงูเท่านั้นแหละ ก็วางปุ๊บลงโดยไม่รู้ตัวเลย ตัวเรานี้มันก็เตือนตัวเอง มันก็รู้สึกของมันเอง มันแก้เองวางเอง
ทางมรรคก็ไม่ต้องคิดเช่นนั้น ง่ายเหลือเกิน เพราะเราเข้าใจ เราคิดได้ว่าถ้ามันกัดแล้วเราจะตาย มันกัดแล้วเราจะเป็นทุกข์ เห็นชัดเจนแล้วเช่นนี้มันก็วางได้ เพราะมันง่าย อันนี้มันทำกันได้ง่าย เราเห็นตัวตนทั้งหลายซึ่งเป็นที่สุดนั้น ถ้าหากว่าเราเห็นขนาดนั้น เห็นโทษมันอย่างนั้น เห็นอันตรายมันอย่างนั้น เราก็ไม่จำเป็นที่จะต้องให้ใครมาพูด หรือมาบอกให้เว้น หรือจ้ำจี้จ้ำไชตัวของเราให้ปล่อยวางความชั่วอันนั้น มันจะปล่อยของมันเอง มันจะรู้มันเอง มันจะเป็นของมันเอง นี่มันเป็นลักษณะอย่างนี้ ถ้าใครเห็นโทษในการกระทำผิดทางกายและทางวาจา หรือทุกอย่างนั้น มันก็ง่ายที่สุด ไม่ใช่ว่ามันยาก จะได้เลิกพูดว่า "แหม! การปฏิบัตินี้มันยากลำบาก" มันยากก็เพราะว่าไม่รู้ตามความเป็นจริง เพราะไม่เห็นตามความเป็นจริง เพราะไม่เห็นโทษในสิ่งทั้งหลายเหล่านั้นตามความเป็นจริง มันถึงลำบาก เกิดปัญหาสับสนในการประพฤติปฏิบัติของพวกเราทั้งหลาย ถ้าเราเห็นชัดเจนเข้าไปจริงๆอย่างชาวประมงคนนั้น จับตัวงูชูพ้นน้ำขึ้นมา เห็นว่าเป็นงูจริงๆ แล้วก็วาง โดยที่ไม่ต้องมีใครไปบังคับบัญชามัน ตัวเราเมื่อเกิดความรู้สึก มันก็ปล่อยวางของมันเองอย่างนั้น นี่เรียกว่ามันง่ายดี คือมันเป็นอย่างนี้ถ้าเราเห็นชัดแจ้ง มันง่ายที่สุด มันไม่ยาก ถ้าเราจะทิ้งขณะที่เรายังไม่เห็นชัด มันก็ลำบาก มันจึงเป็นวิจิกิจฉา มันลังเลสงสัยอยู่อย่างนั้นตลอดกาลตลอดเวลา
การฟังธรรมะให้รู้จักตามความเป็นจริงนั้น ไม่ใช่ว่าเราจะรู้เฉพาะที่ท่านเทศน์ให้ฟังอย่างนี้ รู้ในเวลานี้เป็นการรู้ในสัญญาเท่านั้นท่านพูดไป เราก็ฟังไปพิจารณาไป พิจารณาไปเท่านั้นถ้าเราเชื่อ เชื่อเพราะอะไร? เชื่อเราก็เชื่อผู้อื่น ความเชื่อผู้อื่นนั้น พระพุทธเจ้าท่านไม่สรรเสริญ พระพุทธองค์นั้นสรรเสริญผู้ที่รู้ด้วยตนเอง เป็นสิกขีภูโตเอาตนเองเป็นพยานของตน ฟังธรรมจากพระองค์อื่น ฟังธรรมจากผู้อื่นแล้วรู้ รู้แล้วน้อมเข้ามาเป็นโอปนยิโก มาพิจารณาให้เกิดความรู้เกิดความฉลาดรู้ตามความเป็นจริง เห็นว่ามันเป็นโทษจริงๆอย่างแน่นอนโดยไม่ต้องสงสัย เหมือนชาวประมงคนนั้นรู้จักอสรพิษอย่างแท้จริง อันนี้มันก็ทำให้ปล่อยวางความเชื่อทุกอย่าง ไม่ต้องสงสัยลังเลแล้ว เรียกว่าพ้นวิจิกิจฉา ตัดกระแสของธรรมะอย่างแท้จริง ไม่มีใครจะต้องมาบังคับ ไม่มีใครจะต้องมาจ้ำจี้จ้ำไช ไม่มีใครจะต้องพูดให้ฟังร่ำรี้ร้ำไร คือเข้าถึงธรรมะแล้ว ตัวธรรมะก็เข้าไปถึงใจ ใจก็เข้าไปรู้ตัวธรรมะคือรู้อารมณ์ เมื่อธรรมะเข้าไปถึงใจ ใจนั้นก็รู้จักธรรมะ ธรรมะนั้นก็อยู่ในใจ เมื่อดูใจก็เห็นธรรมะ เมื่อดูธรรมะก็เห็นใจ ทั้งใจ ทั้งธรรมะ เมื่อเราพิจารณาใจเราเมื่อไร เราจะเห็นธรรมะเมื่อนั้น เราพิจารณาธรรมะเมื่อไรเราก็เห็นใจเมื่อนั้น อันนี้เป็นการรู้อย่างแท้จริงที่เกิดจากการประพฤติปฏิบัติด้วยตนเอง
เมื่อความรู้สึกชนิดปรากฏขึ้นกับเราแล้ว จะนั่งอยู่มันก็พูดอยู่พูดอยู่ รู้อยู่ คิดอยู่ ปฏิบัติอยู่ มีสติอยู่ มีความสังวรสำรวมอยู่ทุกคนจะเป็นอย่างนี้ เมื่อฉลาดแล้วจะไปอยู่ที่ไหนก็ตาม ถ้าเอาตัวของตัวเองเป็นพยานแล้ว จะไปทำความชั่วที่ไหนก็ไม่ต้องมีใครบอกหรอกตัวเองก็ไม่กล้าทำด้วย เพราะเข้าใจแล้วว่า ใครทำดีได้ดี ใครทำชั่วได้ชั่ว จะทำดีทำชั่วก็มีผู้ตามรู้ จะไปทำอยู่ที่ไหนแม้จะไม่มีใครรู้ แต่เราก็ต้องรู้ จะไปทำอยู่ในน้ำก็มีคนรู้ ไปทำอยู่บนบกก็มีคนรู้ หรือใครจะไปทำอยู่บนอากาศก็จะต้องมีคนเห็นอยู่รู้อยู่อย่างนั้น อันนั้นเป็นเพราะอะไร? เพราะพระธรรมมันเกิดจากใจ เราปฏิบัติธรรมะทำความเพียรอยู่อย่างนั้นโดยไม่มีการประมาท เป็นผู้สังวร เป็นผู้สำรวม เป็นผู้ระวังอยู่ อันนี้เรียกว่าเป็นผู้ปฏิบัติจนเป็นวงกลมติดต่อกันอยู่
เมื่อบุคคลยังไม่รู้จักตัวเอง ธรรมะไม่เข้าถึงใจ ใจไม่เข้าถึงธรรมะ จะทำความชั่วอะไรก็กลัว กลัวคนอื่นจะเห็น กลัวพ่อแม่จะเห็น กลัวครูบาอาจารย์จะเห็น กลัวคนอื่นจะรู้ คือคนยังไม่เห็นธรรมก็ต้องเป็นอย่างนั้น เมื่อไปในสถานที่ใดๆที่ว่างจากผู้คน ว่างจากพ่อแม่ว่างจากครูบาอาจารย์ เห็นว่าไม่มีเพื่อนมนุษย์ทั้งหลาย ไม่มีใครอยู่ในที่นั้น ก็พยายามทำความชั่วอยู่ที่ตรงนั้น ด้วยความประมาท เพราะความโง่เขลาเบาปัญญานั่นเอง การกระทำเช่นนั้นเขาก็คิดว่าเขาทำถูกแล้ว พ้นภัยแล้ว เพราะว่าไม่มีใครเห็นเขา ไม่มีใครรู้ว่าเขาเป็นเขาอย่างนี้ ก็กระทำอย่างสนิทใจเลย แต่คนคนนั้นในทางธรรมถือว่าเป็นคนโง่ที่สุด คือเป็นคนดูถูกตัวเองที่สุด ความเป็นจริงนั้นเมื่อจิตมันเป็นธรรมะ เมื่อธรรมะเป็นจิต มันจะกลมกลืนเป็นอันเดียวกันเลย จะไปทำผิดอะไรที่ตรงไหนเป็นต้น ก็ต้องมีคนเห็น คนอื่นไม่เห็นเราก็เห็นคนอื่นไม่รู้เราก็รู้ ดังนั้นถึงจะไปอยู่ตรงไหนก็เป็นอยู่อย่างนั้น จึงเป็นธรรมะ ไม่กล้าทำ เพราะใจมันเป็นธรรมะแล้ว พระอริยสาวกทุกๆองค์เมื่อใจเป็นธรรมะแล้วก็ต้องเป็นอย่างนั้นทุกๆองค์ ที่ลับไม่มี ที่แจ้งไม่มี อะไรๆมันก็ไม่มี รู้แต่ว่าท่านประพฤติปฏิบัติถึงที่แล้ว
นี่คือผลที่ได้รับจากการไปฟังธรรมจากคนอื่น แล้วนำมาประพฤติปฏิบัติ น้อมเข้ามาในใจของเราจนเห็นตามความจริงอย่างนั้นคำสอนของผู้อื่นได้เข้าถึงจิตใจของเรา ใจเราจะรู้ธรรมะ ธรรมะก็จะถึงใจเรา ถ้าใครมาเห็นถนัดชัดเจนอย่างนี้ ก็จะพ้นจากความสงสัย อันนี้ก็เท่ากับเราได้รู้จักฐานะที่ควรหรือไม่ควรแล้ว และถูกต้องตามพระธรรมที่ท่านได้ตรัสบอกเอาไว้ว่า สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง การไม่ทำบาปทั้งหลายทั้งปวงนั่นแหละ เอตัง พุทธานะ สาสะนัง อันนี้เป็นคำสอนของพระศาสดา อันนี้เป็นหัวใจของพระศาสนา เมื่อจิตเราเป็นอย่างนั้น อันนี้ไม่ใช่คำพูดเฉยๆ แต่จิตมันเป็นอย่างนั้นจริงๆอะไรที่ขึ้นชื่อว่ามันผิด มันบาป ใจของเรามันจะไม่รับ ไม่รับนั้นเรียกว่า สัพพะปาปัสสะ
ถ้าเราทำอย่างนี้ เราจะเห็นว่า หัวใจพุทธศาสนาคืออะไร เราก็จะเข้าใจว่าอะไรคือการเข้าถึงพุทธศาสนา อะไรคือการเข้าถึงธรรมะเมื่อความชั่วทั้งหลายไม่มีในใจเรา โทษทั้งหลายจึงหมดไป เมื่อโทษทั้งหลายหมดไปความเย็นมันก็เกิดขึ้นมา ใจก็สบาย นั่งอยู่ที่ไหนก็สบาย เดินอยู่ที่ไหนก็สบาย เพราะเรารู้ตัวเราอยู่อย่างนั้น อันนี้เป็นตัวสมาธิแล้ว คือมันสงบ เพราะเรารักษาศีลตัวเดียวเท่านั้นแหละ ให้มันก้าวขึ้นไป มันก็จะเป็นสมาธิเอง กุสะลัสสูปสัมปะทา จิตจะเป็นบุญเป็นกุศลเพราะเราละได้ เมื่อจิตเป็นบุญเป็นกุศล จิตนั้นก็สงบ จิตนั้นก็จะระงับ ถ้าจิตสงบระงับแล้วก็เบิกบานเกิดปัญญา มันจะรู้จักละจิตตะปริโยทะปะนัง รู้จักทำจิตของตนให้ผ่องใส อะไรชั่วเราก็ปล่อยไป อะไรผิดเราก็วางไป อะไรๆต่างๆที่เข้ามาก็จะเอามาพิจารณาแล้วก็วางไป ปล่อยไป คล้ายๆกับน้ำในตุ่มนั่นแหละ ถ้าเราเอาขันไปตักออกมาขันหนึ่ง แล้วก็เททิ้ง ตักออกมาขันที่สองแล้วก็เททิ้ง ตักแล้วก็เททิ้งอยู่อย่างนั้น น้ำที่อยู่ในตุ่มมันก็ต้องมีเวลา มีโอกาสที่จะแห้งหมดไปได้ เพราะจิตเข้าไปปฏิบัติอย่างนั้น
ทีนี้ถ้าหากเรายังไม่เห็นอย่างนั้น มันก็เหมือนตักน้ำใส่ตุ่มแล้วก็ตักออกไป ตักใส่เข้าในตุ่มหนึ่งขัน แล้วก็ตักออกไปหนึ่งขัน ตักเข้าไปเพิ่มหนึ่งขัน แล้วตักออกไปหนึ่งขัน อย่างนี้เรียกว่าบุญๆ บาปๆ ผิดๆถูกๆ ดีๆ ชั่วๆ เราทุกคนทำอย่างนี้ มันถึงเป็นเรื่องยาก เพราะกรรมอันนี้เอง จึงต้องพูดว่า "ฉันนี้มันเป็นเพราะอะไรก็ไม่รู้ บางทีก็สบายๆบางทีก็เป็นทุกข์ บางทีก็สุข บางทีก็ไม่สบาย ไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร?ทำไมถึงจะไม่รู้ ก็เพราะทำเหตุไว้อย่างนั้น ผลมันจึงออกมาเป็นอย่างนี้บางทีก็ตักออกไปเสีย คือการละบาป บางทีก็ตักเพิ่มเข้ามา คือการทำบาป บางทีก็ละบาปออกไป บางทีก็นำบาปเข้ามา เมื่อนำบาปออกไปมันก็สบาย นำบาปเข้ามามันก็เป็นทุกข์ มันก็เป็นอยู่อย่างนี้ "ฉันไม่รู้ว่ามันเป็นอย่างไร บางวันมันก็สบ๊าย สบาย บางครั้งมันก็เป็นทุกข์เป็นร้อน ก็ไม่รู้ว่ามันเป็นเพราะอะไร?" ทำไมมันถึงจะไม่รู้ นี่แหละคือคนไม่รู้จักการภาวนา มันก็ไม่มีปัญญา
เพราะเราทั้งหลายทำอยู่อย่างนั้น เหตุมันเป็นอย่างนั้น ผลมันจึงเกิดเป็นอย่างนั้น เราเป็นคนไม่มีปัญญา ถ้ามีปัญญาเมื่อเห็นผลอันนี้ขึ้นมาแล้ว เราก็พิจารณาไปถึงเหตุว่ามันเกิดมาจากอะไร มันจึงเป็นอย่างนี้ คือเห็นเหตุมันก็เห็นผล เห็นผลแล้วก็เห็นเหตุ เหมือนคนจับไม้ยาวประมาณ ๒ เมตรขึ้นมาวัดดู โดยใช้มือกำมาจากทางปลายไม้กำมาๆเรื่อยๆ ไปจนถึงทางด้านต้นไม้ ก็จะรู้ว่าไม้นั้นยาวเท่าไร อีกคนหนึ่งมาจับทางต้นไม้ จับกำมาๆจนถึงทางด้านปลายไม้ ก็จะรู้ว่าไม้นั้นมันสั้นมันยาวเท่ากันนั่นแหละ ต่างกันแต่คนหนึ่งวัดจากต้นไม้ไปหาปลาย อีกคนหนึ่งวัดจากปลายไปหาต้น มันก็ท่อนไม้ท่อนเดียวกันนั่นเอง ความสั้นความยาวมันก็เสมอกันเท่ากันอยู่นั่นแหละอันนี้ก็เหมือนกันฉันนั้น ถ้าเรารู้จักพิจารณาเหตุผล เมื่อเห็นผลมันเกิดขึ้นมาเป็นอย่างนี้ เราก็จะรู้ว่าเพราะอะไรมันถึงเป็นอย่างนี้ เพราะเหตุมันเป็นอย่างนี้ ผลมันจึงเกิดอย่างนั้น เมื่อเราทำเหตุอย่างนี้ เราก็รู้จักว่าผลมันจะเกิดอย่างไร เราทำเหตุอย่างไร ผลมันก็เกิดอย่างนั้น ผลมันเกิดอย่างไรเหตุมันก็เป็นอย่างนั้นอันนี้เราจะพิสูจน์ด้วย กาลเวลา
ผู้ประพฤติปฏิบัติเมื่อเห็นความรู้แจ้งชัดอย่างนี้ มันก็เบากายสบายใจ รู้แบบที่ว่าเรามองเห็นธรรมะโดยที่ไม่จำเป็นจะต้องมาทนทุกข์ทรมาน เพราะผลมันชัดแจ้ง ถ้าหากเห็นว่ามันสุขเป็นบางครั้งเป็นบางคราว ก็จะรู้ว่าอย่างนี้มันเป็นไปได้ยังไง เป็นเพราะการกระทำของเรา การกระทำของเรานั่นแหละคือกรรม ถ้าไม่อย่างนั้นก็โยนให้คนโน้นคนนี้มันก็ลำบาก ไม่มีใครยอมรับ ถ้าไม่มีใครยอมรับก็โยนให้กรรมเสีย อย่างเช่นเกิดเป็นโรคขึ้นมา ไปรักษาที่โรงพยาบาลก็ไม่หายจะไปเอาอะไรกับหมออีก ยาก็หมดแล้วจะทำอย่างไร เราก็คิดเสียว่าโยนให้กรรมเสีย อันเจ้าของกายก็เป็นของสมมติเท่านั้นเอง อันนี้ก็เหมือนกันฉันนั้น โยนให้กรรมแล้วมันก็หมดเท่านั้นแหละ มันจะไปตรงไหนล่ะ มันสุดอยู่ตรงนั้น ต้องไปคิดอะไรให้มันมากมาย เรื่องของการปฏิบัติมันจะต้องเป็นดังนี้
สำหรับการปฏิบัติภาวนาของเราทุกวันนี้ คนเรานั้นมันอยากจะรู้ง่าย อยากเห็นง่าย จึงคิดว่ามันปฏิบัติยาก ที่มันปฏิบัติยาก เพราะเราไม่มีการละ ฉะนั้นการสร้างบุญกุศล การประพฤติปฏิบัตินี้ อาตมาเห็นว่า การทำบุญทำกุศลกันนี้ใครๆก็ทำกันได้ และก็ไปทำกันเป็นส่วนมาก แต่ว่าการละบาปนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมากกว่าการทำบุญ แต่คนไม่ค่อยจะเอาใจใส่ ไม่ค่อยจะรู้เรื่องของมัน การละบาป คือการตัดราก การทำบุญ คือการเด็ดยอด เด็ดเอายอดไปใช้ เด็ดเอายอดไปกิน มันก็แตกยอดขึ้นมา แตกใบขึ้นมาอีก แตกขึ้นมาเรื่อยๆตราบใดที่รากมันยังอยู่ มันก็ยังได้กินอาหารอยู่ ยังมีอาหารหล่อเลี้ยงอยู่ ยอดมันก็เจริญเติบโตขึ้นมาอีก ก็เด็ดมันอีก ก็โผล่ขึ้นมาอีกอย่างนั้น ความลำบากทั้งหลายมันมีอยู่นี่ ก็เพราะอะไร ก็เพราะว่ารากมันยังอยู่ คือการกระทำบาปมันยังอยู่ ดังนั้นการละบาป และการบำเพ็ญบุญจึงเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ที่ท่านกล่าวว่า "การไม่กระทำบาปทั้งปวง" นั่นแหละเป็นหัวใจของพุทธศาสนาแล้ว เมื่อเราละบาปแล้วบำเพ็ญบุญเพิ่มเข้ามาทีละน้อย ก็มีหวังที่บารมีจะเต็มได้ถ้าหากว่าทำบุญแต่ไม่หยุดทำบาป อันนี้ก็ไม่มีเวลาจบ เหมือนกะละมังที่ตั้งหงายอยู่กลางแจ้ง ถึงแม้ฝนจะตกลงมาใส่ทีละหยดๆ มันก็มีโอกาสที่จะเต็มได้ เมื่อเราทำบุญแล้ว เรายังไม่ได้ละบาป ก็เหมือนกับเราเอากะละมังไปครอบคว่ำไว้กลางแจ้ง ฝนตกลงมาถูกก้นกะละมังเหมือนกัน แต่ว่ามันถูกข้างนอกไม่ได้ถูกข้างใน เมื่อมันถูกข้างนอกน้ำก็ไม่มีโอกาสที่จะเต็มในกะละมังนั้นได้ อันนี้เรียกว่า "ทำบุญไม่ละบาป"
ดังนั้นการละบาปจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ อันนี้พระพุทธองค์ท่านก็ตรัสว่า "สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง" การไม่กระทำบาปทั้งปวงนั้นแหละเป็นหัวใจของพุทธศาสนา นั่นเป็นเบื้องต้น ต่อไปๆมันก็มีเวลาหมด หมดไปเหมือนกับเราเดินไปทีละก้าวๆ หลายๆก้าวเข้า ระยะทางมันก็สั้นเข้ามาๆ ถ้าเราไม่ทำอย่างนี้ คือเดินไปก้าวหนึ่งก็ถอยกลับมาก้าวหนึ่ง เดินไปอีกก้าวหนึ่งแล้วก็ถอยกลับมาอีกก้าวหนึ่ง มันก็จะไปไม่พ้นจากศาลาได้ คือเทียบเอาจากศาลานี้ก็ได้ ถึงแม้เราจะก้าวไปอย่างช้าๆ แต่เราก้าวไปเรื่อยๆ เราก็ยังมีโอกาสที่จะพ้นประตูวัดออกไปได้ มันต่างกันอย่างนี้ ฉะนั้นการละบาปนี้ ท่านบอกว่า ไม่ให้กระทำบาป แล้วก็บำเพ็ญบุญปิดช่องมันเสีย เช่น หม้อมันรั่ว ปิดช่องที่มันรั่ว แล้วจึงเทน้ำใส่ กระทะมันรั่วก็อุดรูรั่วมันเสีย แล้วจึงเทน้ำใส่เรียกว่า ก้นกระทะไม่ดี ก้นหม้อไม่ดี การละบาปของเรายังไม่ดีทำบุญลงไปใส่มันก็รั่ว ก้นกระทะ ก้นกระถางไม่ดี เทน้ำใส่ลงไปมันก็รั่วออกไปหมด จะเทใส่ลงไปทั้งวันมันก็ซึมรั่วออกไปทีละน้อย น้ำก็เหือดแห้งหมดไป ไม่สำเร็จประโยชน์สมความต้องการของเราได้
ดังนั้นหัวใจของพุทธศาสนาคือการกระทำอย่างนี้ คือความเป็นจริงอย่างนี้ คือการละบาปอย่างนี้ คือการบำเพ็ญบุญอย่างนี้ อันนี้มีทางจบที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ธรรมสามอย่างนี้คือละบาปกับการบำเพ็ญบุญ การสมาทานศีลนี้ ก็คือการละบาปนั่นเองไม่ใช่อื่นไกลพวกเราทั้งหลายชาววัดหนองป่าพง จะรู้ถึงความจริงแล้วหรือเปล่าก็ไม่รู้ ศีลและอำนาจของศีล สีเลนะ สุคะติง ยันติ สีเลนะโภคะสัมปะทา สีเลนะ แปลว่าโดยปกติ โดยปกติกาย ปกติวาจาปกติใจ ไม่ฝ่าฝืนอะไรต่างๆ เป็นศีลที่ปกติ เป็นศีลเดิม เป็นของเดิมเป็นของเก่า เป็นคำเก่า เป็นของที่ยังสะอาด เป็นของที่ไม่เศร้าหมองเป็นของที่ยังไม่สกปรก เรียกว่า "ปกติ" ของใหม่ๆมันก็ปกติ คือว่ามันยังไม่เก่า ไม่เสื่อม ไม่ผิด อันนี้ท่านเรียกว่าปกติ ปกติของเดิมของเก่า อย่างน้ำที่ใสสะอาดนี้ เดิมเป็นของปกติ แต่เมื่อนำเอาสีแดงสีเหลืองมาใส่มันก็ผิดปกติ คือความสะอาดกาย สะอาดใจ สะอาดวาจา สะอาดตา เป็นของที่สะอาดอยู่เป็นปกติ ดังนั้นศีลนั้นเป็นปกติคือศีลเดิม อย่างที่เรียกว่าจิตเดิม จิตที่ไม่มีอะไร จิตไม่เป็นอะไร จิตเป็นปกติ คือจิตมันว่างๆอยู่อย่างนั้น
เรื่องการรักษาศีลนี้ บางคนก็บ่นว่า จะให้ทานกันสักทีก็หาพระที่จะไปให้ศีลก็ไม่มี ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร บางทีให้ทานแล้ว ไปหาน้ำที่จะมากรวดอุทิศให้ก็ไม่มี เลยโง่อยู่ตลอดเวลา เลยโง่เรื่องศีล โง่เรื่องทาน โง่จนตาก็บอด หูก็หนวก ขาก็เป๋ทั้งหมด เสียหมดเลย ศีลนี้เป็น "สัมปัตตวิรัติ" อย่างนี้เป็นศีลให้เรารู้จักมัน ที่เราทำกันมาเป็นปีๆ เป็น "สมาทานวิรัติ" ต้องให้พระบอกความจริง คนที่ให้คนอื่นบอกนั้นคือคนไม่รู้จัก ฉันไม่รู้ว่าศีลนั้นน่ะเป็นอย่างไร? พวกดิฉันทั้งหลายนี่ พวกกระผมทั้งหลายนี่จึงได้กล่าวขอขึ้นว่า มะยัง ภันเตติสะระเณนะ สะหะ อัฏฐะ...ฯลฯ พวกข้าพเจ้าทั้งหลายนี้ยังไม่รู้จักอันนี้เลยเป็นข้อวัตรของพระภิกษุ เมื่อบวชเข้ามาและจะต้องกระทำต่อๆไป ความเป็นจริงนั้นเป็นสัมปัตตวิรัติ งดเว้นด้วยตนเอง เมื่อเรารู้แล้ว เมื่อเรารู้แล้วว่าศีลนั้นมันเป็นอย่างนั้นๆ เมื่อเราต้องการศีลเมื่อไรเราก็มีอยู่แล้ว งดเว้นด้วยตนเองก็ได้ ไม่ต้องมีใครมาบอก นี่คือสัมปัตตวิรัติ
อย่างเรามาทำกันวันนี้เรียกว่าเป็น "สมาทานวิรัติ" คือเรายังไม่รู้จัก จึงต้องให้พระบอก บอกขนาดนั้นก็ยังไม่รู้จักนะ ต้องบอกเป็นภาษามคธด้วยนะก็ยังไม่รู้จักอีก บอกแล้วก็ยังไม่รู้จัก นี่ความเป็นจริงมันเป็นอย่างนี้ แต่ถ้าเป็น "สมุจเฉทวิรัติ" ไม่ต้องสมาทานกับใครไม่ต้องขอกับใคร เพราะมันเป็นของมันเองแล้ว คือมันเป็นของที่ขาวสะอาดแล้ว ไม่ต้องทำสะอาดอีก จะไปทำสะอาดที่ไหนอีกล่ะ ก็เพราะตรงนั้นมันสะอาดแล้วไม่ต้องไปทำสะอาดอีก คือหมายความว่าจิตของพระอริยบุคคล ศีลของพระอริยเจ้าไม่ต้องไปรับไม่ต้องไปส่ง มันเป็นอยู่อย่างนั้น ไม่ต้องขัดอะไรอีก เพราะมันสะอาดอยู่แล้ว เป็นสมุจเฉทคือตัดไปเลย ขึ้นชื่อว่าการกระทำบาปทั้งหลายทั้งปวงแล้วเราไม่ทำเลยดังนั้นท่านจึงไม่มีเจตนาที่จะไปกระทำบาป เรื่องกระทำบาปเมื่อไรก็ไม่เป็นบาป อย่างเช่นท่านเดินไป บังเอิญไปเหยียบสัตว์ตาย เหยียบปูตาย เหยียบมดตาย อย่างนี้ตัวท่านก็ไม่เป็นบาป เพราะเจตนาที่จะกระทำบาปนั้นไม่มี มันเป็นไปอย่างนี้ อันนั้นเป็นสมุจเฉทวิรัติ ตัดไปเลย ไม่ต้องทำอะไรอีกแล้ว รักษาจิตอันเดียวเท่านั้นแหละ ไม่ต้องดูอื่นไกลแล้ว สมมติว่าเกิดมีอะไรขึ้นมาก็มีผู้รับผู้รู้ ใครเป็นคนที่รับรู้?คนที่เป็นผู้รับรู้นั้นเราเรียกว่า "จิต" ของเรา
ความเป็นจริงแล้ว จิตของปุถุชนเรานี้ ก็เป็นจิตที่มีการกำหนดรู้ตัวของตัวเองเหมือนกัน แต่ยังเป็นจิตที่ยังไม่ได้อบรม เป็นจิตที่ยังไม่บริสุทธิ์ เป็นจิตที่ยังต้องอบรม ต้องประพฤติปฏิบัติอีก
ฉะนั้นการภาวนาท่านจึงสอนให้กำหนดพุทโธๆ เพื่อให้เกิดพุทโธ ให้เกิดความรู้ชั้นที่สองขึ้นมาชัดเจนขึ้นไปอีก เมื่อเจ้าของจิตเอาความรู้จากพระบรมครู คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ท่านได้ตรัสรู้แจ้ง รู้แล้วก็ตื่น รู้แล้วก็เบิกบาน ความรู้อันนี้มันจะเกิดขึ้นไปอีกชั้นหนึ่งเหนือกว่าจิตของเรา ความรู้อันนี้ที่มาจากการกำหนดพุทโธๆนี้ ตัวนี้แหละจะเป็นความรู้แจ้ง รู้เลิศ รู้ประเสริฐ ที่จะแนะนำพร่ำสอนจิตของเรา ซึ่งยังเป็นผู้รู้ที่ยังไม่ได้อบรมนั้น คือเรารู้อย่างไรก็เป็นไปตามอย่างนั้น ตามภาษาบ้านนอกเราเรียกว่า เป็นไปตามอารมณ์ ยายของฉันชอบตามอารมณ์ สามีของฉันชอบตามอารมณ์ ภรรยาของฉันชอบตามอารมณ์ เป็นผู้รู้อยู่แต่ก็ยังหลงอยู่ ผู้รู้คนนี้เรียกว่าผู้รู้ยังไม่ได้อบรม ผู้รู้ยังไม่ได้ฝึก รู้ตัวนี้จะเอาเป็นประมาณไม่ได้
ฉะนั้นจึงนำคำสอนของพระพุทธเจ้าขึ้นมาภาวนา คือสมมติ"พุทโธ" ๆ ให้มันรู้ขึ้นไปกว่านี้ รู้ให้มันเหนือ เหนือความรู้สึกอันเดิมนี้เหนือรู้ในจิตอันเดิมนี้ขึ้นไปอีก จนมีอำนาจสูงกว่า สูงกว่าจิตเดิมของเรานี้ จึงจะเป็นเหตุที่ทำให้รู้จิตอันนี้ สั่งสอนจิตอันนี้ ผู้รู้อันเก่านี้ได้อบรมตามที่ท่านสั่งสอนไว้ว่า ภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงตามดูจิตของตน ใครตามดูจิตของตน คนนั้นจะพ้นจากบ่วงของมาร ก็ใครล่ะ จะไปตามดูจิตของตนน่ะ ความรู้อันนี้แหละที่เรียกว่า "พุทโธ" ผู้รู้ผู้ตื่นฉะนั้นเรื่องการฟังธรรมะมันก็ยุ่งยาก ผู้เบิกบาน นี่แหละเป็นผู้ตามดูจิต รู้คนเก่านั้น มันเป็นการรับรู้เฉยๆ รู้ไม่ตื่น รู้ไม่แจ้ง และก็ไม่เบิกบาน ดังนั้นเราจึงน้อมเอาคำสอนนำ เอาพระนามของพระพุทธเจ้านี้มากำหนด เป็นอารมณ์ เรียกว่า"พุทโธ" ๆ นี่มันเป็นไปอย่างนี้
สับสน สำหรับพวกเราที่ยังไม่รู้จักตามความเป็นจริง ถ้ารู้จักตามความเป็นจริงแล้ว เราจะนั่งอยู่ใต้ต้นไม้ต้นไหนก็ได้ฟังธรรมะ ก็เพราะธรรมะนั้นมันอยู่ในใจของเรานี่ เราเก็บความรู้เช่นนี้ พระพุทธเจ้าก็อยู่ในตัวของเราแล้ว เป็นหลักธรรมที่ว่า พระพุทธเจ้าอยู่ที่ใจของท่าน พระธรรมอยู่ที่ใจของท่านพระสงฆ์อยู่ที่ใจของท่าน ถ้าเป็นดังนั้นก็เรียกว่า ท่านผู้นั้นเข้าถึงพระรัตนตรัย คือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แล้ว คนคนนั้นเมื่อถึงกาลดับสลายวายชนม์ไปแล้ว ก็จะไม่ตกนรก ยืนยันได้ทีเดียวว่าไม่ตกนรก ทำไมจึงไม่ตกนรก? เพราะในเมื่อปัจจุบันนี้ยังไม่ทำให้มันตกนรกแล้ว ใครจะไปตกนรกที่ไหนเมื่อไรอีกล่ะ ในเมื่อปัจจุบันนี้เรายังทำผิดไม่ได้ ทำไมมันจะผิดได้อีกล่ะ ที่ตกนรกก็เพราะไปทำความผิด สัตว์ตกนรกก็คือคนเป็นทุกข์ คนผู้ทำผิดนั้นคือสัตว์นรก นี่เราเห็นกันง่ายๆอย่างนี้ เห็นในปัจจุบันแล้วมันก็เห็นอนาคตด้วย นี่เรียกว่าเหตุมันมีอยู่ตรงนี้