พวกเราถ้าพิจารณาดูแล้ว ก็จะเห็นว่าเป็นความจริงของท่านหมดทุกอย่าง ให้พยายามดูตัวเราที่ได้ผ่านพ้นมา เรามอง ย้อนกลับคืนไปดูข้างหลัง ดูซิ...ว่าชาตินี้เราเป็นอย่างไร มองดูด้วยญาณว่าชาตินี้เราเป็นอย่างไร พูดง่ายๆ คือคนเราเกิดมาในโลกนี้ มีอายุได้เจ็ดสิบแปดสิบปีอย่างนี้ มองย้อนกลับไปดูข้างหลังว่า สมัยเป็นเด็กมันได้ผ่านอะไรมาบ้าง อันนี้ก็พอจะเทียบเคียงกันได้ การประพฤติปฏิบัติของเราก็เหมือนกัน พยายามตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติทำมา ก่อนจะผ่านพ้นมาได้ถึงขนาดนี้เรามองย้อนหลังดูซิ ว่ามันไปถึงแค่ไหนกัน ทีนี้มามองดูพุทธบริษัทเราทั้งหลายที่เป็นพระเณรอุบา กอุบาสิกาส มองดูแล้วมันไกลกันมาก พวกเรา ทุกท่านได้ตั้งหน้าตั้งตามาบวชปฏิบัติอย่างนี้มันยังละไม่ได้ ทำไมมันจึงเป็นอย่างนั้น กามะสุขัลลิกานุโยโค อัตตะกิละมะถานุโยโค พวกเรารู้อยู่แต่ว่ารู้ไม่ถึงที่สุดของมัน รู้ไม่ถึงก็จึงสอนยาก แต่ก็ยังไม่รู้จักตัวเอง เราเป็นผู้สอนรู้แล้วว่าเป็นคนสอนยากสอนลำบากมากที่สุด
ฉะนั้นเราเลี้ยงพระเณรมา จะสอนให้เห็นธรรมะไม่ใช่ ของง่าย โยมเลี้ยงลูกอยู่ที่บ้านไม่ใช่เป็นเรื่องยากเลย เอาข้าว เอาปลาให้มันกินก็ได้ ไม่นานเด็กมันก็โตขึ้นมาเอง พระพุทธองค์เลี้ยงลูกศิษย์ทั้งหลาย ไม่ใช่จะเอาข้าวเอาปลาให้กินนะ ท่านจะป้อนข้าวด้วยธรรมะ เพราะพวกเราไม่รู้จักธรรมะ เลี้ยงเด็กทุกวันนี้เอาข้าวเอาปลาให้กิน เด็กมันก็กินเพราะมันคิดว่าเป็นอาหารที่เอร็ดอร่อย เช่นพวกเราที่มีศรัทธาเข้ามาบวชแล้ว ไม่ต้องการธรรมะ ไม่อยากรับธรรมะ เห็นธรรมะเป็นปฏิปักษ์เสียด้วย ถ้าเป็นอย่างนั้น จำเป็นที่จะต้องพูดสอนว่ากันด้วยกฎระเบียบ มีข้อพระวินัยมาอ่านให้ฟัง จะต้องมีการตั้งข้อกติกา เป็นการบังคับให้ทำอย่างนี้ ปฏิบัติเพราะการถูกบังคับ บังคับอย่างพวก เซนก็ดีหมือนกัน ใช้การบังคับแต่เขาก็ยอม พวกเรานี้ทั้งบังคับทั้งไม่ยอม สำหรับพวกเซนเขายอมอาจารย์ทุกอย่าง เช่น เวลานั่ง สมาธิ ถ้านั่งตัวไม่ตรง นั่งสัปหงกไม่ได้เลย พวกอาจารย์เซนเขาจะเอากระบองตีศีรษะดัง โป๊ก!.. พอลูกศิษย์มองหน้าครู อาจารย์ ก็สาธุ..ยกมือขึ้นไหว้แล้วพูดว่า ขอบพระคุณครับ ดูซิ!..ใครจะขอบคุณได้ไหม? นั่งอยู่ที่นี่ถ้าใครนั่งสัปหงก ให้ อาจารย์เลี่ยมเอาไม้มาตีศีรษะดัง โป๊ก!.. เลย แล้วพูดว่า ขอบพระคุณครับอย่างนี้จะมีสักกี่องค์ นั่งอยู่ที่นี่มีไหม? เทียบเคียงดูเสียบ้าง จะเป็นอย่างไร?
พวกเราไม่น่าจะโง่อย่างนั้นเลย ที่ได้เกิดมาเป็นคนแล้ว ตาเราก็มี หูเราก็มี จะมาบวชก็ไม่มีใครบังคับเรามา เราก็มาเอง บวชเข้ามาแล้วท่านก็สอนเราทุกอย่าง ให้เราปฏิบัติ ท่านพูดให้ฟังเราก็ฟังไม่ชัด ท่านพูดชัดแต่เราฟังไม่ชัด ฟังไม่ชัดก็เข้าใจไม่ชัด เรื่องเป็นอยู่อย่างนี้ ฉะนั้นปัญหาจึงตามมาหาพวกเราทั้งหลาย เป็นเรื่องที่ยุ่งยากอยู่อย่างนี้ อุคฆฏิตัญญู คือประเภทที่สอนง่ายที่สุด เหมือนม้าตัวที่ใจร้อนวิ่งได้เร็วที่สุด พอมองเห็นทุกข์ เท่านั้นรู้เรื่องเลย เหมือนม้าที่มีฝีเท้าดีวิ่งได้เร็ว คอยจับบังเหียนมันหันไปเท่านั้นก็พอ ถ้าขึ้นขี่หลังม้าแล้วไม่ต้องลงแส้ พอมันมองเห็นเงาของแส้ที่จะเฆี่ยนตีหลังมันเท่านั้น ยังไม่ถึงตัวของมันเลยมันรีบวิ่งเร็วที่สุดอย่างนี้ก็ยังมีอยู่ พระเณรเราก็มี แต่ว่าน้อยที่สุด จวนจะหมดแล้ว อุคฆฏิตัญญู เข้าใจได้เร็วเข้าใจได้ง่าย รู้แล้วก็ละได้ง่าย
ม้าตัวที่สองคือ วิปะฏิตัญญู ต้องได้ลงแส้ครั้งหนึ่ง พอรู้ตัวแล้ว อธิบายเทียบเคียงออกไปสักนิดหนึ่ง ก็เข้าใจได้ รู้เรื่องพอสมควร...ไปได้ ม้าตัวที่สามคือ เณยยะ เออ!..ตัวนี้ยากลำบากหน่อย แต่ก็ค่อยๆ ดึงเอาจูงเอาบอกสอนเอา ดุด่า ว่ากล่าวเอาสารพัดอย่าง แต่ก็พอไปได้มีความอดทน มีสามจำพวกเหมือนดอกบัวมีสามจำพวกแล้ว จะเพิ่มที่สี่คือ ปะทะปะระมะ จำพวกที่สี่นี้เป็นของที่เน่าแล้ว จะใช้ประโยชน์ในการทำอาหาร ไม่ได้เลย เหมือนมะม่วงเน่าใช้ไม่ได้เลย แต่ยังเหลือเมล็ดของมัน เนื้อมันเน่าก็เอาทิ้งเข้าป่า มันยังมีเมล็ดตกลงในดิน พอนานไปได้ถูกดินได้รับอากาศในที่นั้น ก็เกิดงอกขึ้นมาเป็นต้นมะม่วงอีก อันนี้ก็เหมือนกัน พระพุทธองค์สอนให้พวกเราทิ้งมันเสีย เหมือนทิ้งมะม่วงเน่า ทิ้งลงใส่กรรมที่เจ้าของเขาทำไว้ คืนให้เจ้าของเก่าเขาเสีย ทิ้งให้ กรรม ที่เขาได้กระทำมา ท่านก็จะเบาหมดภาระของท่าน แต่ก่อนท่านไปตามแก้ ไปตามเป็นเจ้าของ แต่ ไม่ใช่เจ้าของ เจ้าของเขาคือ กรรม คือการกระทำของเขาเอง พระพุทธองค์ท่านแก้ไม่ได้ท่านก็ทิ้ง เหมือนเราทิ้งมะม่วงที่มันเน่านั่นแหละ ทิ้งเข้าป่าแต่เมล็ดมันยังมีอยู่ มันจะเกิดขึ้นมาอีก คน จำพวกที่สี่ท่านให้เอาไว้ข้างนอก ท่านไม่รับไว้ในคิว...มีก็เหมือนไม่มี ท่านไม่ นใจ แต่ท่านก็ไม่ได้รังเกียจหรือดูถูก ท่านแบ่งแยกจิตของท่านอย่างนั้น ท่านก็ทิ้งไว้ให้เป็นกรรมของเขา เมื่อหมดกรรมก็จะเป็นไปเอง เพราะเมล็ดของเขามี อยู่ พวกเราก็เหมือนกันอย่างนั้น
แต่พวกเราอยู่ด้วยกันที่มีศรัทธา ครูบาอาจารย์ที่สอนลูกศิษย์ ก็อยากจะให้ได้ดีเหมือนกันทั้งหมด ก็พยายามบอกสอนทุกอย่าง เพื่อต้องการให้ลูกศิษย์ได้ดีเหมือนกัน ถ้าท่านผู้มีความฉลาดมีปัญญา ท่านจะต้องวาง ถ้าคนไม่ฉลาดคนโง่ จะต้องไปแบกไปยึดให้ตัวเอง เป็นทุกข์ ก็เท่ากับตกนรกทั้งเป็น จะต้องไปแบกไปยึดลูกศิษย์ ลูกหาอยู่อย่างนั้น ถ้าท่านผู้ฉลาดท่านจะไม่แบกไม่ยึด แต่ท่านก็สอน ท่านก็พูดแนะนำ จะไม่ให้ท่านพูดก็ไม่ได้เพราะเป็นหน้าที่ของท่าน ที่จะต้องสอนอย่างนั้น พูดสอนไปเรื่อยๆ สอนบ่อยๆ ก็เหนื่อยแล้วนะ ไม่ทราบว่าจะทนไปได้แค่ไหน จะมีประโยชน์อะไร ถ้าเป็นคนว่ายาก สอนยาก ถ้าเป็นบุคคลธรรมดาเขาคง ละทิ้งไปแล้ว อันนี้แหละท่านจึงว่ามันเป็นของยาก พวกเราทั้งหลายก็เหมือนกัน ได้เข้ามาบวชในพุทธศาสนา ยังไม่ได้ทำ ยังไม่ได้ปฏิบัติเลย แต่เขาคงคิดว่าเขาได้ทำแล้ว แต่ถ้าเรามองดูก็รู้ว่าเขายังไม่ได้บวช แต่เขาว่า เขาบวชแล้ว ว่าฉันได้บวชแล้วก็ดีใจ เขาคงคิดว่าได้โกนศีรษะครองผ้าจีวรสีเหลืองนั่นแหละเป็นพยานของเขา ว่าตัวเองได้บวชเจ็ดวันก็ดีใจ คิดว่าได้บวชแล้ว พระพุทธเจ้าสอนเราให้รู้เรื่องของศาสนาแค่นั้นหรือเปล่า? ยังไม่รู้ไม่เข้าใจ
ฉะนั้นคนเดินอยู่ฝั่งนี้มีมาก แต่เดินข้ามไปฝั่งโน้นมีน้อย ที่สุด เกือบจะไม่มีเลย จะไปดูที่ไหนเป็นพยานในเรื่องอย่างนี้ ก็ดูพวกเราที่อยู่กันเป็นกลุ่มอยู่ตั้งยี่สิบสามสิบองค์ จะมีคนตั้งใจปฏิบัติจริงๆ จะมีกี่องค์นะ ไม่ให้ดูคนอื่น ดูตัวเองนั่นแหละ รู้จักหน้าที่ของเราไหมที่เราจะต้องปฏิบัติ พระพุทธเจ้าท่านตรัส ว่า อัตตะโน โจทะยัตตะนัง จงเตือนตนด้วยตนเอง วันคืนล่วงไป ...ล่วงไป บัดนี้เราทำอะไรอยู่? ถ้าเป็นตัวหนังสือไปอ่านพบแล้วก็มีความรู้สึกเฉยๆ ก็คงจะไม่เห็นพระพุทธเจ้าท่านอยู่กับเราเท่านั้นแหละ วันคืนล่วงไป ล่วงไป บัดนี้เราทำอะไรอยู่ อันนี้เป็นพระโอวาทที่ท่านเน้นหนักมาก ให้เราดูตัวเอง จึงจะรู้ว่าตัวเองเป็นอย่างไร ถ้าคนไม่รู้จักตัวเองก็จะบ่นว่า แหม!..ดิฉันทำดีไม่ได้ดีเลย เคยได้ยินบ่อยๆ ว่าเขาทำชั่วแต่ได้ดี ก็ทำให้ไม่สบายใจ อันนี้ เราไม่ได้พิจารณาดูตัวเอง อัตตะโน โจทะยัตตะนัง จงเตือนตนด้วยตนเอง เวลานี้เรากำลังคิดอะไรอยู่ ทำอะไรอยู่ พูดอะไรอยู่ เมื่อเวลาเราทำเราคิดเราพูดอะไรออกไปนั้นมีเจตนาอย่างไร มีความอิจฉาพยาบาทคนอื่นไหม จะต้องรู้ตัวเอง ความจริงถ้าจิตของเราเป็นกุศล การกระทำเพื่อประโยชน์ตนหรือเพื่อประโยชน์คนอื่น จะต้องรู้จักตัวเองว่า เมื่อเราพูดหรือทำหรือคิดอะไรอย่างนี้ เป็น การงานของเราเกิดขึ้น ทำให้มันดีคิดให้มันดี ไม่ใช่ทำเฉยๆ ทำดีแล้วถ้าคิดไม่ดีก็เสียใจได้เหมือนกัน อย่างเราตั้งใจที่จะทำดี คนอื่นว่าเราทำไม่ดีอย่างนี้ เราก็เสียใจ คือคนไม่ดูตัวเอง ขณะนี้เราคิดดีแล้ว ไม่อิจฉาใครไม่พยาบาทใคร ทำประโยชน์ตัวเองและประโยชน์คนอื่น ทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม เพื่อประเทศชาติ บ้านเมืองจริงๆ แต่ถ้าคนอื่นเข้าใจผิดคิดว่าเราทำไม่ดี พูดไม่ดีก็ เสียใจ นี่คือคนไม่เตือนตนเอง ก็จะทำให้ไม่สบายใจได้เหมือนกัน เพราะเราทำดีแต่คนอื่นเขาว่าเราไม่ดีอย่างนี้ นี่คือคนไม่เชื่อตัวเอง ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเรื่องของคนอื่นเขา แต่ถ้าเราทำดีพูดดีอยู่ คนอื่นเขาว่าเราทำไม่ดีก็ไม่เป็นไร เมื่อเราทำดีแล้ว เรื่องคนอื่น ว่าไม่ดีมันเป็นเรื่องของเขา เราอย่าไปทิ้งความดีของเราซิ ฉะนั้นเราจึงจะได้ของดี บางคนทำดีอยู่แต่คิดไม่ดีก็ไม่ได้ ต้องคิดให้มัน ดีด้วย ให้รู้ ภาพของมันว่ามันเป็นอย่างนั้น
ฉะนั้นจึงจะรู้จักตัวเอง การทำชั่วทำดีมันจึงเกิดกับพวกเรา ถ้ามีความเห็นผิดก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง บางคนคิดว่าทำความผิดอยู่ ที่ลับตาที่คนไม่เห็น ก็ทำได้อย่างสบายใจ ไม่คิดกลัวบาป สิ่งที่ ทำผิดไปนั้นกลัวแต่คนจะเห็น กลัวเพื่อนครูบาอาจารย์หรือพ่อแม่จะเห็น ถ้าเป็นที่ไม่มีใครเห็นก็ทำได้ทุกอย่าง คิดดีใจว่าไม่มี ใครเห็น อันนี้มันโง่เกินไป ถึงคนอื่นจะไม่เห็นแต่ตัวเราเองก็เห็น เพราะตัวเองเป็นคนเหมือนกัน ถ้าเราคิดอย่างนี้ ก็พออยู่ได้ การปฏิบัติธรรมะท่านให้ดูตัวเอง บางคนถ้าทำสิ่งที่ผิดก็กลัวคนจะเห็น ถ้าอยู่ในที่ที่คนจะเห็นไม่กล้าทำ เพราะมีความละอาย แต่ไม่มีความละอายต่อบาป ถ้าพูดถึงธรรมะแล้ว ไปทำผิดอยู่ที่ไหนคนจะไม่เห็นไม่มี เพราะเราก็เป็นคน ตัวเราทำเองทำไมจะไม่รู้ คนเห็นทั้งนั้นแหละ (ท่านหัวเราะ ฮึ ฮึ) คนอื่นไม่เห็น...เราทำผิด เราก็เห็นเราอยู่จะดำอยู่ในน้ำก็ยังเห็น คนอื่นไม่เห็น เราก็เห็นตัวเราอยู่
หึ!..หึ !..ปกติทำไปแล้วคิดว่าคนอื่นไม่เห็น บางคน กลัวแต่ครูบาอาจารย์อย่างสามเณรตัวเล็กๆ ถ้าจะทำผิดก็มอง ครูบาอาจารย์ ถ้าท่านไม่อยู่ท่านไม่เห็นก็ทำได้เลย...ทำอย่างสบาย เพราะท่านไม่เห็น อาตมาว่าโอ!..พวกเรานี้มาพิจารณาดูแล้วมัน โง่เกินไปเสียแล้วนะ มองข้ามตัวเองคิดว่าตัวเองไม่ใช่คน ถ้าเราเป็นคน ถึงคนอื่นไม่เห็นตัวเราก็เห็นเราอยู่ ถ้าเห็นอย่างนี้แล้ว ก็เป็นผู้เห็นธรรมะ จะไปทำอยู่ที่ไหนใครจะไม่เห็นเล่า ฉะนั้น การทำดีจึงได้ดีจริงๆ ทำชั่วก็ได้ชั่วจริงๆ ไม่เป็นอย่างอื่น จะต้องเห็นทุกขณะทุกฝีก้าวที่เดินไป เรื่องทำลงไปแล้วจะต้องเห็นแน่นอน จะเป็นสุขก็ดีทุกข์ก็ดี จะต้องเห็นทุกอย่าง คนอื่นไม่เห็นตัวเราก็เห็นอยู่ เราพูดอย่างนั้นเราทำอย่างนั้น มีความ มุ่งหมายอย่างนั้น ถ้าเป็นธรรมจริงๆ มันเรียบร้อยทั้งนั้น จะทำความชั่วไม่ได้ จะมีเครื่องคอยบังคับอยู่อย่างนี้เรื่อยไป จึงจะ พ้นจากทุกข์ ฉะนั้นพระท่านจึงว่า ฉันไม่ตกนรกแล้ว แต่คนเราส่วนมาก ไม่ใช่อย่างนั้น ได้ดอกไม้เอาไปบูชาแล้วพูดว่าอย่าให้ฉันตกนรกเลยเจ้าข้า แต่ไป ร้างนรกขึ้นที่ใจตัวเองไม่หยุดสักที (ท่านหัวเราะ ฮึ ฮึ ฮึ) แต่ไปปรารถนาเอาอย่างนั้น พูดภาษาธรรมกับภาษาคนมันต่างกัน บางคนพูดให้ฟังไม่ค่อยจะรู้เรื่อง อะไรเลย อย่างท่านว่าถ้าทำบาปแล้วตกนรก ถ้าคนไม่บาปก็ ไม่เห็นนรก ไม่รู้เป็นเพราะอะไร คนสมัยใหม่ทุกวันนี้ยิ่งไม่รู้จักนรก ไม่รู้จักบาป มาถามหา ตัวบาป นรกอยู่นั่นแหละ
อย่างเมื่อวานนี้คณะอาจารย์ทั้งหลายมาถามหาตัวบาปถามหานรก อาตมาก็พาค้นหาบาปอยู่ตรงนี้แหละสอยากทราบว่ามันเป็นอย่างไร เพราะไม่รู้จักธรรมะ เอ!..ถ้าอย่างนั้นก็คงไม่รู้จักอะไรเลยนะ ดีมันเป็นอย่างไร ชั่วมันเป็นอย่างไรไม่รู้จัก จะให้เห็นเป็นตัวเหมือนแมวนี่นะ ไม่ใช่รูปธรรมอย่างนั้น แต่เป็นนามธรรม สักแต่ว่าเป็นคำพูดว่าตัว ตัวบาป ไม่ใช่บาปจะเป็นตัวเหมือน สิงโตหรอกนะ บาป นี้คือความชั่วความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ มันไปอิจฉาคนอื่นมันก็เป็นทุกข์ ตกนรกเป็นอย่างไร? ก็คงจะไม่รู้จักนรกนะ ความจริงเราตกนรกมานานแล้ว..(หัวเราะ ฮึ ฮึ)...แต่ยังไม่เห็นนรก โยมเคยมีทุกข์ไหม? ถ้าเคยมีนั่นแหละเคยตกนรกมาแล้ว..ยังไม่รู้จัก ตรงที่ไปทำแล้ว มันผิด ก็อย่าไปทำเลย ถ้าทำแล้วมีความผิดมีความเดือดร้อน ที่ตรงนั้นแหละเป็น นรก ไปทำผิดดูซิ ถ้าทำสิ่งที่ผิดเขาก็จับไปลงโทษเท่านั้นแหละ ทำลายตัวเองก็มีความทุกข์ สัตว์ นรกอยู่ที่ไหน? ใครเป็นทุกข์คนนั้นเป็นสัตว์นรก ว่ายวนอยู่ในนรก แต่ก็ไม่ค่อยรู้จักกัน สิ่งที่มันชั่วมันเกิดขึ้นกับจิต ของเรา ไม่รู้จักว่ามันเป็นนรก ตัวทุกข์นั่นแหละแต่ก็ไม่รู้เพราะไม่เห็นตัวมัน เห็นแต่อาการของจิตสอยากเห็นมันเป็นตัวเป็นตนเหมือนแมวก็ไม่ได้นะ ไม่ใช่รูปธรรมอย่างนั้น มันเป็นนามธรรม เป็นแต่ความรู้สึก เมื่อนึกถึงก็จะมีความทุกข์ขึ้นมา ก็คงจะคิดว่าแหม!..คนนั้นมันดูถูกเรา ไม่น่าจะดูถูกเราเลย คิดไปคิดมาก็ น้อยใจตัวเอง น้ำตามันไหลออกมาเลยนะ ทำไมมันจึงเป็นอย่างนั้น มันเป็นรูปมาหรือเป็นนาม ให้เรามีความรู้สึกอย่างนี้ ถ้าคิดไปถึงก็ไม่ควรจะพูดดูถูกฉันเลยอย่างนี้ ไม่ควรทำให้ฉันอย่างนี้นะ น้ำตามันไหลออกมา ใครบอกให้มันไหลออกมาล่ะ? มันมาจากไหน? ใครไปบีบให้มันออกมาล่ะ? ความรู้สึกอันนี้มันกระทุ้งจิต มีเจตนา ขึ้นมามันก็เป็นทุกข์
ฉะนั้นพระพุทธองค์ท่านสอนไว้แล้ว แต่เราไม่ค่อยเข้าใจ อันนี้ให้เข้าใจกันเสียว่า ทำดีก็ต้องได้ดี ทำชั่วตรงไหนก็ได้ตรง นั้นแหละ เมื่อคิดจะชั่วมันก็ได้แล้ว ได้เพราะคิดเอา ถ้าพูดก็ได้พูดเพิ่มเข้าไปอีกแล้ว ถ้าทำด้วยกายลงไปอีก ได้สามประการแล้ว กายวาจาจิต ได้เดี๋ยวนั้นตรงนั้นเลยอย่าคิดว่ามันไม่ได้ แต่ก่อนทำอะไรมันคิดขึ้นมาพอทรงตัวได้แล้ว แต่ได้เพราะความคิด ถ้าพูดไปอีกได้แล้วสองอย่างคือออกไปทางวาจา ถ้าทำทางกายด้วย ก็ทั้งสามอย่าง จึงเป็นไปทีละนิดทีละน้อย ไม่รู้จักตัวเองอย่างนี้ เดี๋ยวก็ไปแบกให้มันหนัก อันนี้เราควรจะรู้สึกสำนึกในทางธรรมะ ธรรมะเป็นอย่างนั้น
ธรรมะคืออะไร?อยู่ที่ไหน? ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรมะทั้งนั้น ธรรมะเป็นสภาวะที่ทรงไว้ ที่เราเรียนมาก็ผ่านธรรมะทั้งนั้นแหละ ที่ว่างๆ ก็มีธรรมะ คือที่มีรูปก็มีธรรมะ ไม่มีรูป ก็มีธรรมะ ที่ไหนไม่มีธรรมะไม่มี ฉะนั้นธรรมะจึงมีทุกอย่าง ทำชั่วก็เป็นธรรมะที่ชั่ว เป็น อกุศลธรรม ถ้าทำดีก็เป็นธรรมะที่เป็น กุศลธรรม ธรรมะอะไรที่เราควรละ ธรรมะอะไรที่ควรปฏิบัติ แต่คนเราชอบมองผ่านไป อาตมาเคยเห็นโยมมาทำบุญกันเก่งทุกๆ คน ที่บ้านอาตมาก็ทำบุญเก่ง แต่การละบาปเป็นสิ่งที่สำคัญ ไม่มีใครจะละกัน การทำบุญ คือยอดของต้นไม้ ตัดออกแล้วมันก็งอกขึ้นมาอีก เพราะลำต้นมันยังอยู่ การละบาป ไม่มีใครจะมองเห็น เท่าไรนะสอยากจะเด็ดยอดมันมากินเลย ยอดมันมาจากลำต้น รากเหง้าของมันนั่นแหละ แต่พวกเราไม่รู้จัก การบำเพ็ญบุญในพุทธศาสนานี้ คือการละบาปเป็นเบื้องแรก การละบาปเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ละบาปแล้วจึงทำบุญให้สมบูรณ์ เช่นผ้าซักฟอกให้มันสะอาดแล้วจึงย้อม ผ้าจึงจะมีสีสวยขึ้นอย่างผ้าเช็ดเท้าที่ กปรก ไม่ซักแล้วเอาไปย้อม สีของผ้าจะสวยไหม? ซักแฟ๊บให้สะอาดแล้วเอาไปย้อม สีมันก็สวยดีเหมือนกันฉันนั้น
หลักในทางพระพุทธศาสนาท่านสอนว่า สัพพะปาปัสสะอะกะระณัง การไม่ทำบาปทั้งปวง กุสะลัสสูปะ สัมปะทา การทำกุศลให้ถึงพร้อม สะจิตตะปะริโยทะปะนัง การชำระจิตของตนให้ขาวสะอาด เอตังพุทธานะสาสะนัง นี่เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา การทำจิตให้เป็นกุศล อันนี้คือเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ให้ทำจิตของเราให้ผ่องใส ขาวสะอาด ปราศจากมลทินเครื่องเศร้าหมอง อันนี้เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา สามประการนี้ สัพพะปาปัสสะอะกะระณัง นี้เรียกว่าถอนรากมันออกหมดเลย เหมือนน้ำอยู่ในตุ่ม อาตมาเคยสอนว่า ตักน้ำออกไปจากตุ่มหนึ่งขัน แล้วตักเข้ามาเพิ่มอีกหนึ่งขัน ตักออกหนึ่งขันตักเข้ามาเพิ่มหนึ่งขัน มันจะมีเวลาแห้งไหม? ให้ละบาปแล้วจึงบำเพ็ญบุญ เราต้องละคือตัดออกทีละเล็กละน้อย น้ำมันก็จะมีเวลาเหือดแห้งลงได้ อันนี้พวกเราชอบตักน้ำออกขันหนึ่งแล้วเอามาเพิ่มอีกสามขัน... (หัวเราะ หึ หึ)... มันเป็นอย่างนี้ ฉะนั้นจึงได้บ่นว่าทำไมคนจึงไม่เหมือนกัน บางทีก็มีสุขๆ บางทีก็มีทุกข์ๆ เพราะเราทำอย่างนั้น ตักออก แล้วก็ตักเข้ามาอีก ปะปนกันอยู่อย่างนั้น ก็ควรที่จะวินิจฉัยดูหรือ พิจารณาดูว่า ถ้าเราตักน้ำออกแล้วไม่ได้ตักเพิ่มเข้ามาอีกก็ไม่ต้องตักมากหรอก ตักออกทีละนิดละหน่อย เดี๋ยวน้ำก็แห้งไปเอง ฉะนั้นการทำบุญก็มีความสำคัญอยู่ แต่มันไม่ยิ่งเท่าไรหรอก แต่การละบาปสำคัญยิ่งกว่า มันจะได้หมดไปๆ ที่เราอยู่ทุกวันนี้ ทำบาปก็ได้บาป ทำบุญก็ได้บุญ ก็เสมอต้นเสมอปลาย ถ้าตักออกแล้วก็ตักเข้ามาอีก มันจึงเสมอกันอยู่อย่างนี้ เป็นทุกข์อยู่อย่างนี้ตลอดไป ดังนั้นในฐานะที่เราเป็นพุทธบริษัท ก็ควรตั้งต้นปฏิบัติให้ถูกต้อง ถูกธรรม ถูกทางเสียตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป.
จาก หนังสือโอวาทบางตอน และ บันทึกประมวลคำถาม-คำตอบ แนวการปฏิบัติธรรม ของ พระโพธิญาณเถร (พระอาจารย์ชา สุภัทโท) โรงพิมพ์ชวนพิมพ์, พฤษภาคม ๒๕๒๐