นี้คือการปฏิบัติ ละมัน ถอนมัน เลิกมันออก ดูแต่จิตของเราเท่านั้นแหละ ถึงแม้ตัวเราจะไปไหนก็ดูจิต ความรู้ของเราดูเราอยู่เสมอเลยทีเดียว อารมณ์ที่เกิดขึ้นมาในที่นั้นจะรู้จักเลยแหละ เราไปส่งเสริมมันซะ ที่นั่นแหละความเพียร "ขันติ" ก็อยู่นั่น "วิมังสา" ก็อยู่นั่น ถ้าเราเป็นอย่างนั้น ถ้าเราเรียนตัวของเราอยู่เสมอๆแล้ว "ธรรมเครื่องตรัสรู้" จะเกิดขึ้นมา
อาศัยทำไปนานดูบ้าง อย่าอยู่ไปนานเฉยๆ ไม่ได้ทำจริงๆ การทำเพียรไม่ใช่ว่าจะวิ่งจะเต้นจะทำจริงๆจังๆ แม้จะนั่งอยู่ทั้งคืนไม่ได้เป็นอย่างนั้นนะ "ปฏิบัติ" ไม่ใช่ว่านั่งอยู่ทั้งคืน เดินอยู่ทั้งคืนไม่ใช่ อันนี้เป็นทางอ้อมคือทางกาย ทางนั่ง ทางนอน ทางยืน ทางเดินนี้ เป็นทางอ้อม ทางตรงมันจริงๆคือ "จิต" ทำสมาธิ เดินจงกรม ทำอะไรเป็นต้น เพื่ออยากจะให้รู้จิตของเรานี้เอง ให้ดูจิตของเรา ถ้าหากว่าผู้ใดมารู้จักจิตของตัวเองแล้วไปไหนก็ช่าง ถึงแม้ว่านั่งอยู่เฉยๆก็เหมือนนั่งสมาธิ ถึงจะเดินไปไหนก็เหมือนเดินจงกรม อยู่ในหมู่ก็เป็นอย่างนั้น นอกหมู่ก็เป็นอยู่อย่างนั้น ไม่ใช่ว่าคิดฟุ้งซ่านไปต่างๆนานา ทิ้งตัวเองไปลืมตัว ไม่ได้เป็นอย่างนั้นมันดูตัวเองอยู่อย่างนั้นแหละ พิจารณาทำลายอยู่ตลอด ถอนอยู่เรื่อยๆอยู่อย่างนั้น สอนมันเรื่อยๆไป สอนตัวเองอยู่ตลอดเวลาอยู่อย่างนั้นแหละ ไม่ได้ทิ้งตัวเองหรอก ห่วงตัวเองมากเหมือนกับแม่เหล็กที่มีเครื่องดึงดูด เหมือนกันกับเอาเข็มเอาแม่เหล็กล่อมันก็วิ่งตาม ฉันใด สติกับอารมณ์ก็เหมือนกันเป็นอยู่อย่างนั้น อาการที่มันเป็นไป
อาการที่กระทบอารมณ์ที่ชอบหรือไม่ชอบ จะดีหรือไม่ดี ผู้หนึ่งดูอีก มันชอบดีไม่ดี ผู้นี้รู้จักความชอบความดีอีก ผู้ตามรักษาอยู่อีก ดังนั้นพระท่านจึงว่า "ผู้ใดตามดูจิตของตน ผู้นั้นจะพ้นจากบ่วงของมาร" ถ้าพิจารณาจิตแล้ว ให้ตามรักษาจิต แล้วเอาใครตามอีก ให้ดูชัดๆนะ ให้รู้จักจิตตัวเอง แล้วให้รู้จักผู้ตามรักษาจิตอีก มันมีอยู่นั่นแหละ ถ้าผู้ใดรู้อย่างนี้แล้ว ความโลภจะเกิดขึ้นมาไม่ได้ ถ้าเกิดก็ระงับได้ โกรธจะเกิดขึ้นมาไม่ได้ ถ้าเกิดก็ต้องระงับได้
เหมือนกันกับเราไปเลี้ยงควายถือตะพดอยู่ ปล่อยให้กินดูเอ้า!...ลองดู มันจะกินข้าวกินน้ำอยู่อย่างไร เราถือตะพดอยู่มันไม่กล้าเพราะดูมันอยู่ อันนั้นควาย ควายคือจิต เจ้าของควายคือผู้ตามดูจิต จิตของเราเป็นต้นมีเจตนาจับนั้นจับนี้ ผู้ตามดูจิตคือผู้รู้อันหนึ่งอีกแฝงออกมาจากจิต เหมือนกันกับว่าใครเป็นคนเลี้ยงควาย คือเจ้าของควายนั่นแหละ แฝงออกมาจากควายอีกทีหนึ่งไม่ใช่ควายนะ ผู้รักษาควาย ควายคือ "จิต" คนผู้รักษาควายคือ"ผู้รู้" ถ้าแยกออกอย่างนี้เห็นกับตัวเองได้เหมือนกัน ตามดูจิตคือผู้รู้ ให้พิจารณาดูชัดๆอันนี้
ถ้าหากว่าอารมณ์มากระทบให้มีเจตนาตั้งขึ้นคือ "จิต" ชอบหรืออะไรต่างๆ ตัว "ผู้รู้" คอยระงับเลย ถ้าตัวผู้รู้หายแล้วไม่ได้ถ้าชอบก็ปล่อยให้ชอบไป ถ้าร่าเริงก็ปล่อยให้ร่าเริงไป ไม่ได้ตามดูจิตแล้วอย่างนี้ ถ้าโศกก็ปล่อยให้โศกไป ถ้าโกรธก็ปล่อยให้โกรธไป ตัวผู้รู้ไม่มี มีแต่จิตอันนั้นไปเลย ไม่ได้ตามดูจิต ฉะนั้นจึงถูกบ่วงเขา ถ้าผู้ปฏิบัติไม่ได้เป็นอย่างนั้น เหมือนเจ้าของควายกับควาย ต้องสะกดรอยเรื่อยๆ ฉะนั้นจะทรมานจิตของเราได้อย่างไรบางทีเกิดกระทบมันจะโกรธอย่างนี้ ถ้ามีแต่ "จิต" ก็ต้องโกรธเลยถ้ามี "ผู้รู้" ก็ต้องระงับตามรักษา ถ้าจะโลภปุบ มีแต่มันก็โลภเท่านั้นแหละ ถ้ามีผู้รู้ตามรักษามันก็หยุด นี้คือ "ทรมานจิต"ตามดูจิต จนเห็นเป็นอยู่อย่างี้ เห็นเหมือนกันกับเราไปเลี้ยงควายควายอันหนึ่ง เจ้าของควายผู้หนึ่ง คนผู้เป็นเจ้าของควายตามรักษาควาย ควายจึงไม่เสียหาย ควายคือจิต ผู้เลี้ยงควายคือผู้รู้จิตเราเหมือนกันอันนั้น มันอาศัยอารมณ์เป็นอยู่ อารมณ์ดีอารมณ์ร้าย มันก็เป็นไปตามนั้นแหละอารมณ์ เป็นอย่างนั้น ถ้าไม่มีผู้ตามรักษาก็วุ่นวายเท่านั้นแหละ ไม่รู้ว่าอารมณ์เป็นจิต จิตเป็นอารมณ์ ปังกันเลยทีเดียว เลยเป็นไปตามอารมณ์ พูดไปตามอารมณ์เขาว่า ทำไปตามอารมณ์นั้นเองแหละ จิตขาดผู้รักษา จิตขาดจากผู้รู้ จิตเป็นอนาถา
นักปฏิบัติเราก็เหมือนกัน ถ้าอยากโกรธก็โกรธขึ้น ใครจะไม่รู้จักมันความโกรธ มันจะเกิดขึ้น นี่ก็รู้ โกรธแล้วได้ประโยชน์อะไร ถ้าผู้รู้ตามรักษาก็หายไปเลย มันก็เป็นอย่างนั้น ผู้รู้ตามรักษามันจะเป็นอะไรขึ้นมา ถ้าเราจะทำจะพูดจา ทำดีแล้วจึงพูดไม่ให้เสียเรา ตั้งใจแล้วทำแล้วปฏิบัติแล้วกลั่นแล้วกรองแล้วจึงทำจึงพูด มีความสามารถอย่างนี้ ฉะนั้นปฏิบัติจึงไม่เห็นผู้รู้ไม่เห็นจิตตัวเอง มันจึงไปถูกบ่วงเขาเรื่อย ไม่รู้จักเลย ก่อนจะรู้จักทำอย่างไร ต้องปฏิบัติต้องเอาจริงๆจึงได้ ความเพียร ฉันทะ วิริยะจิตตะ เกิดพร้อมกันปุบ
"ฉันทะ" ความพอใจรักใคร่ในสิ่งนั้น "วิริยะ" ความเพียรในสิ่งเหล่านั้น "จิตตะ" เอาใจฝักใฝ่ "วิมังสะ" หมั่นตริตรอง มันเป็นเองมันถ้าเราปฏิบัติ ถ้าหากว่าใครไม่มีอย่างนี้ก็ไม่ได้ ้ถามีอย่างนี้จะไปที่ไหนก็ตาม อยู่ในชุมนุมชนก็ช่าง อยู่โดดเดี่ยวก็ตาม ให้ดูใจของเรามันเป็นอย่างเก่าของมันนั่นแหละ ตามรักษาระวังอยู่เสมอเลย มีผู้ปราบบอยู่เสมอ นั้นเรียกว่า "ผู้รู้ตามรักษา"
อันนี้ยากนะจะต้องทำจริงๆ ปฏิบัติจริงๆ ให้เห็นอย่างนี้จริงๆ เมื่อเห็นผู้ร้ายปุ๊บ ตำรวจก็ตะครุบเลยแหละ เจ้าหน้าที่ก็มีเลย เมื่อเห็นผู้ร้ายปุ๊บเจ้าหน้าที่ก็ปุ๊บเลย อย่างนี้นะถึงจะได้ พวกเรานี้ชอบปล่อยให้มันไปลักของเขาอยู่อย่างนั้นแหละ ไปแง่ไหนมุมไหนก็อยู่อย่างนั้นแหละ มันขนเข้ามาซิทีนี้ ขนเข้ามาชนเข้าเพราะไม่สำรวม เกิดทุกข์เกิดอยากเกิดลำบากวุ่นวายต่างๆนานามันไม่รู้จักอะไรจึงเก็บเอามาเผาตัวเอง อย่างนี้แหละพระพุทธเจ้าของเราท่านจึงให้ภาวนาให้ปฏิบัติ ว่าเฉยๆมันไม่ได้ปฏิบัติ เป็นวิบัติ เรื่องเหล่านี้เกิดจากการกระทำ ถ้าปฏิบัติแล้วไม่กลัว เสื่อมก็เสื่อมไป เจริญก็เจริญไป เรื่องโลกมันเป็นของมันอยู่อย่างนี้มันมีแต่เสื่อมกับเจริญเท่านั้นแหละ นี้คือการปฏิบัติของเรา ไม่ต้องเกรงใจไม่ต้องกลัวไม่ต้องหวาด ไม่ต้องสะดุ้ง จะแก้มันทำไมจะกำจัดอะไร มันเป็นของมัอยู่อย่างนั้น
พระพุทธเจ้าก็ปฏิบัติกับสิ่งเหล่านี้ รู้สิ่งอันนี้ รู้สังขารอันนี้รู้ปฏิบัติอันนี้ การปฏิบัติจึงชอบขึ้นมา จึงตั้งขึ้นมา ไม่ต้องน้อยใจอันใดเราละ มันจะดีใจก็ไม่ใช่ที่เอา มันจะเสียใจก็ไม่ใช่ที่เอา มันจะสงสัยก็ไม่ใช่ที่เอา มันจะเป็นอะไรก็ไม่ใช่ของเอาทั้งนั้น ไม่ยากหรอกการปฏิบัตินี้
อยู่คนเดียวผมก็สงสัยเหมือนกันแต่ก่อน ปฏิบัติไปเกิดสงสัย สงสัยก็ไม่ต้องสงสัยมัน ทิ้งหมดทุกอย่างนั่นแหละ อย่าเอามาค้างไว้ในใจของเรา รแล้วก็วาง รู้แล้วก็วาง รู้แล้วก็วาง วางไปเถอะ อยู่ที่ไหน? อยู่ที่มันว่างๆนั่นแหละ อยู่นั้นแหละ อยู่ที่ไม่สงสัยนั้นแหละเรื่อยๆไป ได้อะไรไม่ได้อะไรก็ไม่ต้องสงสัยมัน ใจเราเมื่อคิดมาเป็นสุขผิด คิดไปเกิดอารมณ์เสียใจผิด คิดไปเกิดเศร้าโศกก็ผิด ผิดหมดทุกอย่างทุกด้าน เสียใจก็ตัณหา ดีใจก็ตัณหา แต่ว่าความดีใจเสียใจนั้นมีไหม?...มีอยู่ แต่ว่ามันเป็นเพียงอาการมัน ถ้าเป็นกล้วยก็มีแต่เปลือกมัน ถ้าเป็นข้าวต้มก็มีแต่เปลือกมัน มันไม่ได้อยู่ในจิตของเรา จิตเป็นผู้รู้เฉยๆก็ปล่อยมันเท่านั้นแหละ อันนี้ไม่ต้องสงสัยหรอการปฏิบัติ เมื่อใจของเรามันเกิดคิดทุกข์ขึ้นมาก็ผิดแล้วผิดเกิดขึ้นมาก็ทุกข์เหมือนกัน แต่อย่าไปหมายมั่น แต่อย่าไปห้ามมัน มันเกิดสุขเกิดทุกข์ก็ไม่ห้าม ทุกข์เกิดขึ้นมาก็ไม่ได้เสียใจกับมัน สุขเกิดขึ้นมาก็ไม่ได้ดีใจกับมัน ต้องดูอยู่อย่างนี้ตลอดกาล "วาง" ลักษณะวางอะไรก็ช่างถ้าเรามีความเห็นอย่างนี้แล้ว ขอแต่ว่าให้ความทุกข์หายออกจากใจของเราได้นั้นแหละถูกแล้ว
บางคนชอบนั่งเอาแต่ "ฌาน" ข่มไว้อยู่อย่างนั้น "ปฏิบัติ" คือให้มันพ้นทุกข์ เอาทุกข์ออกจากใจของเราเท่านี้เอง เอาทุกข์ออกจากใจ เอาสุขออกจากใจ เอาความสงบแทนไว้ ให้มันว่างๆ อย่ามั่นหมาย อย่าไปมั่น ทำไปปฏิบัติไป นี้คือปฏิบัตินะ อย่าไปหมายมั่นอย่าไปหมายนี่ มันจะสุขหรือมันจะทุกข์ก็ไม่ต้องไปห้ามมันอีก
การทำ "สมาธิ" ก็เหมือนกันติดนิมิต ติดรูปนั้นติดรูปนี้ ก็ยังยากอยู่นะ บางทีก็อยากให้มี บางทีก็ไม่อยากให้มีนิมิต ปฏิบัติหลายปีวุ่นวาย ไม่รู้เรื่อง
ลักษณะ "ปฏิบัติ" นั้น คือใจเรามารู้เท่าความเป็นจริงของสังขาร ก็เสร็จเรื่อง ถ้าเราเข้าใจว่า เราแก่ เราเจ็บ เราตาย มันก็ยากอยู่ เพราะมันไม่มีเราอยู่นี่ เราเข้าใจว่าเรามันก็ทุกข์ยากทั้งนั้นแหละ เพราะว่ามันเป็น "อนัตตา" ฉะนั้นท่านจึงให้วางเอาไว้ วางไว้เพราะมันไม่มีเรา ถึงเอามันก็ไม่ได้เพราะไม่ใช่เรา ไปยึด ไปหมายมันก็ไม่ได้ มีแต่ทุกข์ทั้งนั้น มันไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา คิดได้เท่านี้แหละ มันจะเป็นรูปก็ช่าง เกิดมาทางใจก็ตาม ตาเห็น หูได้ยิน จมูกดมกลิ่นก็ตาม ถูกต้องทางกายก็ช่าง หรือที่เกิดขึ้นทางจิต สิ่งเหล่านี้ท่านให้วาง เกิดมาแล้วก็วาง ละ วางมันไป ถอนมันไปเรื่อยๆไป ไม่เอาอะไรเอาแต่ความรู้ละอันนี้เรื่อยๆไป ผู้รู้ละก็ไม่ใช่เราอีกด้วยอยู่กันไปเท่านี้แหละ ไม่ต้องคอยวันคอยคืนหรอกเรา คิดได้เมื่อใด มันละได้เมื่อใดก็หยุดเมื่อนั้นแหละ เป็นอันว่าตกลงกัน อันอื่นเป็นเรื่องไม่สำคัญ เท่านี้เอง
ถ้าวางอันนี้ได้ก็คือวางขันธ์ ๕ หมด วางรูป เวทนาสัญญา สังขาร วิญญาณ กองรูป กองเวทนา กองสัญญา กองสังขาร มันอันเดียวเท่านั้น มันหมด เหมือนกับตะเกียง ถ้าเราดับไฟ มันก็หมดแสงสว่างข้างนอก ไม่ต้องกลัวว่ามันจะไม่ดับมันไม่มีแสงสว่างข้างนอก มันมีอยู่ข้างใน มันมีทุกข์เพราะเราไปยึดว่าตัวเรา ถ้าถอนตัวเราออกจากสมมติอันนั้นเสียแล้วเป็นต้นมันก็เหมือนถอนไส้ตะเกียงออกแสงสว่างก็ดับหมด เราถอนตัวออกมาสำคัญว่าเป็นตัวเป็นตน เป็นเรา เป็นเขา กูดี กูชั่ว กูโง่กูฉลาด ถอนมันทิ้งเสียอย่าให้มีในที่นั้น อาการต่างๆก็ดับไปเหมือนกันกับไส้ตะเกียง ถอนออกดู ความสว่างก็หายหมดข้างนอก มันอาศัยไส้ตะเกียงกับไฟเป็นอยู่ มันอาศัยตัวเราว่าตัวกูของกูนี้แหละ ตัวเขาตัวเรานี้แหละ เข้าไปหมายไว้ถ้าสุขก็ว่าเราสุข ถ้าทุกข์ก็ว่าเราทุกข์ เป็นอะไรก็ว่าเราเป็นอันนั้นแหละ เอา "เรา" ไปใส่ไว้ที่นั้นนี้แหละมันจึงเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ไปรอบด้าน เพราะธรรมนั้นเป็น "อนัตตา" ไม่ใช่เรา เราเอา "เรา" เข้าไปใส่ ขืนดื้อเข้าไปใส่นี้เรียกว่า "ประมาท"
จะไปถอนที่ไหนล่ะ? ถอนไม่ได้เพราะไปหมายมั่นเข้าไป ให้รู้ตามเป็นจริงก็ถอน "ความเห็น" นั้นออกมาเสีย ถอนความเห็นผิดออกซะ เอาความเห็นถูกเข้าไปใส่ไว้ ถ้าเห็นไม่ชัดเกิดขึ้นมาก็ข่มมันไว้ สอนมันไปเรื่อยๆ ทำอย่างนี้แหละนักปฏิบัติของเรา
เรื่องเท่านี้แหละปฏิบัติเพื่อพ้นทุกข์ ไม่ต้องการมรรค ไม่ต้องการผล ไม่ต้องการสรรค์นิพพานอะไรหรอก ต้องการแต่ใจของเรามันพ้นจากทุกข์เท่านั้น พ้นทุกข์ แล้วก็พ้นสุข พ้นร้อน พ้นเย็นถึงความสงบ ความสงบมันเป็นอย่างไร ความสงบคือ ถ้าเป็นวัตถุก็เป็นสิ่งที่ไม่ต้องแก้ไขอีก ทุกข์ก็มีสิ่งแก้ไข สุขก็เป็นสิ่งแก้ไขสงบ หมด "สงบ" ท่านหมายถึง "ว่าง" "ว่าง" จึงว่าความสงบ สงบจากสุขหรือทุกข์อันนั้น ที่นั้น ว่างจากสุข ทุกข์ ที่สงบหมด เรื่องแก้ไขไม่มีที่แก้ไขมันอีก
ฉะนั้นในที่นั้นท่านจึงว่าหมดจาก "ภพ" หมดจาก "ชาติ"หมดจากความแก่ ความเจ็บ ความตาย ไม่มีที่แก้ไขอีก เหมือนกันกับแกงของเรา ถ้ามันพอดีแล้วก็ไม่ต้องแก้ไขมัน ถ้ามันจางก็มีที่แก้ไข ถ้ามันเค็มก็มีที่แก้ไข ใจก็เหมือนกัน ถ้ามันสุขก็มีที่แก้ไขถ้ามันทุกข์ก็มีที่แก้ไข ถ้ามันสงบแล้วหมดเรื่องแก้ไข โลกจะแก้ไขไม่ได้ เพราะลักษณะนั้นไม่มีเรื่องเปลี่ยนแปลงอีกแล้ว ไม่มีที่เปลี่ยนแปลง เหมือนอาหารที่มันพอดีแล้วเป็นต้น ไม่มีที่เอาออกอีก ไม่มีที่เพิ่มเข้าไปอีก หมดความรู้ของแม่ครัวที่จะต้องปรุงแต่งอีกต่อไปฉันใด ถึงความสงบแล้วหมดสังขารที่จะเข้าปรุงเข้าแต่งมันจะปรุงแต่งได้เพราะมีตัวมีตน มีเรามีเขา มีสุขมีทุกข์เท่านั้น ถ้าถึงที่นั้นแล้วไม่มีที่แก้ไขแล้ว หมดที่แก้ไข ฉะนั้นสภานที่นั้นจึงไม่มีที่จะพูดเปรียบให้ฟัง บางก็ว่าเป็นของสูญบ้าง เป็นของว่างบ้าง เป็นของสงบ หลายอย่างอยู่ที่นั้น แต่ไม่มีสีสันวรรณะต่างๆนานาไม่ได้เปรียบเทียบว่าอยู่ไกลอยู่ใกล้ อยู่นอกอยู่ใน ไม่ได้ว่าไม่มีที่เปรียบ ลักษณะที่เปรียบเทียบได้คือคนพูดกัน คือสมมติบัญญัติลักษณะอันนั้นไม่มีที่จะไปเปรียบเทียบได้ ดังนั้นธรรมนั้นจึงเป็นธรรมที่เป็น "ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ วิญญูชนจะรู้ได้เฉพาะตน"
เหมือนกันกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือสาวกขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เข้าไปเห็นแล้วเป็นของรู้เฉพาะตนเองธรรมนั้นประกาศไม่ได้ ธรรมนั้นแสดงไม่ได้ เอาให้ไม่ได้ ธรรมนั้นเป็นปัจจัตัง ใครเข้าถึงก็เห็นเองรู้เอง นอกนี้ไปมีแต่ให้อุบาย บอกทางให้เข้าไปถึง บอกทางให้เข้าไปเห็น ผู้ใดเดินตามไปก็ไปเห็น เหมือนกับวัดเรานี้แหละ ชี้หนทางมา เราก็มาเองเรา ถ้าเราไม่มาแล้วจะชี้บอกเท่าไรก็ไม่เห็น ถึงแม้คนบอกจะมาสักกี่ครั้งก็เห็นแต่ผู้บอก ผู้ที่เขาบอกแล้วไม่มาก็ไม่เห็นสักที ถึงจะบอกพันครั้งก็ไม่เห็นพันครั้ง ถ้าจะเห็นต้องมาเอง
ข้อปฏิบัติก็เหมือนกันฉันใด ฉะนั้นจึงเป็นเรื่องของเราที่จะปฏิบัติเอง รู้เอง ทำเอง เห็นเอง
ฉะนั้นนักปฏิบัติ จะต้องเป็นบุคคลใจแน่นอน เป็นคนใจเยือกเย็น เป็นคนใจใหญ่ใจกว้าง ขนาดนั่งอยู่ด้วยกันเอามะเหงกใส่หัวป๊อก! ก็ไม่ได้สนใจเลยกับสิ่งเหล่านี้ ผมสามารถที่จะสอนหมู่ก่อนเริ่มจะสอน จะสอนหมู่เพื่อน ผมตัดสินใจตัวเองแล้วว่า ถ้าสอนไปเขาลุกขึ้นเตะผมก็จะยอม นี่จึงสอนคนได้นะ ต้องหนักแน่น
เรื่องกับหมู่กับพวก เรื่องลูกศิษย์ไม่ใช่ของง่ายๆกับสิ่งเหล่านี้ เรื่องที่มันจะเป็นไป เรื่องเล่นกับคนบ้า มันไม่รู้เรื่องเพราะคนบ้า เอาทั้งขี้เอาทั้งเยี่ยวแหละปาใส่เรา เรื่องมันเป็นไปได้ เรื่องเล่นกับคนบ้าก็ต้องเป็นคนดีรักษาคนบ้า จะสอนหนังสือ ก็ต้องคนได้หนังสือจึงสอนได้ พวกเราเหมือนกันพยายามสอนตัวเอง สอนตัวเองให้ได้ สอนตัวเองไม่ได้ก็สอนคนอื่นตกนรก เพราะอะไรล่ะมันเดือดร้อน ฉะนั้นการปฏิบัติธรรมก็คือดังกล่าวมาแล้วนั้นเองแหละ ถึงแม้เราจะไปไหนก็เหมือนกัน ไปหาครูบาอาจารย์ที่ใดที่หนึ่งเหมือนกันแค่นั้นแหละ คงจะได้อ่านหนังสือ สาวกทั้งหลายครั้งพุทธกาล บางองค์ก็ไปฟังเทศน์อาจารย์องค์นี้บ้างอาจารย์องค์นั้นบ้าง เอามาพิจารณาแล้วอาจารย์นั้นก็ไม่เหมือนอาจารย์นี้ อาจารย์นี้ก็ไม่เหมือนอาจารย์นั้น แม้กระทั่งความเห็นของเราก็ไม่เข้ากับอาจารย์นั้นวุ่นวาย เมื่อไปกราบพระบรมศาสดาไปพูดให้ท่านฟังท่านว่า
เออ!...ท่านบอกว่า "อดีตล่วงมาแล้วอย่าเอามาคำนึงถึง อย่าเอามาหมาย อนาคตยังมาไม่ถึงให้ทิ้ง ดูปัจจุบันเดี๋ยวนี้แหละความบริสุทธิ์ ไม่บริสุทธิ์ก็ตาม ดูเดี๋ยวนี้ ดูปัจจุบันขณะนี้ ดูใจประกอบอารมณ์ขณะนี้ ดูความโลภจะเกิดขึ้นขณะนี้ ดูมันเกิดขณะนี้ ดูมันดับขณะนี้ รู้มันเดี๋ยวนี้ ดูขณะนี้อย่าไปดูเมื่อวานนี้เมื่อก่อนนี้ ปีหน้าโน้น ให้ดูเดี๋ยวนี้ ให้ลงที่นี่การปฏิบัติของเรา ทิ้งอดีตแล้วก็ทิ้งอนาคต แล้วก็ดูปัจจุบันเท่านี้แหละเราจะผ่านไปทำไมให้มากมาย ดูนี้แหละ ดูอยู่นี่ในปัจจุบันนี้ วันนี้เกิดขึ้นมาก็ ดูนี่ พรุ่งนี้มะรืนนี้ก็ไม่พูดถึง ดูใจของเราวันนี้แหละ ขณะถูกอารมณ์ก็แก้มันไปปัจจุบันเรื่อยๆ ความบริสุทธิ์อยู่ตรงปัจจุบันนี้อนาคตก็ไม่บริสุทธิ์ อดีตก็ไม่บริสุทธิ์ บริสุทธิ์ในปัจจุบันนี้เท่านั้นความยึดมั่นหมายมั่นในปัจจุบันก็เป็นทุกข์ใจปัจจุบัน ไม่บริสุทธิ์เดี๋ยวนี้
ดังนั้นท่านจึงว่าความบริสุทธิ์อยู่ที่ปัจจุบัน "ปัจจุบันธรรม"ของเรา ไม่ต้องไปสนใจทำผิด ทำชั่ว ทำดี ทำร้ายมาในอดีตก็ตามปล่อยไป อนาคตก็ปล่อยมันไป ดูแต่ปัจจุบัน
เหมือนเสาบ้านตัดต้นออกตัดปลายออก ถากเสา ทิ้งต้นทิ้งปลายเอาแต่ตรงกลางมัน มาปฏิบัติก็เหมือนกัน อย่าไปเอาอดีตมาคำนึง เอาอนาคตมาคำนึง ดูปัจจุบบันเท่านั้นแหละ เท่านี้ก็เข้าหนทางเท่านั้น ไปรูปไหนก็ช่างมันเถอะ ครูบาอาจารย์ที่ไหนก็ช่างท่านบอกให้เราทำเอาเองทั้งนั้นแหละ
เมื่อคราวปฏิบัติได้สองพรรษาผมจึงหายสงสัยในการปฏิบัติไปฟังธรรมท่านอาจารย์มั่น ท่านเทศน์ให้ฟัง ท่านบอกว่า "ให้เราทำเอา" เรื่องของมันเป็นอย่างนี้ เรื่องให้เราทำเอาปฏิบัติเอาอย่างนั้นๆ
บอกให้เรากินน้อย นอนน้อย พูดน้อย ท่านก็บอกให้ทำเอาถ้าเราไม่ไปทำก็ไม่เป็นเท่านั้นแหละ ถ้าเราทำก็เป็น เพราะท่านบอกไว้แล้ว ครูบาอาจารย์ท่านก็บอกเท่านั้น เราก็ทำเอาเท่านั้นเอง ผมไม่ได้ฟังมากเท่าไร ทำเหมือนท่านพูดท่านว่าทำเอา มันมักมากทำให้มันน้อยลงไป ปฏิบัติเข้าไป มันติดเพื่อนก็หนีจากเพื่อน หลีกจากหมู่ ใครพาพูดมากก็ไม่ยุ่งด้วย ไปหาคนพูดน้อยโน้น อยู่คนเดียว ใครพูดไม่ได้สาระประโยชน์พาร่าเริงก็หนีไม่คบ อารมณ์เหมือนกัน ไม่ว่าแต่เพื่อนข้างนอก แม้มันเกิดมาในใจก็เหมือนกัน มันจะพายั่วยวนไปนั่นไปนี่...เลิก...ไม่เอาด้วย นี่...มันต้องรู้อยู่อย่างนี้การปฏิบัติ ฉะนั้นจึงหายความสงสัยในการฟังธรรม หายสงสัยเพราะรู้หมดหรือ? ไม่...ไม่รู้หมดหรอก รู้แต่ว่าท่านเทศน์ให้เราฟัง ท่านให้ทำเอาเองเท่านั้นแหละ ก็มาทำเอาเท่านั้นแหละ ถ้าคนจะทำไม่ยาก การปฏิบัติทำมันลงไป "ไม่ดีให้มันตาย ไม่ตายก็ให้มันดีซะ" เอาชีวิตแลกเอาเท่านั้นแหละ เกิดมาชาติเดียวจะเอาไปทำไมอีก กำลังวังชายังแข็งแรงทำเอาปฏิบัติเอา
ฉะนั้นผมจึงไม่มีใครแนะนำอะไรมากเท่าไรหรอก ถ้าไปปฏิบัติมันเกิดขึ้นมาหมด ไปนั่งอยู่ที่ไหนก็มีสิ่งชอบอยู่อย่างนั้น ใจมันผ่องมันใสอยู่ ไม่รู้ว่ามันมีสิ่งอันใดล่ะ นั่งพิจารณา น้อยที่สุดที่จะนั่งหลับ มันมีสิ่งหาดู มีสิ่งพาปฏิบัติอยู่นั่นแหละ ถ้ามันพรากจากข้อวัตรจะให้โทษมันมาก บุกมันเข้าไป น้อยๆหนุ่มๆอย่างนี้ ถ้ามันคิดอยากไปทางโลกโลกาแล้ว เอา!...บุกมันเข้า อดอาหารบ้าง ทำอะไรต่างๆนานาพยายามมัน บางทีไม่มองดูหน้าคนเลย ดูแต่พื้นดิน หน้าผู้ชายผู้หญิงไม่มองดู ถ้ามองดูหน้ามันก็ มองดูตา มองดูหมด มันจะสามชามไปถ้าปล่อยตามมัน มันรวมไม่ได้ ถ้าดูหน้าตาเฉยๆมันก็ยังดีอยู่ พูดถึงเรื่องของผมหรอกมันชั่ว ถ้าไปดูหน้ามันก็ดูก้นดูอะไรไปโน้น ให้มันดูแต่พื้นดิน ไม่ให้มันดูผู้หญิงผู้ชาย หัดอย่างนั้นแหละเรา อันนี้บางทีหนีตัวเองไปไหนก็ไม่รู้ เดือดร้อนกระวนกระวาย เราไม่ได้ทรมานมัน ไม่ได้ฝึกหัด จับมันดูอดีตอารมณ์ ปัจจุบันอารมณ์ เอามาพิจารณา
อันเก่ามันเกิดขึ้นมาพยายามให้มันหายไป อันใหม่อย่าให้เกิดขึ้นมาอีก ถ้ามีแต่อันเก่าไม่สำรวมมันอดีตอันใหม่ไม่ให้เกิด มันก็หมดเป็นซิ อันใหม่ไม่เกิด เกิดแต่อันเก่า อันใหม่ไม่เกิดมันก็หมดได้ ถ้าเรานั้นอันเก่าก็เกิด อันใหม่ก็วุ่นวายเข้าไม่รู้ว่าอะไรเกิดบ้าง ทั้งใหม่ทั้งเก่าวุ่นวาย เป็นไปเท่านั้นแหละ เพราะไม่รู้จักการปฏิบัติ