เรื่องความดีความชั่วมันไม่จบ มันยังเป็นโลกมันก็ไม่จบถ้ายังไม่จบมันก็ไม่ว่าง ถ้าไม่ว่างเราก็ได้แบกมันไว้ ถ้าเราแบกมันไว้นะ เราหนักเราก็มองเห็นโทษมันได้ง่ายๆ เพราะเราแบกมันอยู่นะ บางคนเห็นว่าคนอื่นแบก...เราหนัก เคยมีไหม คนอื่นเขาแบก...เราหนัก ตรงนี้แหละมันน่าคิด เราแบกเองเราหนักเองมันก็คิดได้นะ พอคิดได้ อันนั้นคนอื่นเขาแบก...เราหนัก คนนั้นทำผิดแล้วมัง...ไม่สบายแล้ว คนอื่นแบก...เราหนัก เคยมีไหม...ดูดีๆนะ เราแบกเองเราหนักเอง ค่อยยังชั่วมันเห็นง่าย คนอื่นแบก...เราหนัก นี่น่ะมันไม่ค่อยจะเห็นตัวเรานะน่าจะให้คนแบกนั่นแหละหนัก หรือว่าอย่างไร ถ้าพูดตามความเป็นจริงมันเป็นอย่างนั้น โดยมากมันเท่ากันเสียแล้วหรือจะมากกว่าก็ได้
เราแบก...เราหนัก คนอื่นเบา...เราก็หนัก มันหนักสองต่อ เขาแบกเราก็หนัก เราแบกเราก็หนัก จะทำอย่างไรดีมันเป็นเสียอย่างนี้ เราควรย้อนคิดดูว่าชีวิตมนุษย์มันเป็นอะไรยังไง มันผสมผเสกันอยู่ เราไม่รู้จักเลือกจักถอนออก มันก็เป็นอย่างนี้แหละ ถ้าตรงไปแล้วก็เราแบก...เราหนักก็ดีกว่านะ มันสำคัญที่คนอื่นแบกเราไม่ควรจะหนักนี่ อย่างนั้นจะต้องอดทน
เรื่องที่มันอดทนทั้งนั้นไม่มีเรื่องอะไร ทางธรรมะท่านเรียกว่า ขันติ...ความอดทน มันเป็นแม่บทของธรรมทั้งหลายทั้งปวง ทุกคนจะต้องอยู่ในความอดทนทั้งนั้นแหละ อดทนได้ความดี แต่เมื่อได้ความดีแล้วก็หลงดีอีก มันก็แปลก มันน่าจะจบเรื่องของมัน ได้ดีมาแล้วก็หลงดีอีก ดีก็พาเราทุกข์อีก ดีกับชั่ว รักกับเกลียดนี้มันไม่พ้น...มันน่าคิด ธรรมะนี่คิดๆในใจเจ้าของแล้วก็แก้ตัวเรานะ
ทีนี้ถ้ามันทุกข์ก็ไปให้คนอื่นแก้ คนอื่นแก้ทุกข์ให้เราไม่ได้อธิบายทางให้เราแก้ทุกข์เท่านั้น เรื่องจะแก้จริงๆ เรื่องพ้นทุกข์จริงๆ เป็นเรื่องของตนเอง พระบรมครูของเราเรียกว่า อักขาตาโร ตถาคตา...ตถาคตเป็นแต่ผู้บอก บอกให้ยกอันนั้นอันนี้ ยกอันนี้ไปโน้น...บอกเท่านี้ ว่ายน้ำจะต้องทำอย่างนั้นไมใช่ตถาคตไปว่ายให้ ถ้าตถาคตไปว่ายให้เราก็จมน้ำตายเท่านั้นแหละ มันเป็นอย่างนี้
ความทุกข์ทั้งหลายนั้นก็เรานั่นแหละสร้างขึ้นมา...แต่ให้อดทน เห็นอยู่ว่าตรงนี้มันหนัก แต่เราอยากได้มัน ไปยกมันก็หนักจริงๆ เมื่อหนักก็ต้องอดทน มันก็เป็นอยู่อย่างนี้ อย่างเราเมื่อศึกษามา เมื่อเราเป็นนักเรียน เห็นผู้ใหญ่ดูเหมือนจะสบายเห็นคนนี้ทำอย่างโน้นอย่างนี้ เห็นจ้าวนายครูบาอาจารย์ ก็นึกในใจว่าจะสบาย เราก็อยากเป็นอย่างนั้นบ้าง...เลยพยายามจนเป็นขนาดนี้แล้วยังมีทุกข์อยู่ ยังมีความลำบากอยู่ คือมันยังไม่พ้น อยู่ข้างนี้ก็ยังไม่พ้นอีก ก้าวไปข้างหน้าอีกก็ดูมันจะพ้นแต่ไปอีกยิ่งหนักเข้าไปเรื่อยๆ เหมือนกับคนแก่เราน่ะมันคิดไม่มากหรอก โตขึ้นมามันคิดกว้างคิดมาก มีความฉลาดมาก ไป ช่วยเขาหมด ทั้งนั้นแหละ คนทั้งบ้านน่ะเราฉลาดคนเดียว ก็เลยทุกข์คนเดียว ความคิดของคนก็ต้องเป็นอย่างนั้นคือหมายความว่ามีมากก็ต้องแบกมากยึดมาก
ความเป็นจริงนั้นการกระทำอะไรทุกอย่าง ถ้าให้รู้จักหน้าที่กันทุกคน แล้วมันก็ไม่มีเรื่องอะไรนะ สบาย ความสบายมันมีอยู่ แต่อยู่ในคนส่วนมากมันก็ต้องเป็นอย่างนี้ สถานที่นี้ท่านเรียกว่าโลก โลกท่านแปลว่า ความมืด โลกเจริญก็คือมืดเจริญนั่นเอง แหม...โลกมันเจริญ เจริญมันก็มืดเจริญขึ้น
อย่างวัดอาตมาแต่ก่อนไฟฟ้าไม่มี ก็ไม่เห็นว่ามันสว่างหรือมันมืดนะ ถ้ามีไฟฟ้ามาแล้วเห็นจะสบาย มีน้ำก็สบาย โอ้...ไฟฟ้ามันก็ไม่เกิดมาเองหรอกนะ ก่อนจะมีไฟฟ้ามันต้องเสียอะไรมากๆ ก่อนจะมีน้ำมันก็ต้องเสียอะไรไปมากๆ จะต้องลงทุนทั้งหมด มันก็เกิดจากความลำบาก ที่มันสว่างแล้วน่ะมันก็ยังไปปิดใจของเราให้มืดอีก ที่มันสะดวกแล้วมันก็ไปปิดใจให้เรามันมืดอีก คนเราถ้ามันสะดวกสบายแล้วยิ่งมักง่าย
สมัยก่อนบ้านเมืองเราก็ยังไม่เจริญ ทำส้วมอยู่โน้นในป่า...อุตส่าห์ไป เดี๋ยวนี้ไม่ได้ ที่นอนอยู่นั่น ต้องทำส้วมอยู่ที่นั้น ขนาดนั้นก็ยังไม่สบายอยู่อีก จะให้มันสบาย สะดวก มันก็ไม่สะดวกนะ มันสบายมากเกินไป ก็เลยประมาทกันเสีย อยากจะให้มันยิ่งขึ้นไปกว่านั้นอีก มันก็ไม่พอสักที แล้วก็บ่นว่ามันทุกข์ทุกข์ใครสร้างขึ้นมามองไม่เห็น ว่ามันเป็นเพราะอันนั้นๆ มันเป็นเพราะอันนี้ (หลวงพ่อท่านเอามือชี้ที่ตัวของท่านประกอบ)ไม่เคยชี้เข้ามาเลย ต้นตออยู่ตรงนี้ไม่เคยชี้เข้ามา มันก็ไม่กระจ่างเท่านั้นแหละ ว่าแต่คนโน้นๆ ชี้ออกไปทางโน้น ก็ไปเห็นของข้างนอกโน้น ไปแต่งของข้างนอกเรื่อยๆไป อันนี้ไม่ค่อยแต่งจิตใจไม่ค่อยแต่งกัน
บ้านสกปรกเราก็เห็นได้ ทำสะอาดบ้านเราก็ทำได้ ถ้วยจานมันเลอะเทอะไม่สวยงามเราก็เห็นได้ เราล้าง...มันก็สะอาดได้ แต่ว่ามันสะอาดแต่บ้านแต่ถ้วยจาน ใจไม่สะอาดหน้าบูด หน้าเบี้ยวบ่นอยู่อย่างนั้น ไม่เห็นตัวเราทุกข์ อันนี้ก็น่าสงสารตัวเองเหมือนกันนะ ถ้าคิดแล้วมันเป็นเสียอย่างนี้
ถ้าเราพยายามกวาดพยายามเช็ดทำสะอาดเหมือนถ้วยจานบ้านเรา เราก็คงอยู่กันสบาย อันนี้เราไปเช็ดของที่ไม่รู้เรื่องถ้วยมันสกปรกก็เฉย ถ้วยมันสะอาดก็เฉย มันเฉยทั้งนั้น ของที่ไม่รู้เรื่องเราไปทำสะอาด ทำไม่ถูกจุดมันๆจะใสขนาดไหนใจเราก็ไม่รู้ไม่เห็น มันก็สกปรกอยู่ตรงนั้นแหละ
เราไม่พยายามดูจิต ชอบแต่จะตามใจมัน ถ้าพูดภาษาโลกแล้วก็เรียกว่า ตามอารมณ์ อารมณ์ของคนนี่จิปาถะที่มันจะเป็นไป ในครอบครัวของเราวันนี้รักกัน แต่พรุ่งนี้เกลียดเหลือเกิน ลูกเราวันนี้เรารัก พรุ่งนี้มันเกลียด ทำไมมันเป็นอย่างนั้นทำไมไม่คงที่อย่างนั้น ทำไมเป็นอย่างนี้ นี่เรียกว่าใจเราไม่ฝึกหัดจึงหาความสงบไม่ได้
ความรักทำให้เกิดทุกข์ ความเกลียดทำให้เกิดทุกข์ ได้น้อยเกินไปก็เกิดทุกข์ ได้มากเกินไปก็ทุกข์ เราจะอยู่ที่ไหนกันโยม หาที่อยู่แล้วหรือยัง ทำไมไม่มองหาที่อยู่ของเขาล่ะ เราพยายามสร้างอะไรต่ออะไรมานี่หลายปีหลายเดือนมาแล้ว เพื่อหาความสงบเพื่อหาความสบาย ทำไมถึงขนาดนี้เราก็ยังไม่สบายกัน ไม่ใช่ว่าเราทำไม่ถูกกันหรือ
พ่อบ้านแม่บ้านอยู่ร่วมกันมันไม่น่าจะทะเลาะกันนะ ทำไมทะเลาะกัน บางวันอยากจะลุกหนีไปตอนกลางคืนเลย แต่ว่าพรุ่งนี้กลับมาอีกแล้ว มันลำบากโยม อาตมาเห็นว่าที่อยู่ของเราจริงๆน่ะ เราไม่ค่อยจะหากัน ไปเช็ดที่อื่นไปถูที่อื่น ไปทำความสะอาดที่อื่น ไม่ทำใจเราให้มันสะอาด มันก็ยุ่งอยู่เรื่อยไปอย่างนี้แหละมันชี้ไปแต่ข้างนอก พระพุทธองค์ท่านสอนว่า โอปนยิโก...น้อมเข้ามาให้มันเห็นกับจิตของเรา น้อมเข้ามาให้เห็นใจของเรา
แต่ทุกวันนี้มีแต่บังคับ...เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมีมะม่วงหวานหรอก มะม่วงอกร่องนี่พื้นเดิมมันหวานนะ เดี๋ยวนี้เขาบังคับมันไม่แก่เฒ่าเขาเอามาบ่มเสียแล้ว...เขาต้องการเร็ว เอามาทานมันก็เปรี้ยว มะม่วงเมืองอุบลฯ นี่ไม่ค่อยหวาน...เขาบังคับมัน คือไม่ทันกับความอยากของคนเรา...ไปบีบมันเข้า ไอ้ของดีๆหวานๆก็ให้มันเปรี้ยวไป ของอะไรก็ให้มันเปรี้ยวไป ให้มันผิดปรกติของมันไป แล้วบ่นว่ามันเปรี้ยว ทำไมมันจึงเปรี้ยว มะม่วงไม่แก่เอามาบ่ม...มันก็เปรี้ยว ทำไมไม่ทำใหม่ล่ะ...มันก็เป็นอย่างนี้แหละ
โดยมากมีแต่ของปลอม ไปยึดมั่นถือมั่นของที่มันปลอมแปลงไม่แน่นอนไปยึดว่ามันเป็นของจริง พระพุทธเจ้าให้เห็นสัจธรรมคือความจริง ของที่มันไม่ปลอมก็คือของแท้อย่างนี้ เดี๋ยวนี้แทบจะหลงกันหมดแล้ว ของจริง ของไม่จริงไม่รู้เรื่องก็เลยเป็นกันไปอย่างนั้น มันก็เกิดความรู้สึกนึกคิดหลายๆอย่างสิ่งที่มาดัดแปลงมาปลอมแปลงให้มันเหมือนของจริงอย่างนี้มันก็เป็นไป อันนี้ก็เหมือนกันฉันนั้น พระพุทธเจ้าท่านเรียกว่า เป็นโอปนยิโก น้อมเข้ามาให้จิตของเรามันเห็น ถ้าจิตเราไม่เห็น ถ้าจิตเราไม่เป็นมันก็เป็นไปอย่างนี้แหละ ไม่มีทางที่จะสว่าง
เรามีลูกมีหลานก็รักลูกรักหลาน รักลูกรักหลานก็ให้วิชาความรู้มันให้คำแนะนำมัน ตอนเช้าเราก็สอนมันตอนเย็นเราก็สอนมัน สอนไปเรื่อยสอนไม่หยุด เพราะรักลูกกลัวมันจะไม่ดีสอนทุกวันสอนทุกเช้าทุกเย็น สอนนานๆ ลูกก็เข้าใจว่าพ่อแม่จู้จี้จุกจิก แต่พ่อแม่เข้าใจว่าสอนลูกให้มันดี เอาละไปคนละแง่แล้วทีนี้ ยิ่งสอนเข้าไปเถอะ ยิ่งไม่ฟังก็ยิ่งสอนมัน อยากจะให้มันดี ลูกก็ยิ่งวุ่นวายยิ่งขัดใจ บางทีหนีจากบ้านไปเลย ไม่ต้องเรียนหนังสือก็ได้ มันบอกผม...พ่อแม่จู้จี้จุกจิกเหลือเกินอยู่ไม่ได้ แต่มาถามพ่อแม่...ฉันอยากจะให้มันดี อยากจะให้มันเป็นบุตรที่ดี ได้การงานที่ดี ได้วิชาที่ดี พ่อแม่คิดไปอย่างหนึ่งไปถามลูกว่ายังไง พ่อแม่จู้จี้จุกจิกมาก มันเห็นไปคนละทางอย่างนี้
อย่างนั้นเราจึงหนักใจกับลูกกับหลาน กับพ่อกับแม่ก็เป็นกลุ่มเดียวกันทั้งนั้นแหละ มันเกิดรบกันทางใจ บางคนมีพ่อมีแม่ลูกคนเดียวก็รักคนละอย่าง พ่อรักเพื่อจะให้มันประหยัดให้มันอดทน แม่นั่นรักเพื่อจะป้อนอาหารให้มันสมบูรณ์อย่างนี้มันขอแล้วก็ให้มันไปเถอะ พ่อบอกหยุดๆ จะทำให้เด็กเสีย...อย่า ทำไมเป็นอย่างนั้น นานๆไปลูกไม่เป็นอะไรก็พ่อแม่ทะเลาะกันอีกเสียแล้ว มันชอบจะเป็นอย่างนี้ อันนี้ก็เหมือนกัน เราทำการงานก็ให้รู้จักหน้าที่การงานของเราทุกๆคน
แต่ว่าคนส่วนมากให้เหมือนกันทุกคนก็ไม่เหมือนหรอกพระท่านบอกว่าเป็นครูเป็นอาจารย์คน...อย่างอาตมานี่ อย่างโยมนี่ชอบอยากจะเป็นเปรต...เปรตอะไร...เปรตอย่างละเอียด...เปรตยังไง อาตมาจะเล่านิทานให้ฟัง ก็น่าฟังเหมือนกันนะ ไม่อยากจะเล่าหรอกมันยาว แต่ว่าควรจะเล่าก็เล่าให้ฟัง
จะพูดสั้นๆ ให้มันคุ้มแต่มันทำไม่ได้นะ ท่านบอกว่า...มีคนๆหนึ่ง เป็นคนที่ใจบุญสุนทร์ทาน ตั้งแต่เป็นฆราวาสอยู่อะไรจะเป็นบุญอะไรจะเป็นกุศลแกพยายามไปทำ แกก็ทำให้มันดีทำให้มันละเอียดทุกอย่างแหละ วางของที่นี่วางไว้ตรงนี้ ตรงนั้น วางไว้ตรงนั้น ถ้าลูกหลานจับมาเคลื่อนก็บ่นเสียแล้ว...ไม่สบายใจนะ ไม้กวาดต้องวางตรงนี้ กาน้ำวางตรงนั้น เมื่อใคร มาทำให้ผิดหวัง...ทุกข์เสียแล้ว
แต่แกเป็นคนละเอียดดี ใจบุญ เป็นระเบียบ วันหนึ่งก็คิดได้ เห็นศาลาในป่าที่คนไปพักอยู่ใต้ร่มไม้ก็คิดว่าเราจะมาสร้างศาลานี่ก็ดีเหมือนกัน เราจะได้บุญ พ่อค้าพ่อขายไปมาจะได้พักผ่อนหย่อนใจ จะได้มีความสุขสบาย คิดแล้วก็ไปทำๆอย่างดีอยู่ในป่าเพื่อให้คนพัก เมื่อทำเสร็จแล้วต่อไปแกก็ตายวิญญาณไปเกาะอยู่ที่ตรงนั้น คือมันเกาะแต่เมื่อมีชีวิตอยู่น่ะเมื่อสร้างศาลาแล้วแกก็พยายามไปดู มันสกปรกที่ไหนคนมาพักนี่มันเป็นอะไรยังไง ้ถาคนทำไม่ดีแล้วแกก็ใจไม่ค่อยดี ถ้าคนทำดีแกก็ใจสบาย เพราะแกเป็นคนใจบุญสุนทร์ทาน ละเอียดเจ้าระเบียบ
อีกวันหนึ่งพ่อค้าเกวียนมาหลายร้อยเลยมาพัก เมื่อกินข้าวแล้วก็นอนกันเป็นแถว เจ้าของศาลาเป็นเปรตก็มามองดูมันเป็นระเบียบหรือเปล่า...ย่องมาดู มาดูทางศีรษะมันก็ไม่เสมอกันเสียแล้ว บางคนสูงๆ บางคนต่ำๆ มันยุ่งหัวใจเหลือเกิน จะทำอย่างไรดี ก็มาดึงทางเท้าให้มันลงไปให้ศีรษะมันเสมอกัน ดึงไปสุดแถวพอใจแล้วเรียบร้อย ต่อมาๆดูทางเท้าอีก อ้าวไม่เสมอกันอีกแล้ว ก็ไปดึงศีรษะขึ้นไปอีกให้มันเสมอกัน เมื่อเสมอกันดีแล้ววนไปรอบๆ ไปดูทางศีรษะ อ้าวไม่เสมอกันอีก...เปลี่ยนอีก ยุ่งจนกระทั่งดึก จนทอดอาลัย มันเป็นเพราะอะไรหนอคน เท่านี้แหละ คนเรามันหลง...ไม่หลงมากหรอกหลงเท่านี้เปรตมันหลงแล้ว
ก็เลยมานั่งคิดดูว่า อ้อ...คนมันสั้นยาวไม่เสมอกัน ความสั้นความยาวของคนไม่เสมอกัน ก็มารู้สึก เอ้อ...วางเสียมันอย่างนี้แหละคนเราเพราะมันสูงมันต่ำไม่เสมอกันอย่างนั้น แกก็เลยวาง...เพราะเห็นอะไร เพราะเห็นว่าคนมันไม่เสมอกัน แต่ก่อนเห็นคนให้มันเสมอกัน คนไม่เสมอกันทำให้เสมอกัน มันเสมอไม่ได้ แกก็เป็นทุกข์มานั่งคิด เออ..ความจริงคนมันเป็นอย่างนั้น คนมันสั้นมันยาวไม่เสมอกัน มันจึงเป็นอย่างนี้ พอเห็นได้เช่นนี้ก็สบายเลยนะ สบายใจ
พวกเราก็เหมือนกันไปเห็นเหตุมันแล้วก็ไม่เห็นเหตุมันเป็นอย่างนั้น การจะทำให้มันเสมอกันอย่างนั้นหมดปัญญาที่จะต้องคิดแล้วเพราะมันแก้ไขไม่ได้ มันจะไปตัดแข้งตัดขาเขามันก็ไม่ได้ ก็ต้องปล่อยให้เป็นอย่างนั้น นี่เรียกว่าความยึดมั่นอุปาทานจะให้มันเหมือนๆกัน พวกเรานี้ก็เช่นกัน ต่างคนต่างมีธุระหน้าที่ก็คงจะไม่เสมอกันหรอกนะ บางคนก็ช้าไปบ้าง บางคนก็เร็วไปบ้างสารพัดอย่าง มันเลยเกิดยุ่งยากเหมือนเปรตนี่ เราก็ชอบอยากจะไปเป็นเปรตอย่างนั้น
บางทีอาตมาก็เป็นเปรตเหมือนกัน แต่มันรู้สึกง่ายหรอกอ้าว...มันเป็นเปรตแล้วนี่เรา...เลิก...อย่างนี้....ทำไม...เพราะอาศัยลูกศิษย์ลูกหาน่ะ อยากจะให้เขาดีทำเป็นระเบียบเรียบร้อย บางทีก็เป็นทุกข์ ทุกข์แล้วก็รู้ว่าเออ...เราเป็นเปรตแล้วสอนเจ้าของไปเรื่อยๆ อย่างนั้นมันก็ยังเกิดเป็นเปรตอยู่บ่อยๆเหมือนกัน ไม่ค่อยยอมง่ายๆ จะต้องทำจนชำนาญๆไป ให้มันรู้เหตุรู้ผลมันจริงๆ
ดังนั้นเราจึงปล่อย คนนี้ทำอย่างนั้นคนนั้นทำอย่างนี้ก็ปล่อยก็วางไปเรื่อยๆ ทำไม...มันไม่เป็นเพราะเขามันเป็นเพราะเราเข้าใจไหม ใจเรามันไม่สะอาด นึกว่ามันเป็นเพราะคนนั้นคนนี้....ไม่ใช่ มันเป็นเพราะเรา คนไม่เสมอกัน เราอยากให้เสมอกัน เราคิดผิดอย่างนี้จะไปแก้ตรงไหน...ก็แก้เราสิ เห็นว่ามันเป็นเช่นนั้นแล้วก็สบาย พวกเราในกลุ่มเดียวกันนี้ก็เหมือนกันอย่างนั้น
บางทีโดยมากก็พวกนักเรียนในโรงเรียนใหญ่ๆ เอานักเรียนมาให้หลวงพ่อสอน แหม...นักเรียน มันสอนยากเหลือเกินเจ้าค่ะ จะทำยังไง...มันดื้อ มันก็จริงอย่างนั้น อาตมาก็มาสอนนักเรียนสอนไปด่ามันไปเลยรับ...มันรับ สอนเด็กนักเรียนจบแล้วก็วกหันมาหาครูเรา ครูเราเป็นอย่างไรกันเล่ามีกี่คน...มี๕๐ คน ๓๐ คนเป็นอย่างไรสามัคคีกันดีไหม หรือเป็นอย่างไรสบายไหม ไม่ค่อยจะพูดนะ...มันเป็นอย่างนี้ ก็ไปโทษแต่เด็กนักเรียนน่ะ ก็เหมือนกับนั่งรถมอเตอร์ไซด์ล้มลง ก็นึกว่ามอเตอร์ไซด์พาเราล้ม ความเป็นจริงเรานั่นแหละพามาเตอร์ไซด์ลงถนน แต่มันพูดไม่ได้
อาตมาเลยสรุปว่า ท่านทั้งหลายน่ะคิดๆให้มันดีเสียนะ อันนั้นมันเป็นเด็กแต่เราเป็นผู้ใหญ่โดยฐานะแล้วเด็กมันผิดก็ควรให้อภัย...มันไม่รู้เรื่องครูใหญ่ๆที่ไปทำผิดไม่ควรให้อภัยเสียแล้ว รู้อยู่ว่าผิดก็ยังไปทำให้มันผิดอยู่นี่น่ะ เรื่องควรรู้เรื่องเราไม่เข้าไม่รู้ เพราะพระพุทธเจ้าท่านสอนว่า สอนไม่รู้ท่านสอนให้รู้ได้ คนรู้แล้วไม่ทำตามที่ท่านสอนไม่ได้หลักมันเป็นอย่างนี้ ในกลุ่มเราคงจะมีมากเหมือนกันใช่ไหม คนไม่รู้พระพุทธเจ้าสอนให้รู้ได้ คนรู้แล้วไม่ทำตามท่านสอนไม่ได้ นี่ท่านจัดเป็นคนประมาท
ทำไมมันจึงเป็นอย่างนั้น ทำไมพวกเราจึงเดือดร้อน มันเดือดร้อนเพราะอันนี้เองเพราะไม่ทันดูตัวเรา ไปดูแต่อย่างอื่นโน้น ไปทำที่อื่นให้มันสะมันสวยให้มันเบิกมันบาน ตัวเราไม่ขูดไม่เกลาไม่สว่างสักทีนะ มันก็ยุ่งเรื่อยไปแหละโยม
มองไปทางไหนมันก็มืด เพราะอะไร เพราะตามันเสียมันมืดเหลือเกิน อะไรมันก็มืดไม่รับรู้สักอย่าง สีแดง สีเขียวไม่รับรู้ เลยไม่เห็น ตัด ปฏิเสธเลยว่าแสงไม่มี อย่างนี้มันก็ใช่ของคนตาบอดนะ ความเป็นจริงมันเป็นเพราะตาเราไม่สว่าง สีมันก็ไม่มี ถ้าตาเราสว่างสีมันก็เกิดขึ้นมา ถ้าเรารู้เรื่องอย่างนี้อันนี้เรามองไม่เห็นอย่างนั้น ดังนั้นเราจะไปทำอย่างอื่นเสียโดยมาก มันเป็นทุกข์
ที่มาประชุมกันวันนี้ไม่เอามากหรอก เอามากมันก็เอาไปอย่างนั้นแหละ อาตมาก็เทศน์ความจริงให้ฟังอย่างนี้ แต่บางทีก็เหนื่อยนะ บางทีข้าราชการบางกลุ่มมาฟังกันอย่างนี้เหมือนเราฟังอยู่นี้ ฟังเสร็จแล้วก็กราบลากลับบ้านก็เดินกันคุยไป แหม...ท่านเทศน์ให้ฟังถูกทุกอย่างนะแต่เราทำไม่ได้ อันนี้อาตมาก็เกือบจะหมดกำลังใจไปเหมือนกัน คล้ายๆเราทำอะไรมามากแล้วโยนลงน้ำเสียหมด
แต่ว่าอาศัยความอดทน อาศัยว่าคนมันไม่เสมอกัน ถ้าอาตมาจะทำความทุกข์ไว้ในใจก็กลัวมันจะเป็นเปรตก็เลยไม่ให้มันเป็น อดทนไว้ พิจารณาไว้อย่างนี้ อันนี้ก็เหมือนกัน ชีวิตของพวกเราทั้งหลายนี้ควรทำให้มันราบรื่น สิ่งที่มันราบรื่นมีอยู่ถ้าพูดถึงการใช้สอยทุกประการแล้วน่ะ โดยมากคนเราบ่นว่าเงินไม่พอใช้ จะได้เท่าไหร่มันจะพอใช้จะทำอย่างไร จะพูดแก้ปัญหาให้ฟังเสียหน่อยหนึ่ง
การหาเงินไม่ลำบากเท่าไหร่ แต่การใช้จ่ายนี่สำคัญมากที่สุด นี่หลักของมัน ท่านสอนนะพระพุทธเจ้าท่านสอนหาเงินโดยวิธีนั้นมันเป็นสัมมาอาชีวะ มีความพากเพียรพยายาม หามาแล้วจงเก็บงำให้เป็นประโยชน์ อะไรควรใช้ไม่ควรใช้อย่าให้ฟุ่มเฟือยไปเสีย อย่างนี้ท่านสอนเหลือเกิน แต่เราไม่ค่อยฟัง ถ้าเข้ากลุ่มแล้วหมดเท่าไหร่ก็เท่ากันไปกันอย่างนั้น
อาหารการอยู่กินน่ะสิ่งที่พอดีๆ...อาตมาไปเห็น"เซ็น"เขาที่เมืองนอก อาตมายังจับใจเลยโยมเขาทำดีกว่าอาตมาอีก เขากินข้าวนะ เขามีถ้วยหนึ่ง ภาชนะหนึ่ง ภาชนะที่สองใส่อาหาร ภาชนะที่สามใส่หวานนะ อาหารเขาก็จับมานี้คลุกเข้ากันแล้วก็ฉัน ฉันหมดแล้ว พอดีแล้ว ก็เอาน้ำเทใส่นั้นมาเทรวมนี่อีก เอาใส่ถ้วยหวาน แล้วมาเทใส่ล้างให้ดีๆ ยกใส่ลงไปหมดเลย แหม...อาตมายินดีเหลือเกิน...ไม่จน เรียบร้อยไม่มีอะไร กระโถนเขาก็ไม่ต้องใช้ ไม่มีบ้วนน้ำลาย ไม่มีอะไรเข้าไปในปากแล้วกินให้หมด แล้วก็นำกระดาษมาเช็ดเรียบร้อยมามองดูอาตมาแล้ว อาตมามันโง่มากเหลือเกินนะ บางทีใส่ครึ่งบาตรเหลือให้สุนัขกินตะพึดตะพือไปเลย มาเห็นความบกพร่องของเรา พระพุทธเจ้าให้เพียรอย่างนั้น ให้พยายาม
ถ้าเราจะทานจริงๆ มันไม่มากหรอกโยม จานหนึ่งสองจานอย่างนี้ กาแฟสักถ้วยหนึ่งก็พอเท่านั้นแหละ เดี๋ยวนี้เราแก้วหนึ่งยังไม่พอเลย หรือมันพอแต่กินเสียครึ่งหนี่งอีกครึ่งหนึ่งเอาตั้งไว้บนโต๊ะนั้น จานข้าวก็กินเสียครึ่งเดียวแล้วเอาตั้งไว้นั่นแหละ พอเดินออกไป จะให้เขามอง...นี่คือใคร...ดีใจเสียหน่อยหนึ่งนะ จะไปกินหมดก็กลัวมันจะโกโรโกโสเกินไป อย่างนั้นเลยฟุ่มเฟือย ญาติโยมเราทำบุญก็เหมือนกัน อาตมาไปดูแล้ว ฉันบิณฑบาต...อาหารเต็ม ทำให้ไม่เกิดประโยชน์ โยมทำได้...แต่มันไม่เกิดประโยชน์เท่าที่ควร...เอาล่ะวันนี้สมควรแก่เวลาแล้ว