เอ้า!....ตั้งใจทุกคน อย่าทำจิตให้มันเพ่งไปที่คนโน้นคนนี้ ทำความรู้สึกคล้ายๆกับเรานั่งอยู่บนภูเขา อยู่ในป่าแห่งหนึ่ง คนเดียวเท่านั้นแหละ ตัวเราที่นั่งอยู่เฉพาะปัจจุบันนี้มีอะไรบ้าง มีแต่กายกับจิตเท่านั้น โดยตรงจะมีกาย กับจิตสองอย่างเท่านั้น กายคือสิ่งทั้งหมดที่เรานั่งอยู่ในก้อนนี้...เป็นกาย จิตก็คือสิ่ง ที่นึกคิดรับรู้อารมณ์ในปัจจุบันนี้ เรียกว่า จิต ท่านเรียกว่านาม รูป นามหมายถึงสิ่งที่ไม่เป็นรูป ไม่มีรูป จะเป็นความนึกคิดอะไรก็ได้หรือความรู้สึกทุกอย่าง เรียกว่าเป็นนาม เช่นเวทนา สัญญา สังขารวิญญาณ นี้ก็ไม่มีตัวตน เป็นนามธรรม ตาเห็นรูปเรียกว่ารูป เกิดความรู้สึกเป็นนามเรียกว่า รูปธรรม นามธรรม หรือเรียกว่ากายกับจิต
ที่เรานั่งอยู่ปัจจุบันนี้มีกายกับจิต ให้เราเข้าใจอย่างนี้ สิ่งทั้งหลายมันเกิดจากนี้มันมุ่งหลายอย่าง ฉะนั้นถ้าเราต้องการความสงบให้เรารู้รูปกับนามหรือกายกับจิตเท่านี้ก็พอ แต่จิตที่มีอยู่เดี๋ยวนี้เป็นจิตที่ยังไม่ได้ฝึก จิตนี้ยังสกปรก จิตนี้ยังไม่สะอาดไม่ใช่จิตเดิม จำเป็นจะต้องฝึกหัดจิตอันนี้ ดังนั้นท่านจึงให้สงบเป็นบางครั้ง
บางคนเข้าใจว่าการนั่งนี้แหละเป็นสมาธิ แต่ความเป็นจริงการยืน การเดิน การนั่ง การนอน ก็เป็นการปฏิบัติทั้งนั้น ทำสมาธิให้เกิด ได้ทุกขณะ สมาธิหมายตรงเข้าไปว่า ความตั้งใจมั่นการทำสมาธิไม่ใช่การไปกักขังตัวไว้ บางคนก็เข้าใจว่า "ฉันจะต้องหาความสงบ จะไปนั่งไม่ให้มีเรื่องอะไรเกิดขึ้นเลย จะไปนั่ง เงียบๆ" อันนั้นก็คนตาย ไม่ใช่คนเป็น การทำสมาธิคือทำให้รู้ ทำให้เกิดปัญญา ทำให้มีปัญญา สมาธิคือความตั้งใจมั่น มี อารมณ์อันเดียว อารมณ์อันเดียวคืออารมณ์อะไร คืออารมณ์ที่ถูกต้องนั่นแหละเรียกว่าอารมณ์อันเดียว ธรรมดาคนเราอยากจะไปนั่งให้มันเงียบเฉยๆ โดยมากนักศึกษา นักเรียนเคยมากราบอาตมาว่า "ดิฉันนั่งสมาธิมันไม่อยู่ เดี๋ยวมันก็วิ่งไปโน้น เดี๋ยวมันก็วิ่งไปนี้ ไม่รู้จะทำอย่างไรจึงจะ ให้มันอยู่ ให้มันหยุด" ของนี้เป็นของหยุดอยู่ไม่ได้ ไม่ใช่ว่าไม่ให้มันวิ่ง มันเกิดความรู้สึกขึ้นในที่นี้บางคนก็มาฟ้อง "มันวิ่งไปฉันก็ดึงมันมา ดึงมันมาอยู่ที่นี้ เดี๋ยวมันก็เดินไปที่นั้นอีก...ดึงมันมา" มันก็เลยนั่งดึงอยู่อย่างนั้นแหละ
จิตอันนี้เข้าใจว่ามันวิ่ง แต่ความเป็นจริงมันวิ่งแต่ความรู้สึกของเราอย่างศาลาหลังหนึ่ง "แหม มันใหญ่เหลือ เกิน" มันก็ไม่ใหญ่หรอก ที่ว่ามันใหญ่มันเป็นเพราะความรู้สึกของเราว่ามันใหญ่เท่านั้น ศาลาหลังนี้มันไม่ใหญ่ แต่เรามาเห็น "แหม ศาลานี้มันใหญ่เหลือเกิน " ไม่ใช่ศาลา มันใหญ่อย่างนั้น มันเป็นแต่ความรู้สึกของเราว่ามันใหญ่ ความเป็นจริงศาลาแห่งนี้มันก็เท่านั้นมันไม่ใหญ่ไม่เล็ก มันเป็นอย่างนี้ อย่างนั้นเราก็วิ่งไปตามความรู้สึกนึกคิดของเรา
การภาวนาให้มันสงบ คำว่าสงบนั้น เราจะต้องรู้เรื่องของมัน ถ้าไม่รู้เรื่องของมัน มันก็ไม่สงบ ยกตัวอย่างเช่นว่า วันนี้เราเดินทางมาจากไหนก็ไม่รู้ ปากกาที่เราซื้อมาตั้งห้าร้อยบาทหรือพันบาท เรารักมัน พอเดินมาถึงที่นี้ บังเอิญเราเอาปากกาไปวางในที่หนึ่งเสีย เช่นเอาใส่กระเป๋าหน้า อีกวาระหนึ่งเอาใส่ใน กระเป๋าหลัง ก็เลยมาคลำดูกระเป๋าหน้า ไม่เห็นเสียเลย โอ๊ย! ตกใจแล้วตกใจ เพราะมันไม่รู้ตามความเป็นจริง มันก็วุ่นวายอยู่อย่างนั้น จะยืน จะเดิน จะเหินไปมาก็ไม่สบาย นึกว่าปากกาของเราหายก็เลยทุกข์ไปด้วย เพราะความรู้ผิด คิดผิด รู้ผิด เช่น นี้มันเป็นทุกข์ทีนี้เราก็กังวล กังวลไปกังวลมา "แหม มันเสียดายปากกาเพิ่งเอามาใช้ไม่กี่วันมันก็หาย" มีความกังวลอยู่อย่างนี้ อีก ขณะหนึ่งนึกขึ้นว่า "อ๋อ เราไปอาบน้ำตรงนั้น จับมาใส่กระเป๋าหลังตรงนี้" แน่ะ พอนึกได้เช่นนี้ ยังไม่เห็นปากกาเลย ดีใจเสียแล้วนั่นเห็นไหม ดีใจเสียแล้ว ไม่กังวลในปากกานั้น มันแน่ใจแล้วเดินมาก็คลำดูในกระเป๋าหลังนี้ นี่อย่างนี้ มันโกหกเราทั้งนั้นแหละปากกาไม่หาย มันโกหกว่ามันหาย เราก็ทุกข์เพราะความไม่รู้ จิตมันก็กังวลเป็นธรรมดาของมันเป็นอย่างนั้น ทีนี้เมื่อเห็นปากกาแล้วรู้แน่แล้ว หายสงสัยแล้ว มันก็สงบ ความสงบเช่นนี้เรียกว่าเห็นต้นตอมัน เห็นตัวสมุทัยอันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ พอเรารู้จักว่าเราเอาไว้ในกระเป๋าหลังนี้แน่นอนแล้ว มันเป็นนิโรธดับทุกข์ มันเป็นเสียอย่างนี้
อย่างนั้นต้องพิจารณาหาความสงบ ที่ว่าเราทำสงบหรือสมาธินี้มันสงบจิตไม่ใช้สงบกิเลสหรอก เรานั่งทับมันไปให้มันสงบเฉยๆเหมือนกับหินทับหญ้า หญ้ามันก็ดับไปเพราะหินมันทับอีกสามสี่ห้าวันเรามายกหินออก หญ้ามันก็เกิดขึ้นอีก แปลว่าหญ้ามันยังไม่ตาย คือมันระงับเฉยๆ เช่นเดียวกับนั่งสมาธิ มันสงบจิตไม่ใช่สงบกิเลสนี่เรื่องสมาธิจึงเป็นของไม่แน่นอน ฉะนั้นการที่สงบนี้เราจะต้องพิจารณา สมาธิก็สงบแบบหนึ่ง แบบหินทับหญ้าหลายวันไปยกหินออกจากหญ้า หญ้าก็เกิดขึ้นอีก นี่สงบชั่วคราว สงบด้วยปัญญาคือไม่ยกหินออก ทิ้งมันไว้อย่างนั้น ทับมันไว้ไม่ยกหินออก หญ้ามันเกิดไม่ได้ นี่เรียกว่าสงบแท้ สงบกิเลสแน่นอน นี่เรียกว่า ปัญญา
ตัวปัญญากับตัวสมาธินี้ เมื่อเราพูดแยกกันออกก็คล้ายๆคนละตัว แต่ความเป็นจริงมันเป็นตัวเดียวกันนั่นเองแหละ ตัวปัญญามันเป็นเครื่องเคลื่อนไหวของสมาธิเท่านั้น มันออกจากจิตอันนี้เองแต่มันแยกกันออกไป มันเป็นคนละลักษณะ เหมือนมะม่วงใบนี้ ลูกมะม่วงใบหนึ่งใบเล็กๆ เดี๋ยวมันก็โตขึ้นมาอีกแล้วมันก็สุก มะม่วงใบนี้ก็คือมะม่วงใบเดียวกัน ไม่ใช่คนละใบ มันเล็กก็ใบนี้ มันโตก็ใบนี้ มันสุกก็ใบนี้ แต่มันเปลี่ยนลักษณะ เราปฏิบัติธรรม อาการอย่างหนึ่งท่านเรียกว่าสมาธิ อาการอย่างหลังท่านเรียกว่าปัญญา แต่ความเป็นจริง ศีล สมาธิ ปัญญา คือของอันเดียวกัน ไม่ใช่คนละอย่าง เหมือนมะม่วงใบเดียวกัน ผลมันเล็กก็ใบนั้นมันสุกก็ใบนั้น ใบเดียวนั่นแหละ แต่ว่ามันเปลี่ยนอาการเท่านั้น
ความจริงการปฏิบัตินี้ อะไรก็ช่างมัน ให้เริ่มออกจากจิตให้เริ่มจากจิต รู้จักจิตของเราไหม จิตเรามันเป็นอย่างไร มันอยู่ที่ไหน มันเป็นอะไร ก็คงงงหมดทุกคน จิตมันเป็นอย่างไร จิตอยู่ตรงไหนไม่รู้ ไม่รู้จัก รู้จักแต่ว่าเราอยากจะไปโน่น อยากจะไปนี่ มันเป็นสุขหรือมันเป็นทุกข์ แต่ตัวจิตจริงๆ นี้มันก็รู้ไม่ได้ จิตนี้มันคืออะไร จิตนี้ก็ไม่คืออะไร มันจะคืออะไรล่ะจิตนี้ เราสมมติขึ้นมาว่า สิ่งที่มันรับอารมณ์ดีอารมณ์ชั่วทั้งหลายเป็นจิตเหมือนกับเจ้าของบ้าน ใครรับแขกเป็นเจ้าของบ้าน แขกจะมารับเจ้าของบ้านไม่ได้หรอก เจ้าของบ้านต้องอยู่บ้าน แขกมาหาเจ้าของบ้านต้องรับ ใครรับอารมณ์ ใครเป็นผู้รับอารมณ์ ใครปล่อยอารมณ์ใครเป็นผู้ปล่อยอารมณ์ ตรงนั้นแหละท่านหมายถึงว่า จิตใจ แต่เราไม่รู้เรื่อง ก็มาคิดวนไปเวียน มา อะไรเป็นจิต อะไรเป็นใจ เลยวุ่นกันจนเกินไป เราอย่าเข้าไปเข้าใจมากถึงขนาดนั้นซิ อะไรมันรับอารมณ์ อารมณ์บางอย่างมันชอบ อารมณ์บางอย่างมันไม่ชอบนี้คือใคร ที่ชอบไม่ชอบนี่ มีไหม มี แต่มันเป็นอย่างไรก็ไม่รู้เข้าใจไหม? มันเป็นอย่างนี้แหละ ตัวนี้แหละที่เรียกว่าจิต อย่าไปดูมันไกลเลย
การปฏิบัติธรรมนี้จะเรียกว่าสมาธิหรือวิปัสสนาก็ช่าง เราเรียกว่าปฏิบัติธรรมเท่านี้ก็พอ และก็ดำเนินจากจิตของเราขึ้นมาจิตคืออะไร คือผู้ที่รับอารมณ์นั่นแหละ มันถูกอารมณ์นี้ก็ดีใจบ้างอารมณ์นั้นเสียใจบ้าง ตัวที่รับอารมณ์นั่นแหละ มันพาเราสุขพาเราทุกข์ มันพาเราผิดมันพาเราถูกตัวนั้นแหละ แต่ว่ามันไม่มีตัวสมมติว่าถ้าเป็นตัวเฉยๆแต่ว่าเป็น นามธรรม ดีมีตัวไหม ชั่วมีตัวไหม สุขมีตัวไหม ทุกข์มีตัวไหม ไม่เห็นมันมี มันกลมหรือมันเป็นสี่เหลี่ยม มันสั้นหรือมันยาวขนาดไหน รู้ไหม มันเป็นนามธรรม มันเปรียบไม่ได้หรอก แต่เรารู้ว่ามันมีอยู่
ฉะนั้นท่านจึงให้เริ่มจากการทำจิตของเราให้สงบ ทำให้มันรู้จิตนี้ถ้ามันรู้อยู่มันก็สงบนะ บางคน รู้ก็ไม่เอาให้มันสงบ จนไม่มีอะไรเลยไม่รู้เรื่อง ถ้ามันขาดผู้รู้ตัวนี้เราจะอาศัยอะไร ไม่มีสั้นมันก็ไม่มียาว ไม่มีผิด ก็ไม่มีถูก
แต่เราทุกวันนี้เรียนกันไป ศึกษากันไป หาความผิดหาความถูก หาความดีหาความชั่ว ไอ้ความไม่ผิดไม่ถูกนั้นไม่รู้ จะหาแต่รู้ว่ามันผิดหรือถูก "ฉันจะเอาแต่ถูก ผิดไม่เอา จะเอาไปทำไม? เอาถูกประเดี๋ยวมันก็ผิดอีกนั่นแหละ มันถูกเพื่อผิด เราก็แสวงหาความผิดความถูก ความไม่ผิดไม่ถูกไม่หา หรือแสวงเอาบุญ ก็แสวงไป รู้แต่บุญแต่บาปเรียนกันไป ตรงที่ว่าไม่มีบาป ไม่มีบุญนั้นไม่เรียนกัน ไม่รู้จัก เอาแต่เรื่องมันสั้นมันยาว เรื่องไม่สั้นไม่ยาวนั้นไม่ศึกษากัน เรียนแต่เรื่องดีชั่ว "ฉันจะปฏิบัติเอาดี ชั่วฉันจะไม่เอา" ไม่มีชั่วมันก็ไม่มีเท่านั้นแหละ จะเอาไง? มีดเล่มนี้มันมีทั้งคม มันมีทั้งสั้น มีทั้งด้าม มันมีทุกอย่าง เราจะยกมีดเล่มนี้ขึ้นมาจะเอาแค่คมมันขึ้นมาได้ไหม จะจับมีด เล่มนี้ขึ้นมาแต่สันมันได้ไหม เอาแต่ด้ามมันได้ไหม ด้ามมันก็ด้ามมีด สันมันก็ สันมีด คมก็คมของมีด เมื่อเราจับมีดเล่มนี้ขึ้นมา ก็เอาด้ามมันขึ้นมา เอาสันมันขึ้นมา เอาคมมันขึ้นมา ด้วย ไม่ใช่เอาแต่คมมันขึ้นมา
นี่เป็นตัวอย่าง อย่างนี้เราจะไปแยกเอาแต่สิ่งที่มันดี ชั่วก็ต้องติดไปด้วย เพราะเราหาสิ่งที่มันดี สิ่งที่ชั่วเราจะทิ้งมัน ไอ้สิ่งที่ ไม่ดีไม่ชั่ว เราไม่ได้ศึกษามันอยู่ตรงนั้น ไม่งั้นมันก็ไม่จบซี เอาดีชั่วก็ติดไปด้วย มันตามกันอยู่อย่างนั้น ถ้าเราเอาสุขทุกข์ก็ตามเราไป มันติดต่อกันอยู่ ฉะนั้นพวกเราจึงศึกษาธรรมะกันว่าเอาแต่ดีชั่วไม่เอา อันนี้เป็นธรรมะของเด็ก ธรรมะของเด็กมันเล่น ก็ได้อยู่แค่นี้ก็ได้ แต่ว่าเอาดีไปชั่วมันก็ตามไป โน่น...ถึงปลายทางมันก็รกไม่ค่อยจะดี
ดูกันง่ายๆโยมมีลูกนะ จะให้เอาแต่รัก เกลียดไม่เอานี่เรื่องของคนไม่รู้ทั้งสองอย่างนี้ เอารัก เกลียดมันก็วิ่งตามมาฉะนั้นเราตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติธรรมะให้มีปัญญา เราไปเรียนดีเรียนชั่ว เรียนดีมันเป็นอย่างไร ชั่วก็เรียนให้มันละเอียดมากที่สุด จนรู้จักดี รู้จักชั่ว เมื่อรู้จักดีรู้จักชั่ว จะเอาอย่างไร เอาดี ชั่วก็วิ่งตามเรื่องสิ่งที่ว่าไม่ดีไม่ชั่วนั้นไม่ได้เรียนกัน นี่เรื่องที่จะต้องฉุดกันมาเรียน "ฉันจะเป็นอย่างนั้น ฉันจะเป็นอย่างนี้" แต่ "ฉันจะไม่เป็นอะไร เพราะตัวฉันก็ไม่มี" อย่างนี้ไม่เรียนกัน อย่างนี้ไม่เรียนกันมันจะไม่เอาดี พอได้ดี ได้ดีจนไม่รู้เรื่อง จะมาดีซ้ำเสียอีก ดีเกินไปก็ไม่ดีอีกแหละ ชั่วอีกก็กลับไปกลับมาอยู่อย่างนั้น
เรื่องการพักจิตให้มันสงบ เพื่อรู้จักผู้ที่รับอารมณ์ในตัวตนว่ามันคืออะไร อย่างนั้นท่านจึงให้ตามกำหนดจิต ตามผู้รู้ให้ฝึกจิตนี้ ให้เป็นผู้บริสุทธิ์ บริสุทธิ์แค่ไหน บริสุทธิ์จริงๆต้องเหนือดีเหนือชั่วขึ้นไปอีก บริสุทธิ์เหนือบริสุทธิ์ไปอีก หมด มันถึงจะหมดไป
ฉะนั้น ที่เราปฏิบัตินั่งสมาธินั้นสงบเพียงชั่วคราว เมื่อมันสงบแล้วมันก็มีเรื่อง ถ้ามีเรื่องก็มีผู้รู้เรื่อง รู้พิสูจน์ไต่ถามติดต่อวิพากวิจารณ์ เมื่อไปสงบเฉยๆ ไม่มีอะไรหรอก บางทีคนที่ยังขังตัวมากเห็นว่าความสงบนั้นก็คือการปฏิบัติที่แน่นอน แต่สงบจริงๆไม่ใช่สงบทางจิต ไม่ใช่สงบอย่างนั้น "ฉันจะเอาสุข ทุกข์ฉันไม่เอา" อย่างนี้สงบแล้ว พอตามไป ตามไป เอาสุขอย่างเดียวก็ไม่สบายอีกแล้ว มันติดตามกันมา ทำให้ไม่มีสุขไม่มีทุกข์ในใจของเรานั่นแหละ สงบ ตรงนี้วิชานี้ เราไม่ค่อยจะเรียนกัน ไม่ค่อยรู้เรื่อง
การฝึกจิตของเราให้ถูกทางให้แจ่มใสขึ้นมา ให้มันเกิดปัญญา อย่าไปเข้าใจว่า นั่งให้มันเงียบเฉยๆนั่นหินทับหญ้าบางคนก็เมา เข้าใจว่าสมาธิคือการนั่ง มันเป็นชื่อเฉยๆ ถ้ามันเป็นสมาธิ เดินก็เป็นสมาธิ นั่งก็เป็นสมาธิ สมาธิกับการเดิน สมาธิกับการนั่ง กับยืน กับนอน มันเป็นการปฏิบัติ บางคนก็บ่นว่า "ฉันนั่งไม่ได้หรอกรำคาญ นั่งแล้วมันคิดถึง โน่นคิดถึงนี่ คิดถึงบ้านถึงช่อง ฉันทำไม่ได้หรอก บาปมาก ให้มันหมดกรรมเสียก่อนจึงจะมานั่งใหม่ "เออ...ไป...ไปให้มันหมดกรรมลองดู...คิดไปอย่างนั้น ทำไมคิดอย่างนั้น นี่แหละเรากำลังศึกษาอยู่ เรานั่งปุ๊บประเดี๋ยว เอ้า...ไปโน่นแล้ว ตามไปอีก กำหนดอีก เอ้า...ไปโน่นอีกแล้ว นี้แหละตัวศึกษา ไอ้พวกเรามันเกโรงเรียน ไม่อยากเรียนธรรมชาติเหมือนนักเรียนมันเกโรงเรียน ไม่อยากจะไปเรียนหนังสือ ไม่อยากเห็นมันสุข ไม่อยากเห็นมันทุกข์ ไม่อยากเห็นมันเปลี่ยนแปลง มันจะรู้อะไรไหม มันต้องอยู่ กับการเปลี่ยนแปลงอย่างนี้ เมื่อเรารู้จักมัน อ้อ จิตใจมันเป็นอย่างนี้นะ เดี๋ยวมันก็นึกถึงโน่น เดี๋ยวมันก็นึกถึงนี่ เป็นเรื่องธรรมดาของมันให้เรารู้มันเสีย การนึกอย่างนั้น เราก็รู้ว่านึกดีนึกชั่ว นึกผิด นึกถูก ก็รู้มันซิว่าจิตมันเป็นอย่างไร ถ้าเรารู้เรื่องของมันแล้ว ถึงเรานั่งอยู่เฉยๆคิดถึงโน่นถึงนี่ มันก็ยังเป็นสมาธิอยู่ ถ้าเรารู้มันไม่รำคาญหรอก
ยกตัวอย่างเช่น สมมติว่าที่บ้าน โยมมีลิงตัวหนึ่ง โยมเลี้ยงลิงตัวหนึ่ง ลิงมันไม่อยู่นิ่งหรอก เดี๋ยวมันจับโน่น เดี๋ยวมันจับนี่สารพัดอย่าง ลิงมันเป็นอย่างนั้น ถ้าโยมมาถึงวัดอาตมา วัดอาตมาก็มีลิงตัวหนึ่งเหมือนกัน ลิงอาตมาก็อยู่ไม่นิ่งเหมือนกันเดี๋ยวจับโน่นจับนี่ โยมไม่รำคาญใช่ไหม ทำไมไม่รำคาญล่ะ เพราะโยมเคยมีลิงมาแล้ว เคยรู้จักลิงมาแล้ว "อยู่บ้านฉันก็เหมือนกันกับเจ้าตัวนี้ อยู่วัดหลวงพ่อ ลิงหลวงพ่อก็เหมือนลิงของฉันนั่นแหละ มันลิงอย่างเดียวกัน" โยมรู้จักลิงตัวเดียวเท่านั้น โยมจะไปกี่จังหวัด จะเห็นลิงกี่ตัวโยมก็ไม่รำคาญใช่ไหม? นี่คือคนรู้จักลิง ถ้ารู้จักลิงก็ไม่เป็นลิงซิเรา ฮือ ถ้าเราไม่รู้จักลิง เห็นลิงเราก็เป็นลิงใช่ไหม? เห็นมันไปคว้าโน่นจับนี่ ก็ฮือ...ไม่พอใจ รำคาญ"ไอ้ลิงตัวนี้" นี่คือคนไม่รู้จักลิง คนรู้จักลิงเห็นอยู่บ้านก็ตัวเดียวกัน อยู่วัดถ้ำเพชรก็เหมือนกันอย่างนี้ มันจะรำคาญอะไร เพราะเห็นว่าลิงมันเป็นอย่างนั้น นี่ก็พอ สงบแล้ว ถ้ามันดิ้นมันก็ดิ้นแต่ลิง เราไม่เป็นลิง สงบแล้ว ถ้าลิงมันโดดหน้าโดดหลัง โยมก็สบายใจไม่รำคาญกับลิง เพราะอะไร เพราะโยมรู้จักลิง โยมจึงไม่เป็นลิง ถ้าโยมไม่รู้จักลิง โยมก็รำคาญ โยมรำคาญ โยมก็เป็นลิงเข้าใจไหม นี่เรื่องมันสงบอย่างนี้
อารมณ์ เรารู้อารมณ์ซี เห็นอารมณ์บางทีมันชอบ บางทีมันไม่ชอบอย่างนี้ ก็ช่างมันประไรมันเป็นเรื่องของมัน มันก็เป็นอย่างนี้แหละ ก็เหมือนลิงน่ะแหละ ตัวไหนๆก็ลิงอันเดียวกัน เรารู้อารมณ์ บางทีชอบบางทีไม่ชอบ เรื่องอารมณ์เป็นอย่างนี้ ให้เรารู้จักอารมณ์ รู้จักอารมณ์แล้วเราปล่อยเสีย อารมณ์มันไม่แน่นอนหรอก มันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทั้งนั้นแหละ เราดูมันไปก็อย่างนั้นแหละ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ได้รับอารมณ์เข้ามาปั๊บฮึ...ก็เหมือนกับเรามาเห็นลิง ลิงตัวนี้กับลิงตัวที่อยู่บ้านเราก็เหมือนกันอย่างนี้ มันก็สงบเท่านั้นแหละ
เกิดอารมณ์ขึ้นมา เรารู้จักอารมณ์ซิ เราวิ่งตามอารมณ์ทำไมอารมณ์มันเป็นของไม่แน่นอน เดี๋ยวมันเป็นอย่างนั้น เดี๋ยวมันเป็นอย่างนี้ บางทีก็อยู่อย่างเก่า มันอยู่ด้วย การเปลี่ยนแปลอย่างนี้โยม...ทุกวันนี้โยมก็ อยู่ด้วยการเปลี่ยนแปลง บางทีลมมันออกแล้วลมมันเข้า มันเปลี่ยนแปลงอย่างนี้ ลองโยมสูดลมเข้าอย่างเดียวซิไม่ให้มันออกเสียง ลองดู เอ้า อยู่ได้ไม่กี่นาทีไหม หรือให้มันออกอย่างเดียวอย่า ให้มันเข้าอีก ถ้าไม่เปลี่ยนแปลงอยู่ได้ไหมนี่มันอยู่ไม่ได้ จำเป็นต้องหายใจเข้าหายใจออก อย่างนี้ถึงจะเดินมาถึงวัดถ้ำแสงเพชรนี้ได้ ถ้าอั้นลงจากโน่นก็ ตายแล้ว ป่านนี้ไม่ได้ถึงหรอก นี่แหละให้เข้าใจอย่างนี้ อารมณ์ก็เหมือนกัน มันต้องมีถ้าไม่มีอารมณ์ ไม่มีปัญญา ถ้าไม่มีผิด ก็ไม่มีถูก ถูกก่อน มันถึงมองเห็นความผิด หรือผิดก่อนมันรู้จักถูก เป็นเรื่องธรรมดา
ถ้า เป็นนักศึกษา นักเรียนน่ะ ให้อารมณ์มันมากยิ่งดี อันนี้เราเห็นอารมณ์ไม่ชอบใจ ไม่อยากจะทำ ไม่อยากจะดู มัน นี่เรียกว่าเด็กมันเกโรงเรียน มันไม่อยากรับรู้ครูสอน นี่อารมณ์มันสอนเราไม่ใช่อื่นหรอก เมื่อเรารู้อารมณ์อย่างนี้คือเราปฏิบัติธรรมะสงบอารมณ์มันก็เป็นอย่างนั้น มันเป็นเรื่องของมันอย่างนั้นเหมือนโยมเห็นลิง ลิงอยู่บ้านโยมๆไม่รำคาญ มาเห็นลิงที่นี้ก็ไม่รำคาญเหมือนกัน เพราะโยมรู้เรื่องของลิงแล้ว ใช่ไหม สบาย...นั่น...
ปฏิบัติธรรมะก็เหมือนกัน ธรรมะเป็นอย่างนี้ ธรรมะไม่ใช่ว่าอยู่อื่นไกลนะ มันอยู่ติดๆกับเรานี่แหละ ไม่ใช่เรื่องเทพบุตรเทพธิดาหรอก เรื่องของเรานี้เอง เรื่องของเราทำอยู่เดี๋ยวนี้แหละเรื่องธรรมะ คือเรื่องของเราพิจารณาตัวเรานี้ บางทีมีความสุขบางทีมันมีความทุกข์ บางทีสบาย บางทีรำคาญ บางทีรักคนโน้นบางทีเกลียดคนนี้ นี้คือธรรมะ เห็นไหม ให้รู้จักธรรมะต้องอ่านอารมณ์ ให้รู้จักอารมณ์นี้ถึงจะปล่อยอารมณ์ได้ เห็นว่าอารมณ์มันไม่แน่นอนแล้วอย่างนี้เราก็สบาย มันเกิดลุกวูบขึ้นมา ว่า "ฮือ...อันนี้ไม่แน่หรอก" แต่ไปอีกอารมณ์เปลี่ยนขึ้นมาว่า "ฮือ...อันนี้ก็ไม่แน่" สบาย...เหมือนโยมเห็นลิงโยมก็ สบาย ไม่ได้สงสัย ถ้ารู้จักอารมณ์แล้ว นั่นแหละ คือรู้จักธรรมะ ปล่อยอารมณ์ เห็นอารมณ์ว่ามัน ไม่แน่นอนสักอย่าง โยมเคยดีใจไหม เคยเสียใจไหม เคย!ตอบแทน ก็ ได้ แน่นอนไหม ไม่แน่ มันไม่แน่อย่างนี้
อันที่ว่าไม่แน่นอนนี่แหละ คือพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็คือธรรมะ ธรรมะคือสิ่งที่ว่ามันไม่แน่ ใครเห็นสิ่งที่ว่ามันไม่แน่คนนั้นเห็นแน่นอนว่ามันเป็นอย่างนั้น ไม่เปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นมันเป็นของมันอย่างนั้น ธรรมะเป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าท่านก็เป็นอย่างนั้น ถ้าเห็นธรรมะก็เห็นพระพุทธเจ้า เห็นพระพุทธเจ้าก็เห็นธรรมะ ถ้าโยมรู้จักอนิจจังมันไม่แน่นอน โยมก็จะปล่อยวางเอง ไม่ไปยึดมั่นถือมั่น โยมว่า "อย่ามาทำแก้วฉันแตกนะ"ของมันแตกได้โยมจะห้ามมันได้ไหม ไม่แตกเวลานี้ต่อไปมันจะแตก เราไม่ทำแตก คนอื่นจะทำแตก คนอื่นไม่ทำแตก ไก่มันจะทำแตก พระพุทธเจ้าท่านให้ยอมรับ ท่านมองทะลุเข้าไปว่าแก้วใบนี้แตกแล้ว แก้วที่ไม่แตกนี้ท่านให้รู้ว่ามันแตกแล้วจับทุกที ใส่น้ำดื่มน้ำเข้าไปแล้ววางไว้ ท่านก็ให้เห็นว่าแก้วมันแตกแล้ว เข้าใจไหมนี่คือความเข้าใจของท่านเป็นอย่างนั้น เห็นแก้วที่แตกอยู่ในแก้วใบไม่แตก เพราะเมื่อมันหมดสภาพแล้วไม่ดีเมื่อไหร่มันก็จะแตกเมื่อนั้น ทำความรู้สึกอย่างนี้ แล้วก็ใช้แก้วใบนี้ไป รักษาไป อีกวันหนึ่งมันหลุดมือแตก "ผัว!"...สบายเลย ทำไมสบายเพราะเห็นว่ามันแตกก่อนแตกแล้ว เห็นไหม แต่ถ้าเป็นโยม..."แหม ฉันถนอมมันเหลือเกิน อย่าทำให้มันแตกนะ" อีกวันหนึ่งสุนัขมาทำแก้วแตกแน่ะ อือ! เอาสุนัขตัวนี้ไปฆ่าทิ้งเสีย" เพราะสุนัขทำ แก้วแตก เกลียดสุนัข ถ้าลูกทำแตกก็เกลียดลูก เกลียดทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำให้แก้วแตก เพราะเราไปกั้นฝายไว้ไม่ให้น้ำไหลออกไป กั้นไว้อย่างเดียวไม่มีทางระบายน้ำ ฝายมันก็แตกเท่านั้นแหละ ใช่ไหม ต้องทำฝายแล้วทำระบายน้ำด้วย พอน้ำได้ระดับแค่นี้ก็ ระบายน้ำข้างๆนี้ เมื่อมันเต็มที่ก็ให้มันออกมาข้างนี้ใช่ไหม ต้องมีทางระบาย อันนี้ท่านเห็นอนิจจังมันไม่เที่ยงอยู่อย่างนั้น นั่นแหละเป็นทางระบายของท่าน อย่างนี้โยมจะสงบ นี่คือปฏิบัติธรรมะ
ฉะนั้นอาตมาถือว่า การยืน เดิน นั่ง นอน อาตมาปฏิบัติไปเรื่อยๆ มีสติคุ้มครองอยู่เสมอเลย นี่คือสมาธิ สมาธิคือปัญญาพูดแล้วมันอันเดียวกัน มันเหมือนกัน แต่มันไปแยกกันโดยลักษณะเท่านั้น มันก็อันเดียวกัน ถ้าเราเห็นอนิจจัง แปลว่ามันไม่แน่ เราเห็นชัดเข้าไปว่ามันไม่แน่ นั่นละคือว่าเราเห็นว่ามันแน่แน่อะไร แน่ว่ามันเป็นไปอย่างนั้น ไม่แปรเป็นอย่างอื่น เข้าใจไหมเท่านี้แหละ รู้จักพระพุทธเจ้าแล้ว ได้กราบพระพุทธเจ้าแล้ว ได้กราบธรรม ะของท่านแล้ว เอาหลักนี้ไปพิจารณา
ถ้าโยมไม่ทิ้งพระพุทธเจ้า โยมไม่ทุกข์หรอก ถ้าทิ้งพระพุทธเจ้าเมื่อไหร่ ทุกข์เลย ทิ้งอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เมื่อไหร่ทุกข์ เมื่อนั้น ให้เข้าใจอย่างนี้ อาตมาว่าการปฏิบัติแค่นี้ก็พอ ทุกข์ไม่เกิดขึ้น ทุกข์เกิดมันก็ดับได้ง่ายๆ แล้วก็เป็นเหตุเดียวกับทุกข์ไม่เกิดต่อไป มันจบตรงนั้นแหละทุกข์ไม่เกิด ทุกข์ไม่เกิดเพราะอะไร เพราะไประวังเหตุคือตัวสมุทัย เช่นแก้วมันจะแตกอยู่นี่เมื่อมันแตกทุกข์ขึ้นมาเลยใช่ไหม เรารู้ว่าอันนี้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์นี่แหละตัวสมุทัย เมื่อมันแตกปุ๊ป ก็เป็นทุกข์ ก็ทำลายต้นเหตุทุกข์เสีย ธรรมมันเกิดเพราะเหตุ ดับมันก็ดับเพราะเหตุอันนี้ ถ้ามันจะทุกข์ก็เพราะแก้วใบนี้มันแตก แล้วเราโมโหขึ้นมาก็เป็นทุกข์ถ้าเรารู้ก่อนว่าแก้วใบนี้มันแตกแล้วทั้งที่มันยังไม่แตก สมุทัยมันก็ดับ ไม่มี ถ้าไม่มีทุกข์มันก็เป็นนิโรธ ดับทุกข์ เพราะดับเหตุแห่งทุกข์นั้น เรื่องเท่านี้แหละโยม ไม่มากหรอก เรื่องเท่านี้อย่าออกจากนี้ไป พยายามอยู่ตรงนี้ พิจารณาอยู่ตรงนี้ เริ่มจากจิตใจของเรานี้ พูดง่ายๆทุกๆคนให้มีศีลห้าเป็นพื้น นี่ไม่ต้องไปเรียนพระไตรปิฎกหรอกโยม ดูศีลห้า พยายามสม่ำเสมอระวังไว้ทีแรกมันพลาดไป...หยุด...กลับมา...รักษาไปอีก บางทีมันหลงพลาดไปอีก รู้แล้วกลับมา อย่างนี้ทุกครั้งทุกคราว สติมันถี่เข้าเหมือนน้ำในกาน้ำ เราปล่อยน้ำให้มันไหลลงเป็นหยด ต๋อม...ต๋อม...ต๋อม...นี่สายน้ำมันขาด เราเร่งกาน้ำให้มากน้ำก็ไหล ต๋อมๆๆๆถี่ขึ้น เร่งเข้าไปอีก หากต๋อมเลยทีนี้ไหลเป็นสายติดกันเลย เป็นสายน้ำหยดแห่งน้ำไม่มี ไปไหนล่ะ มันไม่ไปไหนหรอก มันกลายเป็นสายน้ำ มันถี่จนเกินถี่ มันเลยติดกันเสียจนเป็นสายน้ำอย่างนี้
ธรรมะก็เรื่องเดียวอย่างนี้ เรื่องอุปมาให้ฟัง เพราะว่ามันไม่มีอะไร ธรรมะมันไม่เป็นกลมไม่เป็นเหลี่ยม มันไม่รู้จักนอกจากจะเปรียบเทียบอย่างนี้ ถ้าเข้าใจอันนี้ก็เข้าใจธรรมะ มันเป็นเสียอย่างนี้ อย่าเข้าใจว่าธรรมะมันอยู่ห่างจากเรา มันอยู่กับเราเป็นเรื่องของเรานี่แหละ ลองดูซิ เดี๋ยวก็ดีใจ เดี๋ยวก็เสียใจ เดี๋ยวก็พอใจบ้าง เดี๋ยวก็โกรธคนนั้น เดี๋ยวก็เกลียดคนนี้ ธรรมะทั้งนั้นแหละโยม ให้ดูเจ้าของนี้ว่า อะไรมันพยายามจะให้ทุกข์เกิดนั่นแหละ ทำแล้วมันทุกข์นั่นแหละแก้ไขใหม่ แก้ไขใหม่มันยังไม่เห็นชัด ถ้ามันเห็นชัดแล้วมันไม่มีทุกข์ เหตุมันดับอยู่แล้ว ฆ่าตัวสมุทัยแล้ว เหตุแห่งทุกข์ก็ไม่มี ถ้าทุกข์ยังเกิดอยู่ ถ้ายังไม่รู้มันยังทนทุกข์อยู่ อันนั้นไม่ถูกหรอก ดูเอาง่ายๆมันจะติดตรงไหน เมื่อไหร่มันทุกข์เกินไป นั่นแหละมันผิดแล้ว เมื่อไหร่มันสุขจนเหิมใจเกินไป นั่นแหละมันผิดแล้ว มันจะมาจากไหน ก็ช่างมันเถอะ รวมมันเลยทีเดียว นั่นแหละค้นหา ถ้าเป็นเช่นนี้ โยมจะมีสติอยู่ การยืน การเดิน การนั่ง การนอน ไปมาสารพัดอย่างถ้าโยมมีสติสัมปชัญญะอยู่เสมอ ถ้าโยมรู้อยู่ โยมจะต้องรู้ผิดรู้ถูกโยมจะต้องรู้จักดีใจเสียใจทุกอย่าง เมื่อโยมรู้จักก็จะรู้วิธีแก้ไขแก้ไขมันโดยที่ว่ามันไม่มีทุกข์ ไม่ให้มันมีทุกข์
นี่การเรียนสมาธิอาตมาให้เรียนแบบนี้ ถึงเวลานั่นก็นั่งไปพอสมควร ไม่ผิดเหมือนกัน ให้รู้เรื่องแต่การทำสมาธิไม่ใช่นั่งอย่างเดียว ต้องปล่อยมันประสบอะไรต่างๆ แล้วถ่ายทอดขึ้นมาพิจารณา พิจารณาให้มันรู้อะไรล่ะ พิจารณา "เออ อันนั้นมันอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่แน่" เป็นของไม่แน่ ทั้งนั้นแหละโยม"อันนี้มันสวย ฉันชอบเหลือเกิน " เออไม่แน่ "อันนี้ฉันไม่ชอบมันเลย" บอกมัน มันก็ไม่แน่เหมือนกัน ใช่ไหม ถูกเปี๊ยบเลยไม่มีผิดหรอก แต่เอากะมันซิ "ฉันจะเอาอย่างนั้น มันแน่เหลือเกิน" ไปเสียแล้ว อย่า มันจะชอบขนาดไหนก็ช่างมันเถอะ เราต้องคิดว่า มันไม่แน่ อาหารบางสิ่งบางอย่างทานไป "แหม อร่อยเหลือเกินฉันชอบมันเหลือเกิน" อย่างนี้ มันมีความรู้สึกในใจอย่างนี้ เราต้องพิจารณาว่า "อันนี้มันไม่แน่" อยากรู้จักว่ามันไม่แน่ไหม โยมชอบอาหารอะไรแน่เหลือเกิน เอ้าให้มันกินทุกวันๆทุกวันนะ เดี๋ยวโยมจะบ่นว่า "อันนี้มันไม่อร่อยเสียแล้ว" ลองดูซิต่อไปอีก "ฉันชอบอันนั้นอีก" ไม่แน่อีก นี่มันต้องการถ่ายทอดโยม เหมือนลมหายใจเข้าออก มันต้องหายใจเข้าหายใจออก มันอยู่ด้วยการเปลี่ยนแปลง ทุกอย่างอยู่ด้วยเปลี่ยนแปลงอย่างนี้
นี่อยู่กับเราไม่ใช่อื่น ถ้าเราไม่สงสัยแล้ว นั่งก็สบาย ยืนก็สบาย ไม่ใช่ว่าสมาธิ เป็นแต่การนั่ง บางคนก็นั่งจนง่วงเหงาหาวนอนอยู่อย่างนั้นแหละ จะตายเองไม่รู้จะไปทิศใต้ทิศเหนือแล้วอย่าไปทำถึงขนาดนั้นซิ มันง่วงพอสมควรแล้วก็เดิน เปลี่ยนอิริยาบถมันซิ ให้มันมีปัญญา ถ้า ง่วงเต็มทีก็ให้มันนอนเสีย แล้วรีบลุกทำเพียร อย่างนี้ อย่าปล่อยให้มันเมา ซิ เราเป็นนักปฏิบัติก็ต้องทำอย่างนั้น ให้มันมีเหตุผล ปัญญา ความรู้รอบ รู้ไม่รอบไม่ได้ รู้ข้างเดียวไม่ได้ ต้องรู้อย่างนี้เป็นวงกลมอย่างนี้
บทแทรกให้เรารู้ออกจากใจกับกายของเรานี้ ให้เห็นเป็นอนิจจังว่ามันไม่แน่ทั้งกายและจิต ทุกสิ่งทุกอย่างก็เหมือนกัน ว่ามันไม่แน่ เก็บไว้ในใจ "แหม ทานอาหารชิ้นนี้มันอร่อยเหลือเกินนะ" บอกว่า "มันไม่แน่" ชกมันก่อน มันชอบใจอันนี้ เราบอกว่าไม่แน่ต้องชกมันก่อน แต่ว่าเขาชกเราทุกที ถ้าไม่ชอบก็ไม่ชอบเป็นทุกข์ เขาก็ชกเรา ถ้าชอบฉันฉันก็ชอบเขา เขาชกเราอีก เราไม่ได้ชกเขาเลย ต้องเข้าใจอย่างนี้ เมื่อใดเราชอบอะไรก็บอกในใจว่า "อันนี้มันไม่แน่" อะไรมันไม่ชอบในใจเราบอกว่า "อันนี้มันไม่แน่" ต้องทำเป็นทุกข์ไว้เถอะ เห็นธรรมะต้องเห็นแน่นอนต้องเป็นอย่างนี้
การปฏิบัติ การยืน การเดิน การนั่ง การนอน โยมจะมีความโกรธได้ทุกกิริยาไหม เดินก็โกรธได้ นั่งก็โกรธได้ นอนก็โกรธได้ อยากก็อยากได้ทุกขณะ บางทีนอนอยู่มันก็อยาก เดินอยู่มีแต่อยาก นั่งอยู่มันก็อยาก เราจึงปฏิบัติผ่านมันไปถึงอิริยาบถทั้งสี่ ยืน เดิน นั่ง นอน ให้สม่ำเสมอ ไม่มีหน้าไม่มีหลังว่างั้นเถอะ เอากันอย่างนี้แหละ มันถึงรู้รอบอย่างนั้น จะไปนั่งให้มันสงบก็มีเรื่องวิ่งเข้ามา ยังไม่จบเรื่องนี้เรื่องนั้นก็ยิ่งเข้าอีก ถ้ามันวิ่งเข้ามา เออ...เราก็บอกว่ามันไม่แน่ ชกมันก่อนเลย เรื่องอะไรก็ช่าง พอมันวิ่งเข้ามาต้องชกมันเรื่อยๆ ชกมัน่กอนเลยทีเดียวด้วย "ไม่แน่" นี่แหละ
อันนี้รู้จักจุดสำคัญของมัน ถ้าโยมรู้จักว่าสิ่งทั้งหลายนี้มันไม่แน่ ความคิดของโยมที่อยู่ในใจมันค่อยคลี่คลายออก มันจะค่อยคลี่คลายออกเพราะเราจะเห็นว่ามันแน่อย่างนั้น อะไรที่เราเห็นว่าไม่แน่เมื่อเห็นมันผ่าน มามากๆ อะไรๆก็อย่างนั้นแหละวันหลังก็พิจารณา...เอ..."อย่างนั้นแหละ"
โยมรู้จักน้ำที่มันไหลไหม เคยเห็นไหม น้ำนิ่งโยมเคยเห็นไหม ถ้าใจเราสงบแล้ว มันจะเป็นคล้ายๆกับน้ำมันไหลนิ่ง โยมเคยเห็นน้ำไหลนิ่งไหม แน่ะ ก็โยมเคยเห็นแต่น้ำนิ่ง กับน้ำไหล น้ำไหลนิ่งโยมไม่เคยเห็น ตรงนั้นแหละ ตรงที่โยมคิดยังไม่ถึงหรอกว่า มันเฉยมันก็เกิดปัญญาได้ เรียกว่าดูใจของโยมมันจะคล้ายน้ำไหล แต่ว่านิ่ง ดูเหมือนนิ่ง ดูเหมือนไหล เลยเรียกว่า น้ำไหลนิ่ง มันจะเป็นอย่างนั้น ปัญญาเกิดได้