สู่อสังขตะ

ขอจงพากันตั้งใจฟังต่อไป .วันนี้เป็นวันที่พุทธบริษัททั้งหลายจากหลายทิศหลายทางมารวมกัน เพื่อสมาทานอุโบสถตามกาลสมัยซึ่งพวกท่านได้มาจากถิ่นใกล้ถิ่นไกล กิจเบื้องต้นทำสำเร็จแล้ว ฉะนั้นต่อไปนี้ เป็นโอกาสที่พวกเราทั้งหลายจะได้ตั้งอกตั้งใจฟังธรรม ซึ่งเป็นหลักสำคัญในทางพระพุทธศาสนาของเรา การฟังธรรมนั้นให้พากันเข้าใจว่า จุดของการฟังธรรมคือจุดที่พวกเราจะได้มาทำความเข้าใจในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งยังมิได้เข้าใจกัน ให้เข้าใจแจ่มแจ้งขึ้นไปอีก ผู้เข้าใจแล้วก็ทำ ความเข้าใจให้ยิ่งขึ้นไปอีกฉะนั้นเรื่องที่จะทำความเห็นให้ถูกต้องนั้นต้องเรียกว่าการเทศน์ และการฟังเป็นเหตุ การเทศน์นี้แล้วแต่อุบายที่จะทำความเข้าใจให้ถูกต้องได้ สิ่งเหล่านั้นชื่อว่าการเทศน์ การแสดงทั้งหมดนั่นเอง

วันนี้การฟังธรรมก็จงพากันตั้งใจฟัง ทีแรกก็ตั้งกายเพื่อผลที่จะฟัง แล้วก็ให้พากันตั้งใจ จะเอามือวางลงบนตักเราให้สบายมิให้ขัดข้องทางร่างกายของเรา คงเหลือแต่การตั้งไว้ในใจ ทำใจให้ตั้งมั่นเป็นสมาธิ เพราะจิตใจของเรานี้สำคัญมาก เป็นผู้ที่จะรับรู้ดี ชั่ว ผิด ถูก ทั้งหลายทั้งปวงอยู่ที่ใจทั้งนั้น ถ้าหากว่าจิตใจของเราปราศจากสติแม้นาทีเดียวก็ต้องเป็น บ้านาทีหนึ่ง ปราศจากสติครึ่งชั่วโมงก็เป็นบ้าครึ่งชั่วโมง จิตของเราปราศจากสติน้อยหรือมากเท่าใดก็เป็นบ้าเท่านั้น อันนี้เป็นของสำคัญ ฉะนั้นท่านจึงให้พากันตั้งใจฟังธรรม

แต่ว่าธรรมะนี้ คนที่เรียนรู้ธรรม พูดธรรมได้ก็มีมาก พูดตามตัวอักษรให้คล่องแคล่วได้ก็มีมากมาย ทั้งผู้ที่เรียนธรรม รู้ธรรม บรรยายธรรม แต่ว่าใจจะเป็นธรรมนั้นหายาก ฉะนั้นจึงไม่เข้าใจในธรรม เพราะมิได้พิจารณาธรรมอย่างแจ่มแจ้งเช่นเดียวกับคนทั้งหลายที่เกิดขึ้นมานี้ แม้จะนึกคิดไปมาทางไหนก็ไม่มีสิ่งอื่นที่มันจะก่อกวนพวกเรา นอกจากความทุกข์ไปแล้วไม่มี ความทุกข์เท่านั้นมันก่อกวนพวกเรา ก่อกวนจิตใจอย่างนี้เรื่อยไป

ฉะนั้นการฟังธรรมให้เข้าใจในธรรม เมื่อเข้าใจในธรรมแล้วจึงจะทำลายทุกข์ให้หายไปได้ ความทุกข์ที่เกิดขึ้นมานี้เพราะความไม่รู้เท่ามัน มันจึงเกิดขึ้นมา เราจะบังคับมันสักเท่าไรด้วยอำนาจใจของเรา ด้วยกำลังทรัพย์หรือกำลังสมบัติก็ตาม จะไล่ทุกข์ออกจากใจ ไม่มีหนทางจะไล่ออกได้ เพราะทุกข์อันนี้จะหายไปได้นั้นพระพุทธองค์สอน ว่า ให้รู้เท่าทัน มันจึงจะดับทุกข์ได้เท่าทัน หรือไม่รู้สาเหตุของทุกข์เมื่อใด ถึงเราจะเอากาย เอาวาจา เอาทรัพย์ทั้งหลายไปแลกเปลี่ยนมัน ส่งมันหนีจากใจของเราก็ไม่มีทาง นอกจากเรามาทำความรู้ ความเห็นให้มันชัดเจนเข้าไป รู้ตามเป็นจริงของมันแล้ว ทุกข์นั้นก็หายไป มิใช่แต่นักบวชนักพรตเท่านั้น แม้พวกฆราวาสอยู่บ้านอยู่เรือน เมื่อรู้เท่าทันตามเป็นจริงแล้ว ทุกข์หายไปเอง เพราะมารู้เหตุของมัน ไม่ให้เหตุมันเกิดทุกข์เหล่านั้นก็ดับไปเอง

ฉะนั้นธรรมที่เป็นบุญเป็นบาปนั้น มันเป็นธรรมอยู่เสมอธรรมะท่านแปลว่า สภาพที่ทรงไว้ ทรงไว้ตามเป็นจริงของธรรมคือความเดือดร้อนมันก็ทรงความเดือดร้อนไว้ ความเยือกเย็นมันก็ทรงความเยือกเย็นของมันไว้ ที่สมมติบัญญัติว่า บาปหรือบุญ เป็นต้น มันก็ทรงสภาวะมันไว้ คล้ายกับน้ำร้อน มันก็ทรงสภาพไว้ มิได้เปลี่ยนไปตามผู้ใด คนแก่ไปดื่มก็ร้อน คนหนุ่มไปดื่มก็ร้อน จะเป็นคนชาติใด ภาษาใด มันก็ร้อนสม่ำเสมอกันทุกๆคน น้ำแข็งก็คือธรรมเหมือนกัน มันก็เป็นสภาวะที่ทรงความเย็นมันไว้ มิได้เป็นไปตามผู้ใดเลย คนแก่คนหนุ่มดื่มเข้าก็เย็น จะไปดื่มอยู่ในป่าในทุ่งในห้วย ในภูเขาที่ไหนก็ตาม มันก็ต้องเย็นอยู่อย่างนั้นคล้ายกับธรรมที่ทรงสภาพไว้ ท่านจึงกล่าวว่าธรรม คือสภาพที่ทรงไว้ตั้งไว้ เมื่อพวกเรามาปฏิบัติให้รู้จักความร้อน ความเย็นให้รู้จักผิด ให้รู้จักถูก ให้รู้จักดี ให้รู้จักชั่ว ถ้ารู้จักชั่วแล้วก็ไม่ทำเหตุชั่วขึ้นมา ความชั่วมันก็เกิดขึ้นมาไม่ได้ มันก็หายไปเองเพราะรู้จักแดนเกิดของมัน ความชั่วเป็นเหตุ เมื่อไม่สร้างเหตุชั่ว ความชั่วมันจะเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ผู้ปฏิบัติธรรมจึงต้องรู้จักที่เกิดของธรรม ถ้าระงับเหตุของความร้อน ร้อนมันเกิดไม่ได้ ความผิดก็เหมือนกัน มันจะเกิดมันก็เกิดมาจากเหตุ ถ้าเราปฏิบัติธรรมจนรู้ธรรม รู้ที่เกิดของธรรมนั้นก็คือเหตุ ถ้าเราระงับเหตุของความร้อน ร้อนที่เป็นมันก็หายไป เราไม่ต้องไปตามไล่ตามฆ่ามันอีกเลย สุขทุกข์ ก็เหมือนกัน

นี้คือการปฏิบัติ แต่บุคคลที่รู้ธรรม เรียนธรรม ปฏิบัติธรรมแต่ไม่เป็นธรรม ไม่ระงับเหตุของความชั่วออกจากใจไม่ระงับเหตุของความเดือดร้อนออกจากใจของเรา เมื่อเหตุร้อนทั้งหลายมันเป็นเหตุติดต่ออยู่ในใจของเราอย่างนี้แล้ว เราจะห้ามความร้อนไม่ให้เกิดขึ้นนั้นเป็นไปไม่ได้ จะห้ามความกระวน-กระวายไม่ให้เกิดมีในใจนั้นก็ไม่ได้อีกเหมือนกัน เพราะมันเกิดอยู่ตรงนี้ แดนเกิดมันอยู่ที่นี่ ถ้าเราไม่ระงับที่เกิดของมัน มันก็จะเกิดอยู่เรื่อยไป แต่มันเกิดแล้วมันก็ต้องตาย เมื่อได้มันก็ต้องเสียเมื่อเสียมันก็ต้องได้ มันจะหมุนเวียนตามธรรมชาติของมันอยู่อย่างนี้

อันนี้แหละ ถ้าเราปฏิบัติได้อย่างนี้นั่นแหละ คือการปฏิบัติธรรมเปรียบเทียบให้เห็นอย่างนี้ ความชั่วความดีทั้งหลายก็คล้ายกัน ฉะนั้นเมื่อเราสร้างความดีให้เกิดขึ้นมา ก็จะทำให้เราเกิดใจดี เพราะความดีมันก็เกิดจากเหตุดีของมัน ท่านเรียกว่ากุศลอย่างนี้แหละ ถ้าเรารู้จักเหตุก็สร้างเหตุขึ้น ผลมันก็เกิดตามมาเอง

แต่คนเราไม่ทำอย่างนั้น ส่วนมากต้องการแต่ดีดี แต่ไม่สร้าง ความดีมันจะเกิดมาจากไหนได้ มันก็ย่อมพบแต่สิ่งที่ไม่ดีนั่นแหละ เมื่อได้สิ่งไม่ดี ใจมันก็เกิดเป็นทุกข์เป็นร้อนขึ้นมาทันที

เหมือนกับจิตใจของคนบางคนในสมัยนี้ เป็นต้นว่าอยากได้แต่เงิน ใครๆก็อยากได้ เงินนั้นได้มาแล้วมันได้ความดีมาด้วยถ้าได้เงินก็ดีเลย คิดเท่านี้เองเลยเข้าใจว่าตนคิดถูกแล้วจึงพากันแสวงหาแต่เงินไม่ต้องแสวงหาความดี คิดว่าตนได้เงินมาจึงจะทำดีได้ จึงเหมือนคนแสวงหาเนื้อ ไม่ต้องเอาเกลือ เอามาไว้บ้านให้มันเน่าไม่คิดถึงเกลือ ฉะนั้นคนต้องการเงินก็ต้องรู้จักหาเงินและรู้จักรักษาเงิน คนอยากได้เนื้อมิใช่จะเอาแต่เนื้อขนมาไว้บ้าน มันก็จะเน่าอยู่ที่บ้านเพราะ ไม่มีเกลือ จะต้องให้มีเกลือด้วย นี่ฉันใดก็ฉันนั้น

สิ่งทั้งหลายเราคิดอย่างนี้ มันคิดผิด ผลของความคิดผิดนั้นเดือดร้อน กระวนกระวาย จุดที่พระศาสดาท่านให้เรียนธรรมประพฤติปฏิบัติธรรม ให้รู้ธรรม ให้เห็นธรรม ทั้งให้เป็นธรรมอีกด้วย ให้ใจมันเป็นธรรม เมื่อใจเป็นธรรมมันจึงถึงความสุขความสิ้นของมัน ฉะนั้นสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ ความต่อไปก็วนเวียนอยู่ในโลกนี่เอง ความสิ้นสุดของความทุกข์ทั้งปวงก็อยู่ในโลกนี้

ฉะนั้นการประพฤติหรือปฏิบัตินี้ พระพุทธเจ้าทรงสอนมีจุดหมายคือให้พ้นทุกข์ ให้ใจนั้นพ้น กายไม่พ้นหรอก เกิดมาแล้วต้องตาย ต้องเจ็บ ต้องปวด ต้องเฒ่า ต้องแก่ ให้ใจเป็นผู้พ้นพ้นจากความยึดความมั่นหมาย พระองค์จึงทรงบรรยายทุกสิ่งทุกอย่างที่จะเป็นอุบายให้มนุษย์ทั้งหลายได้อ่าน ได้รู้ ได้เรียนหรือได้เขียน ซึ่งเรียกว่าปริยัติ ให้มันเป็นหลายเรื่อง หลายอย่างหลายประการเข้าไป เป็นต้นว่า อนุปาทินนกสังขาร อุปาทินนกสังขาร สังขารที่มีใจครอง สังขารที่ไม่มีใจครองเป็นต้น นักรู้นักเรียน นักพรต ก็พิจารณาตามบัญญัติเมื่อเราเรียนไป แปลไปสังขารที่ไม่มีใจครองคืออะไร คือต้นไม้ ภูเขา เถาวัลย์ โต๊ะเตียงต่างๆเป็นต้น ท่านเรียกว่าไม่มีใจครอง

สังขารที่มีใจครองคืออะไร คือสัตว์ ทั้งสัตว์มนุษย์และสัตว์เดียรัจฉานทั้งหมด เราก็มาเรียน มาแปล มาพิจารณาอยู่อย่างนั้นก็เ ลยเข้าใจตามบัญญัติว่ามันแน่นอนเหลือเกินที่หลักปริยัติเป็นอย่างนี้ ทีนี้เมื่อเรามาพิจารณาดูจริงๆแล้ว ถ้าจิตมนุษย์ยังพัวพันอยู่ใน รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ทั้งหลายแล้วอะไรๆที่ไม่มีใจครอง ไม่มีเลย ถ้ามีตัณหาอยู่ในใจ ของทั้งหลายมีใจครองหมดทุกอย่าง สิ่งทั้งหลายที่มันมีใจครองอยู่ที่เองแหละเราเรียนธรรม แต่ไม่รู้ความหมายลึกซึ้งในธรรม ก็เข้าใจว่าเราเรียนธรรม รู้ธรรม ปฏิบัติธรรม ความลึกซึ้งในธรรมะเรารู้ไม่ได้ เช่นคำว่าสังขารที่ไม่มีใจครอง อย่างเสาศาลานี้ โต๊ะ เตียง หรือตู้ที่อยู่ในบ้านเรา มันไม่มีใจครอง เพราะเราเห็นด้านนึกว่าไม่มีใจครองเสียแล้ว ถ้าหากคนเราเอาค้อนไปทุบลองดูมันจะมีใจครองไหม ก็จิตของเราที่ลุ่มหลงวุ่นวายอยู่นั่นแหละ ไปยึดโต๊ะ ยึดเตียง ยึดสมบัติพัสถานข้าวของ มันไปครองอยู่หมดทุกอย่างถ้วยใบหนึ่งแตกเราก็เจ็บ ทั้งนี้เพราะใจมันเข้าไปครองอยู่นั่นต้นไม้ภูเขาเลากา อันใดที่สมมติ เราหลงเข้าใจว่าเป็นเราหรือของเราแล้ว ถึงมันไม่ครองมันเองเราก็เข้าไปครองมันอยู่ สังขารเหล่านี้ก็มีใจครอง มิใช่ว่าจะไม่มีใจครอง สกลร่างกายของเรานี้ก็เหมือนกันฉันใด ตามธรรมชาติแล้ว ท่านว่ามีมีวิญญาณครอง อาการที่มีวิญญาณครองนั้น ท่านหมายถึงตัวอุปาทานเข้าไปยึดว่ารูปนามนี้เป็นเรา เป็นของเรา อันนี้ก็มีวิญญาณครองเช่นกันมันครองไปหมด

เช่นเดียวกับคนตาบอดนี่แหละ ถ้ามัน บอดมองไม่เห็นแล้วแม้จะมองไปทางไหนมันก็ไม่เห็นสักที อันนั้นสีเขียว อันนี้สีเหลืองอันนั้นสีดำก็ตาม ฉันเป็นคนตาบอดฉันมองไปทางไหน ฉันไม่ได้ปรากฏสีเขียว สีขาว สีแดง สีดำ ฉันใด เมื่อจิตทั้งหลายประกอบด้วยกิเลสตัณหา มีโมหะกดดันอยู่ในใจแล้ว มันมีใจครองล้วนทั้งหมดเลยทีเดียว พวกโต๊ะ พวกเตียง มีใจครองสัตว์สาวกสิ่ง ก็มีใจครอง เมื่อเราทำความเข้าใจอย่างนี้ เป็นก้อนอัตตาคือ เข้าไปหวงแหนไว้ ธรรมชาติทั้งหลายเลยมีใจครองทั้งหมด ต้นไม้ก็มี โต๊ะ เตียง ก็มี สัตว์ต่างๆก็มี พัสดุสิ่งของมีหมดถ้าใจเรามีความโลภ ความโกรธ ความหลงอยู่แล้ว ไปทางใดล้วนแต่มีใจครองหมด มีแต่ความยึดความหมายหมด ลักษณะพิจารณาประพฤติปฏิบัติแล้วอย่างนี้ สิ่งที่ไม่มีใจครองนั้นไม่มีเมื่อเราสมมติว่าตัวเรา ว่าตัวเขา ว่าของๆเรา ว่าของๆเขาแล้ว มีอุปาทานมั่นหมายในที่นั่นหมด เกิดเป็นภพเป็นชาติ ทุกสิ่งทุกอย่างได้ทั้งนั้นเลย เกิดสุขได้ เกิดทุกข์ได้ ภพต่ำมี ภพสูงมีด้วยกันทั้งหมด

รวม แล้ว สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงมีใจครองหมด ถ้าเราเข้าไปยึดมั่นถือมั่นแล้ว แต่ว่าโดยธรรมชาติสิ่งเหล่านี้มันไม่มีใจครองพระพุทธเจ้าเลยมาสอนว่า ไม่ให้เอาใจเข้าไปครองสิ่งเหล่านั้น ท่านจึงตรัสว่า สังขตธรรม ธรรมอันปัจจัยปรุง อสังขตธรรม ธรรมอันปัจจัยมิได้ปรุง ธรรมอันปัจจัยปรุงทุกอย่าง จะเป็นรูปเป็นนามเป็นวัตถุน้อยใหญ่ทั้งหลายทั้งปวงในสกลโลกนี้ เมื่อจิตใจเกิดโมหะแล้ว ต้องเข้าไปปรุงไปแต่ง อันนั้นดี อันนั้นร้าย อันนั้นสั้นอันนั้นยาว อันนั้นเลิศ อันนั้นประเสริฐ ทุกสิ่งทุกอย่างเข้าไปปรุงไปแต่งทั้งนั้น จิตใจเข้าไปปรุงแต่งเพราะเหตุไร เพราะไม่รู้สมมติ ไม่รู้สังขารนั่นเอง เมื่อไม่รู้สังขารก็ไม่รู้สมมติ เมื่อไม่รู้สมมติก็ไม่รู้สังขาร การไม่รู้สมมติ ไม่รู้สังขาร คือไม่รู้ธรรมนั่นเอง เมื่อไม่รู้ธรรมก็ติดอยู่ในอุปาทาน เมื่อติดอยู่ก็ไม่มีความหลุดพ้น เมื่อไม่หลุดพ้นก็วุ่นวายอยู่อย่างนั้นก่อ ชาติ ชรา พยาธิ มรณะ ให้เกิดขึ้นมา ถึงความนึกคิดเป็นต้น ก็สร้างชาติชรา พยาธิ มรณะใส่ตัวเจ้าของอยู่เรื่อยๆไป เมื่อจิตใจเป็นอยู่อย่างนี้ มันก็เป็นสังขตธรรม

อสังขตธรรม ธรรมอันปัจจัยไม่ได้ปรุงนั้น เกี่ยวแก่จิตใจของมนุษย์ทั้งหลาย เมื่อเข้าไปเห็นธรรมคือขันธ์ห้าตามเป็นจริง ว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มิใช่ตัว มิใช่เรา มิใช่เขา ที่เรียกว่าตัวเรา ตัวเขา ของเรา ของเขานี้ เป็นของสมมติและก็เป็นสังขารเมื่อเรามารู้สังขารมารู้เท่าสมมติ ก็เหมือนกับเรามารู้ธรรม มารู้สังขารเหล่านี้ว่ามิใช่เรา มิใช่ของๆเราแล้ว มันก็ปล่อยสมมติเหล่านี้ปล่อยสังขารเหล่านี้ เมื่อปล่อยสังขารปล่อยสมมติคือ บรรลุธรรมเข้าไปรู้ไปเห็นธรรม ล่วงรู้ซึ่งธรรม บรรลุซึ่งธรรม เมื่อบรรลุธรรมก็รู้แจ้ง แจ้งอะไร แจ้งว่านี้เป็นสังขาร นี้เป็นสมมติ นี้ไม่ใช่สัตว์ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ความรู้แจ้ง ความรู้เท่าตามเป็นจริง ว่าความจริงมีอยู่อย่างนั้น มันก็เป็นสมมติอย่างนั้น

เมื่อเห็นอย่างนี้จิตก็หลุดพ้น มิใช่สิ่งอื่นหลุดพ้น มีความรู้ตามเป็นจริงแล้วก็หลุดพ้น ร่างกายนี้ก็แก่เฒ่า ชำรุดทรุดโทรมไปเป็นธรรมดา แต่จิตมันหลุดพ้นจากสิ่งเหล่านั้น เมื่อจิตหลุดพ้นจากสิ่งเหล่านั้น อสังขตธรรมก็เกิดขึ้นมา เมื่อมันหลุดพ้นแล้วอสังขตธรรมก็เป็นจิต ธรรมหมดเหตุหมดปัจจัย เหตุปัจจัยเหล่านี้ไม่ได้ปรุงแต่งอีก มิได้มีสังขารไปเจือปนอีกแล้ว มันจะเกิดความดีใจเรา มันจะเกิดความเสียใจมาก็ปรุงไม่ได้ จะมีอะไรมาทุกสิ่งทุกอย่างก็ปรุงไม่ได้ เพราะจิตมันแน่นอนแล้วจิตใจพ้นจากความปรุง มันเห็นสมมติมันเห็นบัญญัติแล้ว มันเห็นสังขารรู้เท่าตามเป็น จริงแล้ว จิตนั้นเลยเป็นเสรี

อันนี้จิตพ้นอย่างนั้นเรียกว่าอสังขตธรรม ธรรมอันปัจจัยไม่ได้ปรุง ถ้าจิตไม่รู้เท่าสมมติ ไม่รู้เท่าบัญญัติ ไม่รู้เท่าสังขารมันก็ปรุงได้ดีมา ได้ร้ายมา ได้สุขมา ก็ปรุง ทำไมมันจึงปรุงเพราะมันมีปัจจัย อะไรเป็นปัจจัย คือความเข้าใจว่ารูปนี้เป็นของเราเวทนานี้เป็นของเรา สัญญานี้เป็นของเรา สังขารนี้เป็นของเราสิ่งทั้งปวงนี้เป็นของเรา อาการที่เข้าใจว่ามันเป็นของเราเป็นเขานี่แหละเป็นปัจจัยให้ก่อสุข ก่อทุกข์ ก่อเกิด ก่อแก่ ก่อเจ็บมาให้จึงได้เป็นชาติ ชรา มรณะอยู่ในเวลาปัจจุบันนี้ จิตเหล่านี้เป็นโลกีย์ หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงอยู่อย่างนั้นทีเดียว ถ้าจิตเป็นอย่างนี้ก็เรียกว่า สังขตธรรม

ได้สิ่งเหล่านี้มาใจเราก็สบาย ได้สิ่งของมามันปรุงใจให้ดีขึ้นได้ ถ้าของนั้นเสียไปปรุงใจให้ร้ายก็ได้ นั่นชื่อว่าจิตเป็นทาสเขาเป็นทาสของตัณหา เขาเอา ของอย่างหนึ่งมาก็เป็นไปอย่าง หนึ่ง จิตนั้นเชื่อตัวเองไม่ได้ จิตนั้นมิได้เป็นเสรี จิตนั้นมิได้เป็นแก่นสารจิตนั้นมิได้รู้เท่าตามเป็นจริง ขณะนั้นท่านเรียกว่าสังขาร มันมีความปรุงแต่งได้เป็นสังขตธรรม ถ้าเป็นเราอยู่ที่นี่เด็กๆโกหกได้คนแก่นี่เด็กโกหกได้ โกหกให้ร้องไห้ก็ได้ โกหกให้หัวเราะก็ได้ โกหกให้เป็นโน่นไปนี่ก็ได้ พอมันโกหกเถอะ คนแก่เหล่านี้ก็เชื่อไปตามมันหมด ทุกสิ่งทุกอย่างนี่เรียกว่าเด็กน้อยมันปรุงได้ ถ้าคนหลงไปไม่รู้ตามเป็นจริงแล้ว สังขารเหล่านี้มันปรุงได้ ปรุงให้ดีใจให้เสียใจก็ได้ ปรุงให้รักให้เกลียดก็ได้ ถ้ามันปรุงได้แสดงว่าจิตใจนี้ต่ำ เป็นทาสของตัณหา แล้วแต่ตัณหามันจะใช้ตามปรารถนาของมัน

เราทั้งหลายพากันบ่นว่า "แหม เป็นทุกข์มาก ลำบากมากจะไม่ไปก็ไม่ได้ กลางคืนกลางวันก็ต้องไป แดดจะร้อนเท่าไรก็มิได้เข้าร่ม แม้จะหนาวแสนหนาวก็มิได้อยู่ มันลำบากจริงๆ" ถ้าอาตมาบอกว่า "หนีเสียสิโยม" ก็พากันพูดว่า "หนีไม่ได้หรอก" มันเป็นทาสของเขาอยู่นี่ ตัณหามันจับมันจูงอยู่อย่างนี้ บางครั้งไปทำนา ถึงจะปวดเยี่ยวก็ต้องเยี่ยวเหมือน ควาย มันเป็น ทาสของเขาถึงเพียงนี้ มันลำบาก

ถ้าถามว่า "เป็นอย่างไรโยม มาบ้างไม่ได้หรือ" ก็พูดว่า"แหมเข้าลึกเหลือเกิน" ไม่รู้ว่าเข้าไปไหนมันจึงเข้าลึกอย่างนั้นนี่แหละสังขารความปรุงแต่ง พระพุทธเจ้าจึง ให้เห็นสมมติ จึงให้เห็นสังขาร คือการเข้าไปเห็นธรรม เห็นตามสภาวะของมันแล้วเมื่อเห็นทั้งสองอย่างแล้ว ก็ต้องทิ้งต้องวางให้มัน ปล่อยให้มันว่าเป็นธรรมดาของมันอย่างนั้น เกิดนิพพิทาเบื่อหน่ายในสมมติ ในสังขารนี้ ได้อะไรมาก็ไม่เป็นแก่นสารว่าดีแล้วมันก็ร้าย ร้ายแล้วมันก็ดี กลับให้ชอบแล้วก็กลับให้เกลียด ให้หัวเราะแล้วกลับให้ร้องไห้ ทุกอย่างแล้วแต่มันจะเป็นไป อันนี้เพราะอะไร เพราะใจมันต่ำ สังขารทั้งหลายมันเป็นปัจจัยให้วุ่นวาย ให้น้อย ให้ใหญ่ให้สุข ให้ทุกข์ เราทั้งหลายจึงหมดหนทาง

ฉะนั้นบรรพบุรุษทั้งหลาย ถึงแม้ตายไปแล้วก็ยังนิมนต์พระไปให้มาติกา จับด้ายชักบังสุกุลว่า อนิจฺจา วต สงฺขารา อุปฺปาทวยธมฺมิโน อุปฺปาชฺชิตฺวา นิรุชฺญนฺติ เตสํ วูปสโม สุโข สังขารทั้งหลายมันไม่เที่ยง กายเรา มันก็ไม่เที่ยง จิตใจเรามันก็ไม่เที่ยงทั้งรูปทั้งนามไม่เที่ยง อันที่ว่าไม่เที่ยงคือไม่ตั้งอยู่อย่างเก่า มันเปลี่ยนไป แปรไป ถึงธรรมชาติเกิดมาก็ไม่เที่ยงไม่อยู่อย่างเก่าโดยเฉพาะร่างกายของเราก็เหมือนกัน มีอะไรมันจะเหมือนเก่าบ้างผม ฟัน หนัง มันจะเหมือนไหม สภาวะร่างกายมันไม่เหมือนเก่าสภาวะอันนี้มันไม่เที่ยงอย่างนี้ รูปนี้เที่ยงไหม นามคือจิตใจของเรามันเที่ยงไหม ทุกวันนี้มันเที่ยงไหม คิดดูซิ วันหนึ่งๆมันเกิดกี่ครั้ง มันดับกี่ครั้ง สิ่งทั้งสองอย่างมีแต่เกิดและดับ มีแต่ตัวสังขารเปลี่ยนแปลงวุ่นวายอยู่เสมอ

เราจะทำให้มันถูกตามเป็นจริงทำไม่ได้ เพราะไปทำกับของที่ไม่จริง เหมือนกับเราเดินทางมีคนตาบอดเป็นผู้นำ ทำอย่างไรจึงจะสบาย มันจะจูงเข้าดงเข้าป่าไปเท่านั้น เราจะบอกว่าให้พาไปที่เตียนๆมันจะเตียนได้อย่างไร เพราะคนนำทางตาบอดมองไม่เห็นใจเรามันหลงสร้างความทุกข์ใส่ตัว นึกว่าเป็นความดี สร้างความยากให้ตัวนึกว่ามันจะให้มันง่าย สร้างแต่เรื่องยุ่งยากใส่ ตัวเอง สร้างแต่สิ่งที่จะนำทุกข์มาให้ตัวเอง อยากให้มันหายทุกข์อยากให้มันหายอยาก กลับสร้างแต่สิ่งที่ทุกข์ที่ยากมาใส่ จึงพากันร้องโอดครวญอยู่อย่างนั้น พาไปทำแต่เหตุที่มันไม่ดี มันจึงเป็นอย่างนั้น เพราะไม่รู้จักสมมติ ไม่รู้จักสังขาร

สังขารธรรมมันไม่เที่ยง สังขารที่มีวิญญาณครองบ้างสังขารที่ไม่มีวิญญาณครองบ้าง เมื่อรวมสังขารทั้งหมดแล้ว ที่ไม่มีวิญญาณครองนั้นไม่มี สิ่งของที่อยู่ในบ้านของเรา อันไหนเล่าที่ไม่มีวิญญาณครอง แม้กระทั่งส้วมถ่ายว่าไม่มีวิญญาณครอง ลองให้เราเอาค้อนไปทุบดูสิ น่ากลัวจะต้องเดือดร้อนถึงเจ้าหน้าที่ นั่นมันไปครองอยู่กระทั่งอุจจาระ ปัสสาวะ มันมีวิญญาณครองทั้งนั้นสังขารที่ไม่มีวิญญาณครองนั้นไม่มีในโลก นอกจากท่านผู้มารู้เท่าตามเป็นจริง เห็นสมมติ สังขารตามเป็นจริง

สมมติขึ้นมา ทำไมจึงต้องสมมติ สิ่งที่ถูกสมมตินั้นเพราะเดิมมันไม่มี เช่นเดียวกับพวกเรานั่งประชุมกันอยู่นี้ อยากจะได้ไม้มาตอกเป็นหลัก เลยขีดดินลงไปว่า อันนี้สมมติว่าหลักนะ เลยเอาก้อนหินก้อนหนึ่งมาตั้งไว้สมมติว่าหลัก มันไม่ใช่หลัก ไม่มีหลักจึงสมมติขึ้นมา ที่แท้เป็นก้อนหิน เอาไปวางไว้แต่สมมติว่าเป็นหลัก สมมติว่าเมือง สมมติว่าควาย สมมติว่าวัว สมมติอะไรได้หมด ทำไมจึงต้องสมมติ เพราะมันไม่มีตามธรรมชาติ เลยเอานิ้วมือเขียนดิน นี่สมมติว่าพระ นี่สมมติว่าฆราวาส สมมติอะไรก็ได้ เพราะมันไม่มี เช่นเดียวกับกาละมังว่างๆเอาอะไรใส่ก็ได้เพราะมันไม่มีอะไร นี่เรียกว่าสมมติ พวกเราก็เหมือนกันก็นั่นแหละผู้หญิงก็สมมติ ผู้ชายก็สมมติ

ถ้าเรามารู้เท่าสมมติตามเป็นจริงแล้ว สัตว์ก็ไม่มี เพราะเราไปสมมติมันเข้า การสมมติว่าคนก็เช่นกัน ถ้าเราเข้าใจสมมติมันก็สบาย เขาว่าดีก็ได้ ว่าชั่วก็ได้ เพราะมันไม่มี แต่เราไปเข้าใจว่าคนจริงๆสัตว์จริงๆ ของเราจริงๆ ต้องร้องไห้ตามมัน หัวเราะตามมันอันนี้เป็นสังขารคือความปรุงแต่ง ถ้าเราไปเข้าใจว่าเป็นเราเป็น เขามันก็เกิดทุกข์ร่ำไป เพราะ เราเป็นมิจฉาทิฏฐิ มีความเห็นผิด ถ้ามารู้เท่าตามเป็นจริงแล้วว่า อ้อ! อันนี้มันเป็นสมมติเท่านั้น เขาว่า ตาสี ตาสา ตามี ตามา มันไม่มีมาแต่ก่อนหรอก เมื่อเกิดมาแล้วเขาจึงตั้งชื่อให้ มิใช่หรือ หรือว่ามีมาแต่ก่อนเกิด มันเป็นเบอร์เกิดขึ้นมาพร้อมหรืออย่างไร เรามาตั้งชื่อเอาใหม่ ทำไมจึงตั้งเอาเพราะมันไม่มีแต่เดิมจึงตั้งชื่อเอา

สมมติเหล่านี้ เราก็เห็นชัดอยู่แล้ว อันความดี ชั่ว สูง ต่ำดำ ขาว เหล่านี้ก็ล้วนแต่สมมติทั้งนั้น พวกเราพากันหลงสมติเหล่านี้แหละ เวลาตายจึงต้องชักบังสุกุลว่า อนิจฺจา วต สงฺขาราเป็นต้น สังขารเหล่านี้มันไม่เที่ยง มีความเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป มันก็เป็นจริงตามนั้น สิ่งไหนเล่าที่เกิดขึ้น แล้วไม่ดับ ล้วนแต่เกิดแล้วดับทั้งนั้น คนเกิดมาแล้วก็ตายไป เวลาใจร้ายเกิดขึ้นมาก็หยุดไปใจดีเกิดขึ้นมาก็หยุดไป เช่น เวลาเราร้องไห้ มันร้องไห้อยู่ติดๆกันสามสี่ปี มีไหม อย่างมากก็ตลอดคืน ก็หยุดไปเอง เมื่อเกิดขึ้นก็ดับไปทั้งนั้น เตสํ วูปสโม สุโข ถ้าเราทั้งหลายมาเข้าใจในสังขารเหล่านี้แล้ว มาสงบระงับมันเสีย สงบระงับสังขารเหล่านี้ได้ เป็นสุข เหลือเกิน นี่เป็นบุญจริงๆมาสงบจากสังขารจากสัตว์ จากบุคคล จากตัว จากตน จากเรา จากเขา เสียได้ ให้มันพ้นจากสิ่งเหล่านี้ ก็เลยเป็นอสังขตธรรม คือจิตใจเรานี้อะไรปรุงแต่งไม่ได้ไม่มีอะไรจะปรุงอะไร มันหมดแล้ว จะเอาอะไรอีกเล่า มันสุดแล้วหมดแล้ว

พระพุทธองค์ตรัสสอนสิ่งที่มันมีอยู่นี่แหละ ที่เราให้กินให้ทาน เรามาฟังเทศน์ฟังธรรม ก็มาค้นหาสิ่งนี้ให้รู้แจ้งตามเป็นจริงถ้ารู้แจ้งตามเป็นจริงแล้ว ไม่ต้องไปเรียนวิปัสสนาหรอก มันเป็นเองของมันเรื่องสมถะ เรื่องวิปัสสนาก็เป็นเรื่องสมมติขึ้นว่าเอา ถ้าเรื่องจิตมันรู้แล้ว มันหลุดพ้นแล้วอย่างนี้ มารวมนี้หมดเลย นี่เรื่องภาวนา เรื่องปฏิบัติธรรม เรื่องพิจารณา มันจึงหลุดพ้นทุกข์เมื่อหมดความยึดมั่นถือมั่นก็เลยหมดภพหมดชาติ จึงไม่มีภพไม่มีชาติ เมื่อไม่มีภพ ไม่มีชาติ ก็ไม่มีเกิด ไม่มีตาย ใจเรานั้นเมื่อดีมาก็ไม่ดีเมื่อชั่วมาก็ไม่ชั่ว มันไม่ไปไม่มาให้เรา มันจึงหมดนี่จุดศาสนาที่พระบรมศาสดาของเราต้องการ

พระองค์ทรงสอนทั้งในเมื่อเรามีชีวิตอยู่ เวลาตายก็นำไปสอนอยู่อย่างนั้นว่า อนิจฺจา วต สงฺขารา แต่พวกเราไม่มีการเข้าไปสงบสังขาร มีแต่เข้าไปแบกสังขาร คล้ายกับพระชวนไปแบกสังขารนั่นแหละ แบกเอาร้องไห้เอาอย่างนั้น นี่เรียกว่าเรามันหลงสังขาร ฉะนั้นนรกจึงอยู่นี่ สวรรค์ก็อยู่นี่ นิพพานก็อยู่นี่

การประพฤติปฏิบัตินั้น ก็ประพฤติปฏิบัติเพื่อให้เราพ้นทุกข์ทางใจ เมื่อเราพ้นทุกข์ทางใจ เมื่อเรารู้เท่าตามเป็นจริงสิ่งเหล่านี้แล้ว ถ้ารู้ได้อย่างนี้มันก็เป็นอริยสัจจ์ของมันเอง ทุกข์ก็ดี สมุทัยก็ดี นิโรธก็ดี มรรคก็ดี มันเป็นเองทีเดียว บัญญัติทั้งหลายเหล่านี้พวกเราพากันมาเก้อเขินเสีย พากันเข้าใจว่าสิ่งอื่นมาปรุงแต่งพวกต้นไม้ ภูเขาเลากาที่ไม่มีใครครองมันนั้น ท่านพูดแจกไปให้เรารู้ง่ายๆว่า มันไม่มีสติปัญญา มันไปมาไม่เป็น อันนั้นมันของภายนอกเปลือกธรรม มันไม่ทุกข์หรอก อะไรมันก็ไม่ทุกข์สักอย่าง กระพี้มัน เปลือกมัน ถ้าเป็นปรมัตถ์แล้วก็คนนี่แหละเข้าไปมัดมัน ขนาดเข็มเล่มเดียวหักก็ยังตีลูกตีเต้าอยู่ที่บ้าน จะว่ามันไม่ปรุงแต่งไม่มีอะไรครองอย่างไร ถ้วยชามใบเดียวก็ยังเข้าไปครอง ไม้คานอันเดียวก็เข้าไปครอง มันมีแต่สิ่งที่วิญญาณเข้าไปครองทั้งหมด มีใครไปทำให้มันเสียหายลองดูไหปลาร้า หม้อเหล่านี้ก็เกิดตีกันวุ่นวายไปหมด มีแต่ของที่ปรุงทั้งนั้น เมื่อเรารู้เท่าทันอย่างนี้ นั่นคือธรรมะของเรา เราก็พิจารณาว่าปรุงแต่งสังขารไม่ปรุงไม่แต่ง สิ่งนี้มีวิญญาณครอง สิ่งนี้ไม่มีวิญญาณครอง

นี่มันรอบนอก สมกับพระศาสดาตรัสไว้ว่า คราวครั้งหนึ่งพระองค์ทรงพักอยู่ใต้ต้นประดู่ลาย พระองค์จึงกำเอาใบประดู่ที่ร่วงหล่นอยู่นั้น แล้วยกขึ้นถามพวกภิกษุว่า "ภิกษุทั้งหลายใบประดู่ในกำมือของตถาคตนี้กับที่เหลืออยู่ อันไหนมาก อันไหนน้อย"

พวกภิกษุจึงทูลว่า "ใบประดู่ในมือของพระองค์นั้นน้อย ที่อยู่บนต้นและหล่นเกลื่อนกลาดนั้นมีมาก"

"นี่แหละภิกษุทั้งหลายฉันใด ธรรมะที่ตถาคตสอนไปนั้นมาก แต่ไม่เป็นของสำคัญ มิใช่ทางพ้นทุกข์ มันมีมาก

หลายสิ่งหลายอย่างที่พระศาสดาต้องการคือ ต้องการให้พ้นจากทุกข์ ให้พิจารณาเข้าไป มิให้ยึดมั่นในรูป เวทนา สัญญา วิญญาณ ถอนอุปาทานออกจากสิ่งเหล่านี้เสีย มันก็พ้นทุกข์ เหมือนกันกับใบประดู่ในมือตถาคตนี่เอง ไม่ต้องมาก น้อยๆเท่านี้ที่จะเอา อันอื่นไม่มีปัญหา มาหลายอยู่ก็จริง เหมือนกับของในพื้นดินมีมากก้อนดิน ก้อนหญ้า ภูเขาเลากาไม่อด ก้อนหิน ก้อนกรวดทรายก็ไม่อด แต่ว่ามันดี เท่าก้อนเพชร ก้อนพลอย มันมากก็จริงเอาไปขายได้ก็จริง เอาไปหลายๆรถมันก็เหนื่อย ถ้าได้ก้อนเพชรก้อนพลอยก้อนหนึ่งเท่านิ้วมือนี้ ก็มีราคามากฉันใด ธรรมะตถาคตก็ฉันนั้น ไม่ต้องมาก"

ฉะนั้นการกล่าวธรรมหรือการฟังนั้น ให้พากันรู้จักธรรมะอย่าสงสัยว่าธรรมะอยู่ที่ไหน ธรรมะมันอยู่ที่นี่เอง ไปเรียนอยู่ที่ไหนก็ตามมันอยู่ที่ใจ จิตใจเป็นผู้ยึด จิตใจก็เป็นผู้หมาย จิตใจเป็นผู้หลุด จิตใจเป็นผู้พื้น เมื่อเราเรียนสิ่งทั้งหลายทั้งปวงทางนอกนั้น มีแต่เรื่องอาการของจิตทั้งหมด การเรียนอะไรมากๆเช่นเรียนปิฎก เรียนอภิธรรมก็ดีหรอก แต่ว่าอย่าหลงที่เอาของมัน ถ้ามาปฏิบัติให้เป็นผู้ใจซื่อสัตย์สุจริตเป็นเบื้องแรกเท่านั้น ไม่ต้องลำบาก เช่นคนมีความโกรธ คนมีความโลภ คนมีความหลงนี่ความโลภหนึ่ง ความโกรธหนึ่ง ความหลงหนึ่ง พวกญาติโยมที่ไม่เคยได้เรียนหนังสือก็โกรธเป็น โลภเป็น หลงเป็น มิใช่หรือ นั่นเขาไปเรียนมาจากไหน เขาได้เรียนอภิธรรม เรียนปิฎกเมื่อไร โกรธทำไมมีได้ หลงทำไมมีได้ ที่มันอยู่นั้นตรงนี้ เขาไม่ต้องไปเรียนมาจากไหน มันมีของมันได้

เรามาเทศน์มาสอนกัน ก็เพื่อให้มาดูสิ่งนี้ มาละสิ่งนี้เท่านั้นให้มันรู้ออกมามันก็ถูกจุดของมัน ไม่ต้องไปไกลหรอก อยากดูรถไฟให้ไปรออยู่ที่สถานีหัวลำโพงนั้น ไม่ต้องไปทิศเหนือ ทิศใต้ทิศตะวันตก ทิศตะวันออก ไม่ต้องวิ่งตามมัน ไปนั่งรออยู่ที่หัวลำโพงนั่น รถไฟทุกสายมันมารวมอยู่ที่นั้นหมด ผู้ไปไม่ดีหรือดี อยู่มันได้เห็นหลายจังหวัด จังหวัดนั้น จังหวัดนี้ ปักษ์ใต้ปักษ์เหนือ มันได้เห็น แต่ว่าถ้าอยากเห็นรถไฟทุกๆขบวนแล้ว ต้องไปอยู่ที่หัวลำโพงนั่นไม่อด มันจอดอยู่ที่นั่นหมด ไม่ต้องตีตั๋วมันไปก็ได้ นี้ก็เหมือนกันถ้าอยากปฏิบัติจะทำอย่างไร เมื่ออยากเห็นรถไฟทุกขบวน เราไม่มีเงินตีตั๋วรถไปสายใต้ สายเหนือ แต่เราอยากเห็นทุกขบวนต้องไปอยู่ที่หัวลำโพง

ทีนี้บางคนพูดว่า "ผมอยากปฏิบัติแต่ไม่รู้วิธีทำ ครั้นจะไปเรียนไตรปิฎก เรียนอภิธรรม ผม ก็ไม่สามารถ เพราะสมองไม่ให้แก่แล้ว" ก็ให้มาดูตรงนี้ อยู่ที่หัวลำโพงมันนี่ มันโลภขึ้นตรงนี้มันโกรธขึ้นตรงนี้ มันหลงขึ้นตรงนี้ มานั่งดูอยู่ที่มันเกิด ปฏิบัติตรงนี้ เพราะมันติดอยู่ตรงนี้ สมมติอยู่ตรงนี้ บัญญัติอยู่ตรงนี้ศีลธรรมมันเป็นอยู่ตรงนี้

ฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติจึงมิได้เลือกชั้น วรรณะ ขอแต่ว่าเรามาทำความเข้าใจกัน ให้มันรู้ มันเห็น ทีแรก ก็ทำกายวาจาของเราไม่ให้มีโทษก็เป็นศีล พูดถึงศีลก็พากันเข้าใจว่าต้องไปท่องบ่นอยู่ตลอดคืน ตลอดวันมันก็ยาก การมาทำกายวาจาของเราไม่ให้มีโทษก็เป็นศีล มันก็ไม่ยากอะไร เหมือนการทำกับข้าวของเรา อันนั้นก็เอาใส่อันนี้ก็เอาใส่ให้มันพอดี มันก็อร่อยมันเองความอร่อยไม่ต้องเรียกมันมามันก็อร่อยเอง ถ้าใส่เครื่องแกงครบการรักษากาย วาจาของเราให้เรียบร้อยดี มารยาทดีแล้วก็เป็นศีล

การรักษาศีลนั้นเป็นเพียงคำพูดเท่านั้น อันที่จริงแล้วเรามารักษา เรานี่เอง ศีลเราจะไปรักษาท่านทำไม ท่านดีกว่าเราแล้วเป็นบ้าแล้วหรือจึงจะไปเที่ยวหารักษาศีล ไปรักษาท่านที่ดีกว่า ตัวมารักษาตัวเอง ให้ความดีเกิดขึ้นมันจะไม่ดีกว่าหรือ ชอบพูดว่าไปรักษาศีลวัดโน้นวัดนี้ เป็นคนเก่งแล้วหรือ จึงกล้าพูดอย่างนั้น มารักษาตัวเองนี่แหละมันก็เป็นศีลเกิดขึ้นเท่านั้น พวกเรามาหลงคำพูดกันหรอก จึงมองเห็นการรักษาศีลเป็นของยากลำบาก ที่แท้ท่านให้มารักษาตัวเรามันเป็นศีล

การปฏิบัตินี่ที่ไหนก็ทำได้ เมื่อก่อนนี้อาตมาก็กลัว จึงเที่ยวแสวงหาครูบาอาจารย์ เพราะไม่รู้จะปฏิบัติอย่างไร กลัวมันจะไม่ถูก ออกจากเขาลูกนี้ เข้าเขาลูกโน้น ไปโน่น ไปนี่ ไปเรื่อยๆมาค้นคิดดู ทุกวันนี้จึงเข้าใจ ก่อนนี้รู้สึกว่าเราโง่จริงๆ ไปเที่ยวหาแต่กรรมฐาน หารู้ไม่ว่ามันอยู่เต็มศีรษะเรานี่เอง ไม่รู้จักว่าผมเรานี้เป็นกรรมฐาน มานั่งพิจารณาดูทุกวันนี้ มีแต่กรรมฐานอยู่ที่เรานี่เอง มันเกิด มันแก่ มันเจ็บ มันตาย มันอยู่ที่เรานี่ ฉะนั้นพระพุทธองค์จึงตรัสว่า ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ ผู้ฉลาดรู้เฉพาะตน เราก็เคยพูดอยู่ว่า รู้เฉพาะตน แม้แต่คำว่าตนก็ไม่รู้จักเที่ยวหาจนเกือบตาย จนหยุดตามหาแล้วจึงหาในตัวเองจึงได้พูดให้ญาติให้โยมฟัง

การรักษาศีลให้รักษาดังที่กล่าวมานี้ อย่าพากันสงสัยถึงแม้การปฏิบัติอันนี้บางคนว่าอยู่ในบ้านมันจะขัดข้อง ถ้าการปฏิบัติขัดข้องญาติโยมกินข้าวก็ขัดข้องเท่านั้น ดื่มน้ำก็ขัดข้องสิถ้าการปฏิบัติขัดข้องก็อย่ากินเลย การปฏิบัตินี้ มันดีจริงๆทำไมมันจึงจะขัดข้อง ถ้าเราไปเหยียบหนามมันจะดีไหม ถ้าไม่เหยียบหนามมันจะดีไหม ธรรมะย่อมให้ความสุขแก่มนุษย์ทั่วๆไป อยู่ในบ้านเราก็ประพฤติปฏิบัติได้ ปฏิบัติสมกับเราประพฤติได้นั่นแหละมันรู้ได้เห็นได้ เรามาปฏิบัติ ปฏิบัติอย่างนั้น

อันนี้บางคนพูดว่า "ผมอยู่ในที่คับแคบ อยู่ในฆราวาสที่ครอบครัวทำไม่ได้หรอก" เมื่ออยู่ที่คับแคบ ก็พิจารณาอยู่ที่คับๆแคบๆนั่นแหละ ให้มันกว้างออก ใจเรามันหลงให้มันรู้อยู่ในคับแคบ ยิ่งไม่ประพฤติปฏิบัติ ยิ่งไม่เข้าวัดเข้าวายิ่งไม่ฟังเทศน์ฟังธรรม ยิ่งหมก ตัวอยู่ในรูเหมือนกบอยู่ในที่คับแคบ มีแต่เหล็กงอๆเป็นขอเกี่ยวแหย่ลงไปในนั่นแหละจะมีที่หลีกหรือ เดี๋ยวก็ยืนคอคางถวายเขาเท่านั้นแหละ ให้ระวังอยู่ในที่คับๆเหล็กงอๆเขาจะหย่อนลงไปเกี่ยวคางขึ้นมา ภาวนาก็เช่นกัน อยู่ในบ้านในเรือนก็ยุ่งยากเพราะลูกหลาน ยิ่งทุกข์ยิ่งยากเราก็ยิ่งไม่รู้จัก ไม่รู้จักที่ปลดเปลื้องสักที เวลาความแก่ ความเจ็บ ความตายเข้ามาถึงเอา เราจะทำอย่างไร มันก็เหมือนกับเขาเอาขอเกี่ยวเอากบที่อยู่ในที่คับแคบนั่นแหละ เราจะหลีกไปทางไหนกัน มิใช่คางก็ซีโครงเท่านั้นที่จะถูกขอเหล็กเขาเกี่ยวขึ้นมา

ใจของเราก็เหมือนกัน มันยุ่งยากอยู่กับลูกหลาน วัวควายสิ่งของต่างๆ ไม่รู้จักวิธีปลดเปลื้องมัน เมื่อไม่มีศีล ไม่มีธรรมมันกว้าง มันขวาง ไม่มีทางแก้ ทางปลด ทางหลบ ทางหลีกเวทนาสัญญา สังขาร วิญญาณ ทุกข์ขึ้นมาก็ทุกข์ไปกับมัน มันทุกข์เพราะอะไร ไม่พิจารณาก็ไม่รู้ ถ้ามันสุขขึ้นมาก็เห่อเหิมในสุขนั่นเอง มันสุขเพราะอะไรมิได้พิจารณาดูมีแต่คับแคบ มีแต่มืดหน้าเข้าไปอยู่อย่างนั้น

ฉะนั้นจงพากันเข้าใจใหม่ อยู่ที่ไหนมันก็ปฏิบัติได้ เพราะใจอยู่ที่เรา นั่งอยู่ ก็ดีเราก็รู้จัก ถ้าคิดชั่วเราก็รู้จัก เพราะมันอยู่กับเรานอนอยู่คิดดีก็รู้ คิดชั่วก็รู้ เพราะที่ปฏิบัติมันอยู่ที่เรา บางคนเข้าใจว่าจะต้องไป วัดทุกๆวัน มิได้เป็นอย่างนั้น ให้ดูจิตของเราถ้ารู้ที่ประพฤติปฏิบัติแล้ว ดีจริงๆนี่ประการหนึ่ง

ประการที่สองนั้นให้เข้าใจว่า พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ให้ดูตัวเอง อย่าไปถือมงคลตื่นข่าว ท่านจึงว่า สีเลน สุคติ งฺ ยนฺติสีเลน โภคสมฺปทา สีเลน นิพฺพุติงฺยนฺติ ตสฺมา สีลํวิโสธเย นี่ศีลนี้คือการกระทำของเรา ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว อย่าไปเข้าใจว่าเทวดามาทำให้เรา เทวดาอารักษ์ ภูตผี ปีศาจ วัน เวลาฤกษ์งามยามดีต่างๆ พวกนี้จะทำให้เรานั้น ไม่ใช่อย่างเข้าใจอย่างนี้ ถ้าเข้าใจอย่างนี้จะเป็นทุกข์ มันจะค่อยแต่วัน เดือน ปีเทวดาอารักษ์หามาให้ มันจะมีความทุกข์เปล่าๆ ให้หาเอาด้วยกาย วาจาของเราด้วยกรรมคือการกระทำของเรา เราทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ถ้าเราเข้าใจว่าของดีของชั่ว ของผิดของถูกอยู่ที่เรา ที่กายที่วาจา ที่ใจของเราแล้ว เราก็ไม่ต้องไปหาที่อื่น หาตรงที่มันมีอยู่เช่นสิ่งของที่มันตกลงตรงนี้ ก็หาตรงที่มันตกลงนี่เอง ไม่เห็นก็ให้มันอยู่เราหาตรงที่มันตกนี่ อันนี้มันตกที่นี่ไปหาที่โน่น เมื่อไรมันจะเห็นเล่า ถ้าเราทำดีทำชั่วอยู่กับเรา ไม่วันใดก็วันหนึ่งก็ต้องเห็นให้เราเข้าใจอย่างนี้

สัตว์เป็นไปตามกรรมคือการกระทำของตน กรรมคืออะไรญาติโยมชอบเชื่อมาก เกินไป ถ้าไม่ทำบาป ยมบาลท่านจดไว้จะไปท่านก็ตามจด ท่านจะเอาบัญชีมาอ่านเอา เรียกเอาผู้นั้นทำกรรมนั้นผู้นี้ทำกรรมนี้ กลัวแต่ยมบาลข้างหน้า ไม่รู้จักยมบาลที่ใจตัวเองนี้ ถ้าตัวเราทำชั่ว ให้ไปหลบทำอยู่คนเดียวสิ มันจดเองมันที่นั่งอยู่ที่นี่คงจะมีอยู่หลายคนที่เคยแอบไปทำชั่วอยู่คนเดียวทำไม่ให้คนอื่นเห็น แต่เจ้าของเห็นยมบาล มันเห็นอยู่ ผู้หญิงผู้ชายเหมือนกันคงจะเคยทำอยู่คนเดียวนั่น นึกได้ไหมล่ะ นึกดูเอาเอง มันเป็นปัจจังตังเห็นอยู่นั่นแหละ ยมบาลท่านจดไว้แล้ว หนีไม่พ้น แม้จะทำอยู่คนเดียว หลายคน นอกทุ่ง กลางทุ่งก็ตามใครบ้างที่เคยไปลักของคนเดียว คนพวกนี้คงจะมีขโมยอยู่ แต่ก่อน เคยขโมยของคนอื่น ทุกวันนี้ไม่ขโมยของคนอื่น ก็ขโมยของตัวเอง อาตมาเองก็มักจะเป็นอยู่ จึงเชื่อว่าญาติโยมอยู่ที่นี่คงจะเคยทำชั่วอยู่คนเดียวมิให้คนอื่นเห็น แต่ตัวเองรู้จักไม่กล้าพูดให้คนอื่นฟังเท่านั้นเพราะมันสนุก เรื่องนี้มันขำเหลือเกิน นี่แหละยมบาลท่าน จดไว้หรอก ไปทางไหนท่านก็จดไว้ในบัญชีใจ คือเจตนา เรารู้ตัวเราเอง เมื่อทำชั่วแล้วมีชั่ว ทำถูกแล้วมีถูก จะไปทำอยู่ที่ ที่คนไม่เห็นไม่มี ถ้าเราทำผู้อื่นไม่เห็น เราก็เห็น มันไม่ไปไหนหรอก พระพุทธเจ้าสอนให้เห็นเจ้าของ แม้ลงไปอยู่ในรูก็เห็นเจ้าของอยู่ในรู เลยทำบาปไม่ได้

ฉะนั้นทำไมจะไม่เห็นความบริสุทธิ์ของตน เราเห็น หมด สงบก็รู้ ทุกข์ก็รู้ พ้นก็รู้ ไม่พ้นก็รู้ ดังนั้นศาสนาของพระพุทธเจ้านี้ ถ้าทำต้องรู้จัก ไม่ใช่เหมือนพราหมณ์ พอขึ้นไปว่า "ให้ท่านอยู่ดีมีกำลังเน้อ ให้ท่านมีอายุยืนนาน" พระพุทธเจ้าท่านไม่พูดอย่างนั้น การพูดแต่ปากมันจะหายได้อย่างไรกัน พระพุทธเจ้าเมื่อไปดูคนป่วยถามว่า เบื้องแรกเป็นอะไร ก่อนจะเป็นไข้นี้เป็นอะไรมาก่อน มันเป็นอย่างนั้นๆ เล่าไป อ้อมันเป็นอย่างนี้ เอายาให้กินลองดู ฉีดลองดู ถ้าไม่ถูกตามอาการอีกฉีดยาดู ถ้าถูกแล้วก็ใช่แล้ว ทำอย่างมีเหตุผล ส่วนพวกพราหมณ์เอาฝ้ายผูกแขนแล้วพูดว่า "เออ! ให้ท่านอยู่ดีมีกำลัง ข้าไปแล้วให้เจ้าลุกขึ้นกินปลา หากินข้าวได้นะ"...จ้างก็ไม่หาย มันไม่มีเหตุผลอะไรนี่ แต่ญาติโยมชอบเชื่ออย่างนั้น พระพุทธเจ้ามิได้หมายถึงอย่างนั้น ท่านให้หมายถึงการมีเหตุมีผลในการปฏิบัติ

พระพุทธศาสนาล่วงเลยมาหลายพันปีแล้วอย่างนั้น บางคนก็ถ่ายทอดมาจากพ่อแม่ครูบาอาจารย์ ท่านพาทำอย่างไร ก็ทำเรื่อยๆมาอย่างนั้น ถึงแม้ผิดก็ทำอยู่อย่างนั้นแหละ อันคนโง่ เขาพาทำอะไรก็ทำตามเขา พระพุทธเจ้าท่านมิได้ประสงค์อย่างนั้นท่านต้องการให้มีเหตุ มีผล ยกตัวอย่างคราวครั้งหนึ่ง พระองค์เทศน์ให้พระสารีบุตรฟัง เทศน์ไปๆเทศน์จบแล้วจึงตรัสถามว่า"สารีบุตรเธอเชื่อเราไหม" พระสารีบุตรทูลว่า "ยังไม่เชื่อ เชื่อไม่ได้"พระองค์จึงตรัสว่า "ดีแล้วสารีบุตร" ปราชญ์หรือคนมีปัญญาไม่เชื่อง่ายหรอก ต้องไตร่ตรองหาเหตุผลให้รู้ตามเป็นจริงเสียก่อนจึงเชื่อ แต่ครูบาอาจารย์ส่วนมากเดี๋ยวนี้มักจะพูดว่า แกไม่เชื่อข้าจะหนีไปไหนก็ไป...ไล่หนีเลย เราเลยพากันกลัว ท่านพาทำอะไรก็ทำไป เชื่อไปอย่างนั้น พระพุทธเจ้าท่านสอนให้เป็น คน มีเหตุมีผลให้คอยได้ยินได้ฟังทั้งพิจารณา อย่างอาตมาเทศน์ให้ฟังก็เช่นกันให้เอาไปพิจารณาว่า ถูกดังที่พูดไหม ให้เป็นผู้ค้นคว้าจริงๆ ให้อยู่ที่ตัวเราทั้งหมด

ท่านจึงให้รักษาจิต ผู้ใดก็ตามรักษาจิตของตน ผู้นั้นจักพ้นจากบ่วงของมาร เพราะจิตเรามันเข้าไปยึดมั่นเข้าไปหมาย เข้าไปรู้เข้าไปเห็น เข้าไปสุข เข้าไปทุกข์ เพราะจิตของเราทั้งนั้น เมื่อเรารู้เท่าตามเป็นจริงของสมมติสังขารเหล่านี้ แล้วมันจึงเปลื้องทุกข์เหล่านี้ออกตามธรรมชาติธรรมดาของมัน

สิ่งทั้งหลายทั้งปวง มันเป็นของมันอยู่อย่างนั้น มันมิได้ให้ทุกข์เราเช่นเดียวกับหนาม หนามที่แหลมๆมันให้ทุกข์เราไหมเปล่า มันเป็นหนามอยู่อย่างนั้นมิได้ให้ทุกข์ผู้ใด ถ้าเราไปเหยียบมันเข้าก็ทุกข์ทันที ทำไมจึงเป็นทุกข์ เพราะไปเหยียบมัน "ฉันเป็นหนาม ฉันก็เป็นอยู่ของฉัน ฉันไม่ได้ไปทำใคร" มันมิได้ให้โทษใครเราไปเหยียบมัน เราจึงเจ็บปวดจะว่าเป็นเพราะเรา รูป เวทนาสัญญา สังขาร วิญญาณ ของที่มันเป็นอยู่ในสกลโลกนี้ มันเป็นของมันอยู่อย่างนั้น เราไปชวนชกเอา ไปชกมันๆ มันก็กลับชกคืนนั่นเอง เขาอยู่เฉยๆเขาไม่มีโทษอะไรนี่ เจ้าจองหองกินเหล้าเมาแล้วไปยุ่งกับเขา สังขารเหล่านั้นก็เป็นอยู่ตามสภาพของมัน ท่านจึงกล่าวว่า เตสํ วูปสโม สุโข ถ้าเรามาสงบสังขารเห็นสมมติสังขารว่า ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน มันเป็นสักกายทิฏฐิแล้วนั่น มันก็สงบ จากว่าตัว ว่าตน ว่าเรา ว่าเขา

ถ้าเข้าใจว่า เราดี เราชั่ว เราเลิศ เราประเสริฐ มันก็เป็นพิษอยู่นี่แหละ ถ้าเข้าใจว่ามันเป็นสมมติ มันเป็นสังขาร เขาจะว่าดีบ้าง ว่าชั่วบ้างก็ปล่อยให้เขาได้ ถ้ายังเข้าใจว่ากู ว่ามึงอยู่นี่มันก็แตนสามรังนั่นแหละ อยู่นี่พูดเฉยๆก็ต่อยคืนเลย เพราะมันห่วงหวงของไม่น่ากิน หวงของต่ำๆ พูดเฉยๆ ก็ยังหวง พระพุทธเจ้าบอกพวกนี้คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ถ้าเราพิจารณาเห็นสมมติสังขารเหล่านี้ตามเป็นจริงแล้ว ไม่มีการถือเนื้อถือตัวหรอก เห็นพ่อเขาก็ เหมือนพ่อเรา เห็นแม่เขาก็เหมือนแม่เราเห็นลูกเขาหลานเขาก็เหมือนลูกเราหลานเรา เห็นความสุข ความทุกข์ของหมู่ของเพื่อน ของสัตว์ต่างๆก็เหมือนกันเสมอ

นี่ก็เห็นพระศรีอริยเมตไตยเท่านั้นเอง ไม่ยุ่งยากอะไรมันเสมอกัน แผ่นดินก็ราบเหมือนหน้ากลองชัยเท่านั้น ให้มัวแต่ปรารถนาให้พบพระจ้าเมตตรัยอยู่นั่น อย่าพากันปฏิบัติ มันคงจะได้พบละสิ ท่านไม่เป็นบ้าพอจะเอาคนอย่างนั้นไปด้วย เราก็ได้แต่พากันสงสัย มิได้สงสัยในสักกายทิฏฐิ เขาจะว่าดีว่าชั่วก็ช่างโลกเขาเถอะ ใจเรามันปล่อยว่างมันสงบสังขารก็เลยเป็นสุข วิจิกิจฉาความสงสัยลังเล ว่าเราป็นนั่นเป็นนี่ ว่าดีนั่น ชั่วนี่ ก็มิได้สงสัยในเรา เราดีกว่าเขา เราชั่วกว่าเขา ไม่ตื่นเต้นไปในกลุ่มใด ชุมนุมใด ก็สบาย สีลัพพตปรามาส การปฏิบัติจะลูบคลำก็ไม่มี ผู้นี้น่าชัง ผู้นี้น่ารัก ที่นี่ดี ที่นั่นชั่ว ที่นั่นผิด ที่นี่ถูก อันนั้นเป็นอย่างนั้น เปล่า...ไม่มี มันราบไปหมด มันก็พบหน้าพระเจ้าเมตตรัยถึงศาสนาของพระองค์เท่านั้น ผู้ที่ประณมแต่มือ ปรารถนาเอาแต่ปากมันคงจะได้กระมัง ให้พากันเตรียม ให้พากันหามันเป็นอย่างนี้

อันนี้แหละเป็นข้อวัตร ข้อปฏิบัติ พวกเราทั้งหลายมาประชุมวันนี้ เทศน์ไปอีกก็จะเป็นอย่างนี้แหละ มิใช่อย่างอื่น เทศน์ไปอีกก็เป็นอย่างนี้อีก เอาละส่งมาถึงตรงนี้ก็พากันพิจารณาไป ส่งถึงหนทางใครจะไปก็ไป ใครจะอยู่ก็อยู่ ใครไม่อยู่ก็ไป ใครจะทำอย่างไรก็ทำ พระ พุทธเจ้าก็ส่งแค่ปากตรอกนี่แหละ อกฺขาตะโรตถาคต พระตถาคตเป็นแต่ผู้บอก อาตมาปฏิบัติท่านก็บอกแค่นี้อาตมาก็หาทำเอา ทำมาแล้วเอามาสอนญาติโยมก็มาบอกแค่นี้ แค่ปากตรอกนี้ ใครอยากกลับก็กลับ ใครอยากไปก็ไป ใครอยากอยู่ก็อยู่ เอ้า...เอวังเท่านี้นะ...