ธรรมในวินัย

 

การปฏิบัติของเรานะมันเป็นของยากอยู่ไม่ใช่เป็นของง่าย คือเรารู้อยู่ส่วนหนึ่งแต่ว่าส่วนที่ไม่รู้นั้นมีมาก ยกตัวอย่างเช่นว่า ให้รู้กายแล้วก็รู้กายในกายอย่างนี้เป็นต้น ให้รู้จิตแล้วให้รู้จิตในจิต ถ้าเรายังไม่เคยปฏิบัติมาเราได้ยินคำพูดเช่นนี้เราก็งงเหมือนกัน พระวินัยนี้ก็เหมือนกัน สมัยก่อนผมก็เคยเป็นครูโรงเรียนแต่เป็นครูน้อยๆ ไม่มาก ทำไมถึงเรียกว่าครูน้อย? คือครูไม่ได้ปฏิบัติสอนพระวินัย แต่ว่าไม่ได้ปฏิบัติตามพระวินัย เรียกว่าครูน้อย ครูไม่สมบูรณ์ ที่ว่าครูไม่สมบูรณ์ ออกมาปฏิบัติแล้วก็ไม่สมบูรณ์ พูดถึงเรื่องส่วนใหญ่มันไกลมากเหมือนกันกับไม่ได้เรียนอะไรเลย เรื่องพระวินัย

ฉะนั้น ผมจึงขอเสนอความเห็นแก่พระภิกษุทั้งหลายว่า เรื่องการปฏิบัตินั้น เราจะรู้พระวินัยโดยสิ้นเชิงก็ไม่ได้ เพราะบางสิ่งรู้ก็เป็นอาบัติไม่รู้ก็เป็นอาบัติ มันก็เป็นของยากแต่ว่าพระวินัยนี้ ท่านกำชับไว้ว่า ถ้าหากว่ายังไม่รู้สิกขาบทใด ข้ออรรถอันใด ก็ให้ศึกษาให้รู้สิกขาบทนั้นด้วยความพยายามจงรักภักดีต่อพระวินัย ถึงไม่รู้ท่านก็ให้พยายามศึกษาข้อนั้นให้รู้ ถ้าไม่เอาใจใส่ก็เป็นอาบัติอีก

เช่นว่า ถ้าเราสงสัยอยู่นะเป็นหญิงสำคัญกว่าผู้ชาย เข้าไปจับเลยอย่างนี้สงสัยอยู่ก็เข้าไปจับมันก็ยังผิดอยู่ ผมก็เคยคิดว่าไม่รู้ทำไมมันผิด เมื่อมานึกถึงการภาวนา เราผู้ปฏิบัติจะต้องมีสติ จะต้องพิจารณา จะพูดจะจา จะจับ จะแตะทุกอย่าง จะต้องพิจารณาก่อนให้มาก ที่เราพลาดไปนั้นเพราะเราไม่มีสติ หรือมีสติไม่พอหรือไม่เอาใจใส่ในเวลานั้น

เช่นว่า ตะวันยังไม่ห้าโมงแต่ในเวลานั้นฝนฟ้าอากาศมันครึ้ม ไม่สามารถที่จะมองเห็นตะวันได้ ไม่มีนาฬิกาเราก็เลยคิดประมาณเอาว่า "มันจะบ่ายไปละมั้ง" มีความรู้สึกอย่างนี้จริงๆ ในจิตใจเราสงสัยอยู่ แต่เราก็ฉันอาหารเสียพอฉันไปได้พักหนึ่ง แสงสว่างของพระอาทิตย์มันก็เกิดขึ้นมาได้ห้าโมงกว่าเท่านั้นเอง นี้เป็นอาบัติแล้ว ผมก็มาคิดในใจว่า "เอ๊ะมันก็ยังไม่เกินเที่ยงทำไมเป็นอาบัติ?" ท่านปรับอาบัติเพราะว่าเผลอเรอ ไม่เอื้อเฟื้อ ไม่พิจารณาให้ถี่ถ้วนนี้เอง ไม่สังวรสำรวม ทำไมถึงเป็นอย่างนั้นล่ะ? ถ้าหากว่าสงสัยแล้วยังทำอยู่อย่างนี้ท่านปรับอาบัติทุกกฎ เพราะว่าสงสัยสงสัยว่าบ่ายแต่ความจริงนั้นไม่บ่ายถูกอยู่ แต่ก็ปรับอาบัติตอนนี้เพราะว่าอะไร? ปรับเพราะไม่สังวรระวังประมาท ถ้าหากว่ามันบ่ายไปแล้วสงสัยอยู่ว่าไม่บ่ายก็เป็นอาบัติปาจิตตีย์ ที่ท่านปรับอาบัติทุกกฎนี้เพราะไม่สังวรสำรวมสงสัยอยู่ จะถูกก็ตามจะผิดก็ตามต้องอาบัติ ถ้าหากมันถูกก็ปรับอาบัติหย่อนลงมา ถ้าหากมันผิดปรับอาบัติอย่างเต็มที่เลย

ฉะนั้น เมื่อพูดถึงเรื่องพระวินัยนี้ ฟั่นเฝือมากเหลือเกิน ผมเคยไปกราบเรียนท่านอาจารย์มั่น ในเวลานั้นเรากำลังจะเริ่มปฏิบัติแล้วก็อ่านบุพพสิกขาไปบ้าง ก็เข้าใจพอสมควร ทีนี้ไปอ่านวิสุทธิมรรคท่านมาพูดถึงสีลานิเทศสมาธินิเทศปัญญานิเทศ...ศีรษะผมมันจะแตกเลย อ่านแล้วก็มาพิจารณาว่า มนุษย์ทำไม่ได้ทำอย่างนั้นไม่ได้ แล้วคิดไปอีกว่า อันที่มนุษย์ทำไม่ได้นั้นพระพุทธเจ้าท่านไม่สอนหรอก ท่านไม่สอนแล้วท่านก็ไม่บัญญัติเพราะว่าสิ่งนั้นไม่เป็นประโยชน์ต่อท่าน และก็ไม่เป็นประโยชน์ต่อบุคคลอื่นด้วย สิ่งอะไรที่ใครทำไม่ได้ท่านไม่สอน สีลานิเทศนี้มันละเอียดมาก สมาธินิเทศก็ยิ่งละเอียด ปัญญานิเทศมันก็ยิ่งมากขึ้นอีก เรามานั่งคิดดูไปไม่ไหวเสียแล้วไม่มีทางที่จะไป คล้ายๆ ว่ามันหมดหนทางเสียแล้ว

ถึงคราวนั้นก็กำลังกระเสือกกระสนเรื่องปฏิปทาของตนอยู่ มันก็ติดอยู่อย่างนี้ พอดีได้มีโอกาสไปนมัสการท่านอาจารย์มั่น ก็เลยเรียนถามท่านว่า

"ผมจะทำยังไง?" "เกล้ากระผมปฏิบัติใหม่แต่ก็ไม่รู้จะปฏิบัติอย่างไร ความสงสัยมาก ยังไม่ได้หลักในการปฏิบัติเลยครับ"

ท่านว่า "มันเป็นยังไง?"

"ผมหาทางก็เลยเอาหนังสือวิสุทธิมรรคขึ้นมาอ่าน มีความรู้สึกว่ามันจะไปไม่ไหวเสียแล้วเพราะว่าเนื้อความในสีลานิเทศ สมาธินิเทศ ปัญญานิเทศนั้น ดูเหมือนไม่ใช่วิสัยของมนุษย์เสียแล้ว ผมมองเห็นว่ามนุษย์ทั่วโลกนี้มันจะทำไม่ได้ครับ มันยาก มันลำบากกำหนดทุกๆ สิกขาบทนี้มันไปไม่ได้ครับ มันเหลือวิสัยเสียแล้ว"

ท่านก็เลยพูดว่า

"ท่าน...ของนี้มันมากก็จริงหรอกแต่มันน้อย ถ้าเราจะกำหนดทุกๆ สิกขาบทในสีลานิเทศนั้นนะ มันก็ยาก มันก็ลำบาก...จริง แต่ความเป็นจริงแล้วนะที่เรียกว่าสีลานิเทศนั้น มันเป็นนิเทศอันหนึ่งซึ่งบรรยายออกไปจากจิตใจของคนเรานี้ ถ้าหากว่าเราอบรมจิตของเราให้มีความอาย มีความกลัวต่อความผิดทั้งหมดนั่นแหละ ก็จะเป็นคนสำรวมจะเป็นคนสังวรจะเป็นคนระวังเพราะความกลัว

"เมื่อเป็นอย่างนั้นจะเป็นเหตุที่ว่า เราจะเป็นคนมักน้อย เราจะไม่เป็นคนมักมากเพราะว่าเรารักษาไม่ไหวนี่ ถ้าเป็นเช่นนั้นสติของเรามันจะกล้าขึ้น มันจะตั้งสติขึ้น จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอนที่ไหน มันจะตั้งอกตั้งใจมีสติเต็มเปี่ยมเสมอ ความระวังมันเกิดขึ้นมานั่นแหละ อันใดที่มันสงสัยแล้วก็อย่าพูดมันเลย อย่าทำมันเลย ที่เรายังไม่รู้จะต้องถามครูบาอาจารย์เสียก่อน ถามครูบาอาจารย์แล้วก็รับฟังไว้อีก ก็ยังไม่แน่ใจเพราะว่ามันยังไม่เกิดเฉพาะตัวเอง ถ้าหากเราจะไปกำหนดทุกประการนั้นก็ลำบาก เราจะเห็นว่าจิตของเรายอมรับหรือยังว่าทำผิดมันผิด ทำถูกมันถูกอย่างนี้เรายอมรับหรือเปล่า?"

คำสอนของท่านอันนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ ไม่ใช่ว่าจะไปรักษาสิกขาบททุกๆ ข้อ เรารักษาจิตอันเดียวเท่านั้นก็พอแล้ว

"อะไรทั้งหมดที่ท่านไปดูนะมันขึ้นต่อจิตทั้งนั้น ถ้าท่านยังไม่อบรมจิตของท่านให้มีความรู้มีความสะอาดนั้น ท่านจะมีความสงสัยอยู่เรื่อยไป วิจิกิจฉาอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นท่านจงรวมธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้าไว้ที่จิต สำรวมอยู่ที่จิต อะไรที่มันเกิดขึ้นมาแล้วสงสัยแล้วเลิกมัน ถ้ายังไม่รู้แจ้งเมื่อใดแล้วอย่าพึงทำมัน อย่าพึงพูดมัน เช่นว่าอันนี้ผิดไหมหนอหรือไม่ผิด อย่างนี้คือยังไม่รู้ตามความเป็นจริง แล้วอย่าทำมัน อย่าไปพูดมัน อย่าไปละเมิดมัน"

นี่ผมก็นั่งฟังอยู่ก็เข้ากับธรรมะที่ว่าธรรมะที่ถูกต้องตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ธรรมอันใดเป็นไปเพื่อความสะสมซึ่งกิเลส ธรรมอันใดเป็นไปเพื่อความประกอบทุกข์ ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อความกำหนัดย้อมใจ ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อความมักมาก ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อความมักใหญ่ใฝ่สูง ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อความคลุกคลีหมู่คณะ ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อความเกียจ คร้าน ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อความเลี้ยงยาก ลักษณะตัดสินพระธรรมวินัยแปดประการนั้นรวมกันลงไปแล้ว อันนี้เป็นสัตถุคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า นอกนั้นไม่ใช่

ถ้าหากว่าเราสนใจจริงๆ จิตใจเราจะต้องเป็นคนอายต่อบาป กลัวต่อความผิด รู้จิตของตนอยู่ว่า สงสัยแล้วไม่ทำไม่พูด เรื่องสมาธินิเทศก็เหมือนกัน เรื่องปัญญานิเทศก็เช่นกัน อันนั้นมันตัวหนังสือเช่น หิริโอตตัปปะอยู่ในตัวหนังสือ มันก็เป็นอย่างหนึ่ง ถ้ามันมาตั้งอยู่ในใจของเราแล้วมันก็เป็นอย่างหนึ่ง

ไปศึกษาเรื่องพระวินัยกับท่านอาจารย์มั่น ท่านก็สอนหลายอย่างหลายประการ ผมก็นั่งฟังรวมเกิดความรู้ขึ้นมา ดังนั้นเรื่องการศึกษาพระวินัยนี้ ผมก็ได้ศึกษามากพอสมควร บางวันเอาตั้งแต่หกโมงตอนเย็นถึงสว่างเลยนะ ศึกษาตลอดพรรษา เข้าใจพอสมควร องค์ของอาบัติทั้งหมดที่อยู่ในบุพพสิกขานี้ ผมเก็บไว้หมดในสมุดพก ใส่ในย่ามตลอดเวลา ขะมักเขม้นพยายามที่สุด แต่กาลต่อมานี้ก็เรียกว่า มันก็ค่อยๆ คลายออก มันมากเกินไปไม่รู้จักเนื้อไม่รู้จักน้ำ มันไม่รู้จักอะไร มันเอาไปทั้งหมด จิตใจมันก็มีปัญญาคลายออกมันหนัก ก็เลยพยายามสนใจในใจของตนเองตลอดมาตำหรับตำราก็ค่อยทิ้งเขี่ยออกไปเรื่อย

ฉะนั้น ที่มาอบรมพระเณรนี้ ผมก็ยังเอาบุพพสิกขานี้เป็นหลักฐาน ได้อ่านบุพพสิกขาเวลาศึกษาพระวินัยให้พระฟังหลายปี อยู่วัดป่าพงผมทั้งนั้นละที่อ่านให้ฟังสมัยนั้นขึ้นธรรมาสน์เทศน์อย่างน้อยก็ต้องห้าทุ่มหรือหกทุ่ม บางทีก็ตีหนึ่งตีสองนะ สนใจแล้วก็ฝึกฟังแล้วก็ไปดูไป พิจารณาถ้าเรามาฟังเฉยๆ นี้ ผมว่าไม่เข้าใจแยบคาย ออกจากการฟังแล้ว เราต้องไปดูไปวินิจฉัยมันถึงจะเข้าใจ

ขนาดผมศึกษามาหลายปีในสิ่งเหล่านี้ ก็ยังรู้นิดหน่อยเพราะมันคลุมเครือกันหลายอย่าง ทีนี้มันห่างเหินในการดูตำหรับตำรามาหลายปีแล้ว ฉะนั้นความจำในสิกขาบทต่างๆ นั้นมันก็น้อยลงน้อยลง แต่ว่าในใจของเรานะมันไม่บกพร่อง มันไม่ขาดเขินในใจเรา มันมีเครื่องหมายอยู่อย่างนี้ ไม่ได้สงสัยอะไร รู้จักก็เลยวางไว้ โดยมากก็บำเพ็ญจิตของตนอยู่เรื่อยไป ไม่ได้สงสัยในอาบัติทั้งหลายทั้งปวง ขนาดที่ว่าจิตของเรามันอายแล้ว ไม่กล้าจะทำความผิดแล้วในที่ลับหรือที่แจ้ง ไม่ฆ่าสัตว์แม้แต่ตัวเล็ก ถ้าหากจะให้ฆ่าโดยเจตนามดตัวหนึ่ง ปลวกตัวหนึ่งอะไรนี้ จะให้เอามือไปบี้มัน ถึงจะให้ตัวหนึ่งราคาหลายๆ หมื่นก็ฆ่ามันไม่ได้ ขนาดปลวกขนาดมดเท่านั้นนะมันยังมีราคาสูงมาก แต่ว่าบางทีก็ทำมันตายนะบาง ทีมันมาไต่รำคาญก็ปัดมันตาย ตายแล้วดูจิตของตนก็ไม่เสียใจอะไรเลย ไม่หวาดหวั่น ไม่สงสัยเพราะอะไร? เพราะเจตนาเรามันไม่มีสีลังวะทามิเจตะนาหัง เจตนานี้เป็นตัวศีล เมื่อมันรวมเข้ามาเช่นนี้ เราจะทำมันตายด้วยเจตนาไม่มี ถึงแม้เราเดินไปเราเหยียบไปถูกมันตาย สมัยก่อนเมื่อยังไม่รู้จักจิตของเรานั้นมันเป็นทุกข์ ปรับตัวเองเลยว่าเป็นอาบัติแล้ว "เอ๊านี้ไม่ได้เจตนา" "ไม่มีเจตนาก็ไม่สังวรสำรวมนะซิ" มันเป็นอย่างนี้ มันเข้ามาอย่างนี้ก็เลยไม่สบายกระสับกระส่าย

ดังนั้นพระวินัยนี้จึงเป็นของก่อกวนกับผู้ประพฤติปฏิบัติทั้งหลาย และก็มีประโยชน์มากด้วย ไม่ใช่ว่าไม่มีประโยชน์สมกับที่ท่านว่า ไม่รู้สิกขาบทไหนก็ต้องให้รู้ ไม่รู้ก็ต้องไต่ถามท่านผู้รู้ให้รู้ ท่านย้ำเหลือเกิน ที่นี้ถ้าหากว่าเราไม่รู้ตามสิกขาบทอยู่ ข้างนอกเราจะไม่รู้เท่าอาบัติ เช่นว่า พระเถระในสมัยก่อน ท่านอาจารย์เภาอยู่ลพบุรีวัดเขาวงกฏ วันหนึ่งก็มีมหาองค์หนึ่งแกเป็นลูกศิษย์ มานั่งอยู่แล้วก็มีโยมผู้หญิงมาถามว่า "ท่านหลวงพ่อดิฉันจะนำท่านไปโน้นท่านจะไปไหม?" ท่านหลวงพ่อเภาก็เฉยมหาองค์นั้นนั่งอยู่ใกล้ๆ ก็นึกว่าท่านอาจารย์เภาไม่รู้เรื่องไม่ได้ยินก็เลยว่า "หลวงพ่อๆ โยมพูดได้ยินไหม?" เขาจะนิมนต์ไปเที่ยวที่โน้น"

ท่านก็ว่า "ได้ยิน"

โยมก็พูดว่า "หลวงพ่อหลวงพ่อจะไปหรือเปล่า?"

ท่านก็เฉยไม่พูดเลยไม่ได้เรื่อง ท่านไม่รับปากเมื่อโยมผู้หญิงกลับไปแล้วท่านมหาก็ว่า

"หลวงพ่อโยมเรียนถามหลวงพ่อทำไมไม่พูด?"

ท่านก็ว่า "โอ้มหาท่านรู้หรือเปล่า? รู้ไหม? คนที่มาเมื่อกี้มีแต่ผู้หญิงทั้งนั้นจะชวนเดินทางร่วมกันกับพระนี่คุณจะไปรับปากกับเขาทำไม? ให้เขาชวนข้างเดียวนั้นก็ไม่เป็นอะไร เมื่อเราอยากจะไปเราก็ไปได้เพราะเราไม่ได้ชวนเขา เขาชวนข้างเดียว"

ท่านมหาก็เลยนั่งคิด "อือเราเสียคนเหลือเกินนะ"

ผู้หญิงชวนพระเดินทางแล้วเดินทางร่วมกันไปโน้นไปนี้อย่างนี้ ท่านว่าชวนกันเดินทางร่วมกับผู้หญิง ถึงไม่ใช่สองต่อสองแต่มีผู้หญิง ท่านว่าผิดทั้งนั้นเป็นอาบัติปาจิตตีย์

แล้วก็อีกเรื่องหนึ่งเอกลาภเกิดขึ้นมาที่วัดเขาวงกฏนี้ คนเอาเงินมาถวายท่าน ท่านก็รับพอเอาใส่ถาดมา ท่านก็ยื่นผ้าเช็ดหน้าไปรับ ท่านก็จับผ้าเช็ดหน้า เมื่อเขาจะเอาถาดมาวางท่านก็ขยับมือออกจากผ้าเช็ดหน้า อย่างนี้ไม่ให้ติดผ้าเช็ดหน้านะนี่อย่างนี้เป็นต้น เงินก็ทิ้งไว้ที่เตียง รู้แล้วไม่สนใจ ลุกหนีไป คือในพระวินัยท่านว่า ถ้าเราไม่ยินดีแล้วไม่บอกเขาก็ได้ถ้าหากว่าเรายินดี..."โยมอันนี้ไม่สมควรแก่พระ" นี่บอกเขาเสียถ้าเราไม่ยินดีจริงๆ ไม่บอกก็ได้ พอวางปุ๊บก็ลุกไปเลย ถ้าเรามีความยินดีต้องห้ามเขาเสียในสิ่งที่มันผิดอย่างนี้เป็นต้น ถ้าท่านรู้จักท่านก็ลุกไปจริงๆ อันนี้อาจารย์กับลูกศิษย์อยู่ด้วยกันตั้งหลายปีไม่ค่อยรู้เรื่องกัน อันนี้แย่ข้อปฏิบัติของท่านอาจารย์เภาเล็กๆ น้อยๆ ผมก็ไปสืบแสวงหาพิจารณาอยู่อะไรหลายอย่าง

ฉะนั้นพระวินัยนี้ มันเป็นของที่ทำให้บางคนสึกก็ได้ เมื่ออ่านหนังสือพระวินัยไป เออโผล่ขึ้นมาแล้วตรงนั้น มันจะยันไปโน่น จะเอาอดีตมายุ่งการบวชของเรา มันจะถูกไหมหนอ? อุปัชฌาย์ของเราจะบริสุทธิ์หรือเปล่า? พระหัตถบาสเราก็ไม่มีใครสนใจในพระวินัยเลย มันจะมีนั่งรู้จักหัตถบาสกันไหม? การสวดนาคจะถูกต้องหรือเปล่า? อย่างนี้มันค้นมันคิดไปโบสถ์ที่เราบวชนั้นมันถูกต้องดีหรือเปล่า? โบสถ์น้อยๆ อย่างนี้สงสัยไปหมดตกนรกทั้งนั้นแหละ มันตกเพราะเราไม่รู้จัก อย่างนั้นกว่าจะมีอุบายแก้ไขจิตใจของตนนี้ลำบากมากต้องใจเย็นๆ ผลุนผลันเกินไปก็ไม่ได้ จะเย็นเกินไปจนไม่รับพิจารณาเหตุผลนี่ก็ไม่ได้ ผมงงจนเกือบจะสึกแล้วจริงๆ เพราะว่าเห็นความบกพร่องในการกระทำในการปฏิบัติมา ครูบาอาจารย์สารพัดอย่าง...ร้อนนอนไม่ได้เลยบาปจริงๆ มันบาปด้วยความสงสัย สงสัยเท่าไรก็ยิ่งภาวนาไปยิ่งทำความเพียรไป สงสัยที่ไหนก็ทำมันไปเรื่อยๆ ที่นั้นปัญญามันก็เกิดความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมาเรื่อยๆ ความเปลี่ยนแปลงนั้นไม่รู้ว่าจะพูดให้ใครฟังได้ เปลี่ยนแปลงจนมันไม่สงสัยอะไร ไม่รู้มันเปลี่ยนแปลงโดยวิธีอะไร ถ้าเราไปพูดให้คนอื่นฟังเขาคงไม่รู้เรื่องเหมือนกัน

ดังนั้น จึงได้มาระลึกถึงคำสอนปัจจัตตังเวทิตัพโพวิญญูหิ วิญญูจงรู้เฉพาะตนเองอย่างนี้ มันก็เกิดขึ้นมาในขณะที่มันเป็นอย่างนั้น เรื่องปฏิบัติมันเป็นอย่างนี้ เรื่องที่เราได้ศึกษาพระธรรมวินัยนั้นก็จริงอยู่ แต่ว่ามันศึกษานอกๆ เราไม่ปฏิบัติ ถ้ามาปฏิบัติอย่างเอาจริงเอาจังมันสงสัยไปหมดทุกอย่าง แต่ก่อนอาบัติทุกกฎ ไม่รู้เรื่องไม่รับฟังอะไรทั้งนั้น เมื่อมาเข้าใจธรรมะจริงๆ แล้วถึงข้อปฏิบัตินี้นะอาบัติทุกกฎนี้กลายมาเป็นปาราชิกเลย สมัยก่อนนี้อาบัติทุกกฎไม่เป็นอะไรมันเล็กๆ น้อยๆ คิดอย่างนี้ตอนเย็นๆ มาแสดงอาบัติแล้วก็หาย เท่านั้นแล้วก็ไปทำใหม่อีก นี่การแสดงอาบัติอย่างนี้ก็เรียกว่ามันยังไม่บริสุทธิ์ คือมันไม่หยุด มันไม่ตกลง มันไม่สังวรสำรวมต่อไป ทำอีกก็เป็นอีกอยู่เรื่อยๆ อย่างนี้ความรู้ตามความเป็นจริงไม่มีการปล่อยวาง มันก็ไม่มี

ความเป็นจริงนั้น...มันก็พูดยากเหมือนกัน...อาบัตินี้ ถ้าพูดตามธรรมะตามความจริง ไม่จำเป็นที่จะต้องแสดงมันแล้ว ถ้าหากว่าเห็นความบริสุทธิ์ใจของตน นั้นแหละไม่ได้สงสัยอะไรทั้งสิ้นมันก็ขาดไปเท่านั้นแหละ ที่เรายังไม่บริสุทธิ์ คือเราสงสัยอยู่วิจิกิจฉาอยู่ลังเลอยู่นั้นเอง ยังไม่บริสุทธิ์แท้ มันจึงตกลงไม่ได้ ไม่เห็นตัวของตัวเอง มันเป็นในทำนองนี้ คือศีลเรานี้เองไม่ใช่อื่นหรอก พระวินัยก็คือรั้วนั้นเอง เหมือนรั้วหนึ่งที่จะให้เราพ้นจากความผิดต่างๆ อันนี้ต้องพิถีพิถันหน่อยนะอันนี้

เรื่องพระวินัยนี้ ถ้าหากว่ามันไม่เห็นในใจของตนมันก็ยาก ในเวลาก่อนมาอยู่วัดป่าพงหลายสิบปีผมก็ตั้งใจจะทิ้งเงินทั้งพรรษาค่อนพรรษาเลยตัดสินใจไม่ได้ ในที่สุดผมเลยคว้าเอากระเป๋าเงินเดินลงมาพบมหาองค์หนึ่ง เดี๋ยวนี้อยู่วัดระฆังเคยไปกับผมแล้วทิ้งกระเป๋าเงินให้

"นี่มหา เงินนี้ท่านเป็นพยานให้ผมด้วย ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปผมจะไม่หยิบผมจะไม่จับ ถ้าผมไม่สึกนะ ให้ท่านเป็นพยานให้ผมด้วย"

"นิมนต์เถอะ ท่านเอาไปเถอะเอาไปเรียนหนังสือเถอะ" ท่านมหาก็ไม่อยากหยิบกระเป๋าสตางค์..อาย "ท่านอาจารย์ทำไมจึงทิ้งสตางค์หลายร้อยหนอ" แกก็ไม่สบายใจ

"ไม่ต้องเป็นห่วงผมหรอก ผมเลิกแล้วตกลงกันแล้วเมื่อคืนนี้ ตกลงแล้วครับ"

ตั้งแต่แกเอาไปแล้ว ก็เหมือนผมตายไปจากท่าน แล้วพูดอะไรก็ไม่รู้เรื่องกันหรอก ท่านยังเป็นพยานอยู่ทุกวันนี้ ไม่เคยทำไม่เคยแลก ไม่เคยเปลี่ยน ไม่เคยอะไรต่ออะไรเรื่อยมา อะไรต่างๆ ก็สำรวมอยู่ มันก็เหมือนกับไม่มีอะไรจะผิด แต่มันกลัวเสมอนะ แล้วการภาวนาทางในเราก็ภาวนาไปเรื่อยๆ ส่วนนั้นเราไม่ต้องการแล้วเหมือนอย่างกับยาพิษ นี่เราเห็นแล้วว่าเอาให้คนนั้นกินก็ตาย เอาให้สุนัขกินมันก็ตาย เอาให้อะไรกินมันก็ตายเป็นอันตรายทั้งนั้น ถ้าเราเห็นชัดอย่างนั้นแม้จะยืนจะเดินจะนั่งจะนอนเราก็รู้สึกเลยว่าอย่าไปกินยาพิษอันนั้น เพราะเราเห็นโทษมันอย่างชัดอย่างนี้เลยไม่เป็นของยาก

อาหารการขบการฉันที่เขามาถวายอะไรต่างๆ ที่มันสงสัย ไม่เอาแม้มันจะมีอะไรดีเลิศประเสริฐเท่าไรก็ไม่เอาเสียแล้วยก ตัวอย่างง่ายๆ ปลาส้มอย่างนี้ ถ้าเราอยู่ในป่าไปบิณฑบาต เขาใส่ปลาส้มให้เป็นห่อมีแต่ปลาส้มห่อเดียวเท่านั้น มาเปิดดูเป็นปลาส้มไม่สุกก็เลยเอาทิ้ง ฉันข้าวเปล่าๆ ดีกว่ามันไม่กล้าล่วงอย่างนั้น จึงเรียกว่าจิตมันเห็นพระวินัยนั้น มันก็ง่ายขึ้นง่ายขึ้น พระสงฆ์จะเอาอะไรให้ เครื่องบริขารจะเป็นบาตรจะเป็นมีดโกนจะเป็นอะไรต่างๆ ผมไม่เอาถ้าไม่เห็นว่าเป็นเพื่อนด้วยกันสหธรรมิกอันเดียวกันไม่เอา ทำไม? ก็คนไม่สังวรสำรวมเราจะเชื่อได้ไหม? มันก็ทำผิดต่างๆ ได้ทั้งนั้น คนไม่สังวรสำรวมนี่มันไม่เห็น มันก็เป็นไปได้อย่างนี้ ความเห็นมันก็ลึกไปอย่างนั้น

ฉะนั้น มันจึงเป็นเหตุให้พวกสหธรรมิกทั้งหลายมอง "ท่านองค์นั้นไม่เล่นกับเพื่อนไม่เข้าสังคม" ไม่อะไรต่ออะไร ผมก็เฉยเสีย "เออคอยสังคมกันที่ตายเถอะ ที่จะตายมันอยู่สังคมอันเดียวแหละ" นึกไว้ในใจอย่างนี้อย่างนี้อยู่เรื่อยมา ด้วยความอดทนมากที่สุดเลยเป็นคนพูดน้อย ใครมาพูดก้าวก่ายถึงการปฏิบัติ เราก็เฉยๆ ทำไมจึงเฉย? คือพูดแล้วเขาก็ไม่รู้จักไม่รู้การปฏิบัติ อย่างพระไปพิจารณาซากศพนี้ บางคนก็ว่า "อย่าไปฟังท่านเลย เอาใส่ย่าม อย่าบอกท่าน อย่าให้ท่านรู้ว่าใส่ย่าม" "เออโยมรู้ไหมว่าพระเป็นหรือพระตาย? พระนี้โยมเห็นว่าพระเป็นหรือพระตายแล้ว? ไม่ใช่ว่าสุราจะเรียกว่าน้ำหอม มันจะเป็นน้ำหอมเหรอะ มีแต่โยมเท่านั้นแหละอยากจะกินเหล้า ก็ว่าเป็นน้ำหอม ก็พากันกินมันก็เป็นบ้าทั้งนั้นแหละ ไม่รู้เหล้ามันเป็นอย่างนี้" ตรงนะฟังตัวเองตรงอย่างนี้

อย่างนั้นพระวินัยนี้ลำบาก ต้องเป็นคนมักน้อย ต้องเป็นคนสันโดษ จะต้องเป็นคนเห็น เห็นถูกจริงๆ ไปอยู่สระบุรีเราเข้าไปพักอยู่กับวัดบ้านเขา อาจารย์องค์นั้นก็เสมอพรรษา ไปบิณฑบาตมาร่วมกันเอาบาตรมาตั้ง โยมเอาปิ่นโตมาขึ้นบนศาลาเอาไปวาง พระก็ไปเอามา มารวมกันก็มาเปิดปิ่นโต จัดปิ่นโต ปิ่นโตเรียงกันยาวไปทางโน้น แล้วพระก็ไปรับประเคน ก็เอานิ้วมือใส่ปิ่นโตมาทางนี้ ปิ่นโตนั้นไปทางโน่น โยมเขาก็เอามือใส่ปิ่นโตทางนั้น เอาแล้วพอแล้วก็จับมาถวายพระ ให้พระฉันไปกับผมประมาณสักห้าองค์...ไม่ฉัน...ไปบิณฑบาตมาก็มีแต่ข้าว นั่งรวมกันฉันแต่ข้าวไม่มีใครกล้าฉันอาหารปิ่นโต เราก็อยู่อย่างนี้เรื่อยๆ วันหนึ่งท่านอาจารย์ท่านก็เดือดร้อนเหมือนกัน คงจะมีลูกศิษย์ท่านไปพูดให้ฟัง "พระอาคันตุกะเหล่านี้ไม่ฉันอาหารเลย ไม่ฉันไม่รู้ว่าเป็นอย่างไง" ท่านก็มีความเดือดร้อนขึ้น ผมก็มีเวลาอยู่นั้นตั้งหลายวัน จำเป็นต้องไปกราบเรียนท่านสมภารวัด

บอกว่า "ท่านอาจารย์ผมขอโอกาสเถอะนะ ในเวลานี้ผมมีธุระที่จะพักพึ่งบารมีท่านอยู่สักหลายวัน แต่ถ้าอยู่วัดนี้บางทีก็ท่านอาจารย์จะระแวงระวังหลายอย่างเหมือนกัน ทั้งพระภิกษุ สามเณรทุกองค์ เพราะทำไมผมจึงไม่ฉันอาหารที่โยมเอามามากๆ นะ ผมจะขอเรียนให้อาจารย์ฟัง ผมไม่มีอะไรครับ ที่ผมไม่ฉันนั้นนะ ผมได้รับการประพฤติปฏิบัติมานี้นานแล้ว การรับประเคนนะครับที่โยมมาวางไว้ พระไปเปิดปิ่นโตปลดสายเปิดปิ่นโต แล้วก็เอาปิ่นโตซ้อนเอามาวางไว้ แล้วก็ให้เณรมาถวาย อันนี้ผมเห็นว่ามันผิด มันเป็นทุกกฎแล้ว คือไปลูบไปคลำไปจับต้องของยังไม่ได้ประเคนมันเสียหายทั้งนั้น ตามพระวินัยพระทุกองค์ฉันนะเป็นอาบัติหมดเลย ข้อนี้เองครับ มิใช่รังเกียจใครทั้งนั้น ที่ผมมาเรียนท่านอาจารย์วันนี้ มิใช่จะห้ามให้ลูกศิษย์ลูกหาว่าท่านไปทำ...มิใช่ผมมาเล่าความบริสุทธิ์ให้ฟัง เพราะว่าผมจะมีเวลาอยู่ในที่นี้หลายวัน "ท่านก็ยกมือขึ้น" สาธุดีมากทีเดียว ผมไม่เคยเห็นพระที่รักษาซึ่งอาบัติทุกกฎในสระบุรี ไม่มีแล้วครับ มันจะมีก็นอกจังหวัดสระบุรี ผมขออนุโมทนาสาธุการเลยครับ ผมไม่มีอะไรดีแล้ว"

รุ่งขึ้นเช้าเข้าไปบิณฑบาตกลับมารวมกัน พระไม่เข้าไปใกล้เลย ที่นี่มีแต่โยมเข้ามาถวายเพราะกลัวพระไม่ฉันจังหัน แต่วันนั้นมาพระเณรท่านก็กลัว ท่านจะยืนจะเดินจะนั่ง เขาก็ลำบากคับแคบใจ ผมก็เลยเปิดเผยให้เขาเข้าใจกันดี ทุกคนรู้สึกว่าพระเณรที่นั้นกลัวมาก เข้าในกุฏิปิดเงียบสงบเลยไม่มีเสียง สองวันสามวันผมพยายามดีกะเขาเพราะเขากลัว...อายนี่มันเป็นอย่างนี้จะต้องไปพูดอะไรให้รู้เรื่องเราไม่มีอะไรจริงๆ เราจะพูดว่าฉันจังหันไม่พอหรือเราจะเอาอาหารอะไรๆ ไม่พูดเพราะอะไร? ก็เราเคยอดอาหารมาเจ็ดวันแปดวันก็เคยมาแล้ว สองวันสามวันเราเคยมาแล้ว อันนี้มีข้าวเปล่าๆ ฉันมันไม่ตายหรอก ที่มันมีกำลังก็คือที่เราปฏิบัติที่รับโอวาท รับธรรมะที่ได้ปฏิบัติ แล้วคิดว่าทำตามพระพุทธเจ้าองค์เดียวเท่านั้นแหละไปตรงนั้น ใครทำอย่างงี้ไปตรงนี้ไม่เล่นกับใคร แล้วพยายามที่สุดอย่างนี้นี่ก็เพราะว่ามันรักตัวเอง รักข้อประพฤติปฏิบัติ

คนไม่รักษาพระวินัย คนไม่ภาวนากับคนภาวนาอยู่ด้วยกันไม่ได้ มันต้องแยกกันเลย มันไปด้วยกันไม่ได้ อันนี้ก็เป็นของที่สำคัญ ผมก็ไม่รู้เรื่องเหมือนกัน สมัยก่อนเป็นครูเป็นอาจารย์ของเขา สอนมันอย่างนั้น แต่เราไม่ได้ปฏิบัติเสียหมดนะมันเสีย เมื่อมาพิจารณาดีๆ โอยมันไกลกันฟ้ากับดินเลยความเห็นของเรานะ

ดังนั้น คนเราจะไปตั้งสำนักวิปัสสนาทำกรรมฐานอยู่ในป่า...อย่าเลยถ้าไม่รู้เรื่องอย่าไปเลยยิ่งร้าย เราก็เข้าใจว่าไปอยู่ในป่ามันจะสงบ เนื้อในของการปฏิบัตินั้นไม่รู้จักบางคนก็ไปถากหญ้าเอาเอง บางคนก็ไปทำอะไรเอาเองสารพัดอย่าง วุ่นวาย พอผู้ที่รับรู้รับการประพฤติปฏิบัติแล้วเขามองดูเห็นแล้วไม่เอา...มันไม่เจริญอย่างนั้นมันไม่เจริญ จะไปตั้งอยู่ป่าที่สงบขนาดไหนมันเจริญไม่ได้ คือมันทำไม่ถูก เห็นท่านอยู่ป่าก็ไปอยู่ป่าอย่างท่าน มันก็ไม่เหมือนห่มจีวรก็ไม่เหมือนสีจีวรก็ไม่เหมือน ขบฉันอะไรมันก็ไม่เหมือน ทั้งนั้นแหละคือมันไม่ได้ฝึก ไม่ได้หัดเสียที ไม่ค่อยจะเป็นจริงเป็น ก็เป็นหลักที่โฆษณาตามโลกเขา ก็เหมือนกับเขาโฆษณาขายยาเท่านั้นแหละ มันไม่ได้ยิ่งไปกว่านั้นหรอก ดังนั้นคนที่ไปตั้งวิปัสสนาใหม่ๆ ไปเรียนรู้วิธีมาก็ไปเรียนไปสอนจิต มันไม่เป็นจิต มันไม่เห็น เดี๋ยวก็เลิกเท่านั้นแหละ พังเท่านั้นแหละเดือดร้อน

ดังนั้น พวกเรานะไม่ต้องเรียนอะไรกันมาก ดูนวโกวาทเขาว่าอะไรกันบ้าง มันเป็นอย่างไรศึกษาให้เข้าใจแล้วพิจารณาแล้วก็จำไว้ นานๆ ก็มากราบครูบาอาจารย์ตรงนั้นมันเป็นอย่างไร อันนี้นะท่านจะอธิบายปลีกย่อยให้ฟัง เราก็ศึกษาไปเรื่อยๆ จนกว่าเราจะเข้าใจจริงๆ ในเรื่องพระวินัย