วันนี้เป็นโอกาสที่ท่านทั้งหลายได้มาประชุมกัน ณ โอกาสนี้ทุกปี คณะเราทำการสอบธรรมะแล้วก็มารวมกัน ทุกๆ ท่านให้พากันเข้าใจว่าผู้ปฏิบัติควรสนใจการกระทำกิจวัตร อาจริยวัตร อุปัชฌายวัตร อันนี้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจของพวกเราทั้งหลายให้เป็นกลุ่มเป็นก้อน มีความสามัคคีพร้อมเพรียงซึ่งกันและกันยังเป็นเหตุให้พวกเราได้ทำความเคารพ ซึ่งจะเป็นมงคลในหมู่พวกเราทั้งหลาย
ตั้งแต่ครั้งพุทธกาลมาจนถึงบัดนี้ ทุกกลุ่มทุกเหล่าถ้าขาดความคารวะกันแล้ว ก็ไม่สำเร็จประโยชน์ แม้ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งก็เหมือนกัน จะเป็นฆราวาส จะเป็นบรรพชิต ถ้าขาดความเคารพคารวะ ความมั่นคงก็ไม่มี ถ้าความเคารพคารวะไม่มี ก็เกิดความประมาท กิจวัตรทุกอย่างมันก็เสื่อมทรามไป
คณะกรรมฐาน คณะปฏิบัติ พวกเราที่มารวมอยู่ที่นี้ประมาณ ๒๕ พรรษาแล้ว มีความเจริญก้าวหน้ามา ตามที่ผมสังเกตนั้นก็เรียกว่าเจริญมาเรื่อยๆ แต่ว่าถึงจุดหนึ่งมันก็จะเสื่อมได้ อันนี้ให้เราเข้าใจ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามองเห็นเหมือนกัน แต่ถ้าหากว่าพวกเราทั้งหลายอาศัยความไม่ประมาท มีความเคารพคารวะ ทำกิจวัตรอันนี้ติดต่อกันไปไม่ขาดผมเข้าใจว่าความสามัคคีของพวกเรานั้นจะมีความมั่นคง การประพฤติปฏิบัติในหมู่คณะของพวกเรา ก็จะเป็นเหตุให้ยืนยงคงทนยังพุทธศาสนาอันนี้ให้เจริญไปนาน
ที่นี้ปริยัติและปฏิบัติ มันเป็นคู่กันโดยตรง แต่ว่าปริยัติกับปฏิบัตินี้ เป็นของคู่กันมายังพุทธศาสนาให้เจริญถาวรรุ่งเรืองตลอดบัดนี้ ก็เพราะการศึกษาแล้วก็รู้ รู้แล้วก็ปฏิบัติตามความรู้ของเรานั้น เรียกว่าการประพฤติปฏิบัติ ถ้าหากว่าเราเรียนปริยัติอาศัยความประมาท เท่าที่ผมเคยสังเกตมาแล้วคือ สมัยหนึ่งผมอยู่ที่นี้ พระอยู่จำพรรษาประมาณ ๗ องค์ เป็นปีแรก ผมก็เลยมาคิดว่าเรื่องการเรียนปริยัติกับปฏิบัตินี้ ถ้าตั้งปริยัติขึ้นเมื่อไหร่...เสื่อม โดยมากเป็นอย่างนี้ ทั้งการปฏิบัติก็เป็นไปได้ยาก มันเสื่อมโดยมากเป็นเสียอย่างนั้น เมื่อได้มาคำนึงถึงอันนี้ ผมอยากจะรู้เหตุข้อมูลว่ามันเป็นเพราะอะไร ก็เลยมาตั้งสอนพระเณรในพรรษานั้น ๗ องค์ สอนประมาณสัก ๔๐ วัน ฉันเสร็จแล้วก็สอนจน ๖ โมงเย็นทุกวัน ไปสอบสนามหลวงปรากฏว่าได้ผล ๗ องค์สอบได้หมดทุกองค์เลย อันนี้ดี แต่ว่ามันมีการบกพร่องอยู่อย่างหนึ่งกับบุคคลที่ไม่มีความระมัดระวัง การเรียนปริยัตินี้ต้องอาศัยการพูด อาศัยการท่องบ่นต่างๆเป็นต้น บุคคลที่ไม่ค่อยสังวร ไม่ค่อยสำรวมนั้น ก็เลยทิ้งการปฏิบัติ มาท่องมาบ่นจดจำด้วยสัญญาเสียเป็นอย่างมาก เป็นเหตุให้พวกเราทั้งหลายนั้นทิ้งบ้านเก่าเรา ทิ้งมูลเก่าเรา ทิ้งข้อปฏิบัติอันเก่าของเราไป โดยมากมันเป็นเช่นนี้
ทีนี้เมื่อเรียนจบแล้ว สอบสนามหลวงแล้ว ดูกิริยาพระเณรก็ต่างเก่า เดินจงกรมก็ไม่ค่อยมี นั่งสมาธิก็น้อย การคลุกคลีกันก็มากขึ้น ความสงบระงับมันน้อยลง ความเป็นจริงการปฏิบัตินะเมื่อเดินจงกรมแล้วก็ตั้งใจเดินจงกรม เมื่อนั่งสมาธิก็ตั้งอกตั้งใจทำเมื่ออยู่ในอิริยาบถการเดิน การยืน การนั่ง การนอน เราก็พยายามสังวรสำรวม แต่เมื่อเรามาเรียนหนังสือแล้ว มันเป็นสัญญาเสียโดยมาก เลยเพลินไปตามปริยัติอันนั้น ลืมตัวเสียก็เล่นอารมณ์ภายนอก อันนี้มันก็เป็นแต่เฉพาะคนที่ไม่มีปัญญาบุคคลที่ไม่สังวรสำรวม บุคคลที่ไม่มีสติติดต่อกัน ก็เป็นเหตุให้เสียหายได้เหมือนกัน มันเป็นเพราะเหตุนั้นที่เมื่อนักเรียนเรียนหนังสือ ไม่ได้นั่งสมาธิ ไม่ได้เดินจงกรม การสังวรสำรวมมันก็น้อย เป็นเหตุให้จิตฟุ้งซ่าน การพูดเรื่อยเปื่อย ไม่สังวรสำรวมจับกันเป็นกลุ่มเป็นก้อนก็มากขึ้นมา หลายขึ้นมา อันนี้เป็นเหตุให้เสื่อม มันไม่ใช่เป็นเพราะปริยัติ มันเป็นเพราะบุคคลเราไม่ตั้งใจลืมเนื้อลืมตัวเสีย
ความจริงปริยัตินี้เป็นของชี้ช่องทางให้พวกเราประพฤติปฏิบัติทั้งนั้น ถ้าหากเราไปเรียนแล้วลืมตัว การพูดมันก็มาก การเล่นมันก็มาก การเดินจงกรมทิ้งไปหมด แล้วก็มีความกระสันอยากจะสึก โดยมากเรียนไม่ได้ก็สึกกัน อันนี้เป็นเหตุ ไม่ใช่ว่าเพราะปริยัติไม่ดี ปฏิบัติไม่ถูก ไม่ใช่อย่างนั้น เป็นเพราะพวกเราทั้งหลายนั้นขาดการพินิจพิจารณา ความเป็นจริงการปฏิบัตินั้นจะอ่านหนังสือ จะท่องหนังสือ จะทำอะไรมันก็เป็นกรรมฐานกันทั้งนั้น
ฉะนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ในพรรษาที่สองผมเลยเลิกสอน เลิกการสอนปริยัติ อีกหลายปีต่อมามีกุลบุตรมากขึ้น บางคนก็ไม่รู้เรื่องพระธรรมวินัย สมมุติบัญญัติก็ไม่รู้เรื่องก็เลยปรับปรุงขึ้นมาใหม่ ขอครูบาอาจารย์ผู้ที่ได้เรียนมาแล้วนั้นสอน พยายามสอนจนตลอดมาถึงทุกวันนี้ การเรียนปริยัติจึงเกิดขึ้นมา
ฉะนั้น ทุกปีเมื่อเรียนเสร็จแล้ว ผมก็ให้ท่านเปลี่ยนใหม่ตำหรับตำราต่างๆที่มันไม่สำคัญเก็บใส่ตู้ไว้เสีย อ่านเฉพาะที่มันเป็นข้อปฏิบัติเท่านั้น ตั้งใหม่ เข้าหลักเดิมของเรา มายกข้อประพฤติปฏิบัติส่วนรวมขึ้นมา เช่นว่า จะต้องทำวัตรสวดมนต์พร้อมเพรียงกัน อันนี้เป็นหลัก ทำไปเพื่อแก้ความขี้เกียจ แก้ความรำคาญ เป็นเหตุให้เราขยันหมั่นเพียรขึ้นมา ทุกคนก็ทำกันเรื่อยๆมาตลอดทุกวันนี้ ปีนี้ก็เหมือนกันฉันนั้น ให้พวกเราทั้งหลายอย่าทิ้งหลักการประพฤติปฏิบัติ การพูดน้อย นอนน้อยกินน้อย การสงบระงับ ไม่คลุกคลีหมู่คณะ การเดินจงกรมเป็นประจำ การนั่งสมาธิเป็นประจำ การประชุมกันเนืองนิจในคราวที่ควรประชุม อันนี้ขอให้เอาใจใส่ทุกๆท่านต่อไป
ฉะนั้นพวกท่านทั้งหลายอย่าเอาโอกาสดีๆอันนี้ไปทิ้ง พึงประพฤติปฏิบัติ เรามีโอกาส ซึ่งอยู่ใต้การปกครองของครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์ท่านก็ปฏิบัติป้องกันชั้นหนึ่ง ให้พวกเราทั้งหลายตั้งใจประพฤติปฏิบัติกันไป ก็เป็นกันมาอย่างนี้ ฉะนั้นจึงให้พวกท่านทั้งหลายรวมกันทำสามัคคีเข้าหลักเดิม เคยเดินจงกรมก็ต้องเดิน เคยนั่งสมาธิก็ต้องนั่ง เคยมาทำวัตรตอนเช้าทำวัตรตอนเย็น นั้นก็พยายาม อันนี้เป็นกิจของท่านโดยตรง
อันนี้ขอให้ท่านตั้งใจ คนอยู่เฉยๆนั้นไม่มีกำลังนะ คนป้วนเปี้ยน คนที่อยากจะสึก วุ่นวาย ดูซิ ก็คือคนที่ไม่ตั้งใจปฏิบัติ ไม่มีงานทำ เราจะอยู่เฉยๆ ไม่ได้ ในกิจพุทธศาสนานี้เป็นพระเป็นเณร เราอยู่ดีกินดีแล้วจะอยู่สบายไม่ได้ กามะสุขัลลิกานุโยโค นี่มันเป็นพิษอย่างมากทีเดียว ให้พวกท่านทั้งหลายกระเสือกกระสนหาข้อประพฤติปฏิบัติของตน เพิ่มข้อวัตรขึ้นเตือนตนเองมากขึ้น อันใดที่มันบกพร่องก็พยายามทำดีขึ้นไป อย่าไปอาศัยอย่างอื่นเป็นอยู่ คนที่จะมีกำลังนี่ เดินจงกรมก็ไม่ได้ขาด นั่งสมาธินี่ไม่ได้ขาด สังวรสำรวมไม่ได้ขาด เราสังเกตพระเณรที่นี้ก็ได้ องค์ใดถ้าเห็นว่าฉันเสร็จแล้วหมดธุระแล้ว เข้าไปในกุฏิของท่านตากจีวรไว้ เดินจงกรม เดินไปตามกุฏิเท่านั้น เราจะเห็นทางเดินเป็นแถว เราเห็นบ่อยครั้ง การเดินจงกรม การนั่งสมาธิ ท่านองค์นี้ไม่เบื่อหน่าย นี่ท่านมีกำลัง ท่านเป็นผู้มีกำลังมาก ทุกๆ องค์ถ้าเอาใจใส่ในการประพฤติปฏิบัติอย่างนี้แล้ว ผมว่ามันสบาย ไม่ค่อยมีอะไรมากมาย ถ้าหากว่าใครไม่อยู่ในการประพฤติปฏิบัติ การเดินจงกรม การทำสมาธิ ไม่มีอะไร มีแต่การเที่ยว มันไม่สบายตรงนี้ไปเที่ยวตรงนั้น มันไม่สบายตรงนั้นไปเที่ยวตรงนี้ เท่านั้นแหละตะลอนไปเรื่อย อย่างนั้นมันก็ไม่ตั้งใจกัน ไม่ค่อยดี ไม่ต้องอะไรมากมายหรอก เราอยู่ให้รู้จักข้อวัตร-ปฏิบัติให้มันสุขุมเสียก่อนเถอะ การเที่ยวไปมามันเป็นของภายหลัง มันไม่ยาก ของง่ายๆ ตั้งใจกันทุกๆ องค์นะ
อันนี้พูดถึงการเสื่อมการเจริญมันก็เป็นมาอย่างนี้ ถ้าจะให้มันดีจริงๆ แล้ว ปริยัติก็พอสมควร ปฏิบัติก็พอสมควร เป็นคู่เคียงกันไป อย่างกายกับจิตนี้เป็นตัวอย่าง จิตมีกำลังกายก็ปราศจากโรค กายดีจิตมันก็ได้รับความสงบระงับ ถ้าหากว่าจิตวุ่นวายกายสมบูรณ์อยู่มันก็เป็นไปได้ยาก ถ้าหากว่ากายมีเวทนามากจิตไม่มีกำลัง จิตนั้นก็มายึดกายเป็นต้น ก็ไม่สบายกันไปอีกนี่พูดถึงผู้ที่ยังศึกษาอยู่ เราก็ต้องศึกษาอย่างนี้ การศึกษาในทางกรรมฐานเรานี้ ศึกษาเรื่องการบำเพ็ญและการละ ที่ว่าศึกษานี้ถ้าหากว่าเราถูกอารมณ์มา เรายังไปยึดไหม? ยังมีวิตกไหม? ยังมีความน้อยใจไหม? มีความดีใจไหม? พูดง่ายๆเรายังหลงอารมณ์เหล่านั้นอยู่ไหม? หลงอยู่ เมื่อไม่ชอบก็แสดงความทุกข์ขึ้นมาเมื่อชอบก็แสดงความพอใจขึ้นมา จนเกิดเป็นกิเลส จนใจเราเศร้าหมอง อันนั้นเราจะมองเห็นได้ว่า เรายังบกพร่องอยู่ ยังไม่สมบูรณ์บริบูรณ์ เราจะต้องศึกษา จะต้องมีการละ ต้องมีการบำเพ็ญอยู่เสมอไม่ขาด นี่ผู้ศึกษาอยู่ มันติดอยู่ตรงนี้ เราก็รู้จักว่าติดอยู่ตรงนี้ เราเป็นอย่างนี้ เราจะต้องแก้ไขตัวเราเอง
การอยู่กับครูบาอาจารย์ หรืออยู่นอกครูบาอาจารย์ก็เหมือนกัน ไอ้ความกลัวนั้นบางคนก็มีความกลัว ถ้าไม่เดินจงกรมก็กลัวครูบาอาจารย์จะดุจะว่า นี่ก็ยังดีอยู่ แต่ว่าข้อประพฤติปฏิบัติที่แท้นั้น ไม่ต้องกลัวใคร กลัวแต่ความประมาทมันจะเกิดขึ้นมา กลัวความผิดมันจะเกิดขึ้นมาที่กายที่วาจาที่ใจของเรานี้เองเมื่อเราเห็นความบกพร่องที่กายที่วาจาที่ใจของเราแล้ว เราก็ต้องพิจารณาควบคุมจิตใจของเราอยู่เสมอ อัตตะโน โจทยัตตะนังจงเตือนตนด้วยตนเอง ไม่ต้องทิ้งการงานอันนั้นให้คนอื่นช่วย เรารีบปรับปรุงตัวเองเสียให้รู้จัก อย่างนี้เรียกว่าการศึกษา การละการบำเพ็ญ จับอันนั้นมาพิจารณาให้มันเห็นแจ่มแจ้ง
ที่เราอยู่กันนี้ด้วยการอดทน อดทนต่อกิเลสทั้งหลายนี้ มันก็ดีส่วนหนึ่งเหมือนกัน แต่อดทนอันนี้ก็เรียกว่าปฏิบัติธรรมยังไม่เห็นธรรม ถ้าเราปฏิบัติธรรมจนเห็นธรรมแล้ว สิ่งที่มันผิดเราก็ละมันได้จริงๆ อันใดมันเกิดประโยชน์ เราก็ประพฤติอันนั้นให้มันเกิดได้จริงๆ เมื่อเราเห็นในจิตของเราอย่างนี้เราก็สบาย ใครจะมาว่าอย่างไรก็ช่าง เราเชื่อจิตของตนเอง มันไม่วุ่นวาย จะอยู่ที่ไหนก็อยู่ไปได้อย่างนี้
ที่นี้พวกเราเป็นพระเล็กเณรน้อยบวชก็มาปฏิบัติ บางทีก็เห็นครูบาอาจารย์ท่านก็ไม่ค่อยเดินจงกรม ไม่ค่อยนั่งสมาธิ ไม่ค่อยทำอะไรต่ออะไรของท่าน เราก็อย่าเอาตัวอย่างท่านนั้น ให้เอาเยี่ยง อย่าไปเอาอย่างท่าน เยี่ยงมันเป็นอย่างหนึ่ง อย่างมันเป็นอย่างหนึ่ง คือสิ่งอะไรที่ท่านพออยู่สบายแล้ว ท่านก็อยู่สบายๆ ถึงท่านไม่ทำทางกาย ทางวาจา ท่านก็ทำของท่านทางใจ ไอ้สิ่งภายในจิตนั้นตามองไม่เห็น การประพฤติปฏิบัติในทางพระพุทธศาสนานี้มันเป็นเรื่องของจิต ถึงแม้ไม่แสดงทางกาย ทางวาจา เรื่องจิตมันก็เป็นส่วนจิต ฉะนั้นเมื่อเห็นครูบาอาจารย์ที่ท่านประพฤติปฏิบัติมานานแล้ว พอสมควรแล้ว บางทีท่านก็ปล่อยกายวาจาของท่าน แต่ท่านคุมจิตของท่าน ท่านสำรวมอยู่แล้ว ถ้าเราเห็นเช่นนั้นเราก็ไปเอาอย่างท่าน แล้วก็ปล่อย การปล่อยวาจาเราก็ปล่อยไปตามเรื่อง มันก็ไม่เหมือนกันเท่านั้น มันคนละที่ อันนี้ให้พิจารณา มันต่างกันเสียแล้ว มันคนละที่เสียแล้วอันนั้น เมื่อท่านนั่งอยู่ท่านก็ไม่มีความประมาท ท่านไม่วุ่นวายกับสิ่งทั้งหลาย แต่ท่านก็อยู่ในสิ่งอันนั้น อันนี้เราก็ไม่รู้จักท่าน สิ่งในใจมันไม่มีใครรู้จัก เราจะไปดูตัวอย่างข้างนอกอย่างเดียวนั้นก็ไม่ได้ เรื่องจิตนี้เป็นของสำคัญ เรานี้ถ้าพูดไปก็ไปตามคำพูด ถ้าทำมันก็ไปตามการกระทำนั้น บางทีที่ท่านทำมาแล้ว กายของท่านๆ ก็ทำได้ วาจาของท่านๆ ก็พูดได้ แต่จิตของท่านไม่เป็นไปตามนั้น เพราะว่าจิตของท่านปรารภธรรม ปรารภวินัยอยู่ เช่น บางอย่างท่านจะทรมานเพื่อนฝูง ทรมานลูกศิษย์ หรืออะไรต่างๆ การพูดมันก็หยาบ ไม่ค่อยเรียบร้อย ทางกายของท่านก็หยาบ เมื่อเราไปเห็นเช่นนั้น เราเห็นแต่กายของท่าน ส่วนจิตนั้นที่ท่านปรารภธรรมหรือปรารภวินัยเรามองเห็นไม่ได้ อย่างไรก็ช่างมันเถอะ ให้เรายึดเอาคำสอนของพระพุทธเจ้าว่า อย่าประมาท ความไม่ประมาทนี่แหละเป็นสิ่งที่ไม่ตาย ความประมาทนั่นแหละคือความตาย ให้ถืออย่างนี้ ใครจะทำอย่างไรก็ช่างใครเถอะ เราอย่าประมาทเท่านั้นอันนี้เป็นของที่สำคัญ
อันนี้ที่ผมกล่าวมานี้เพื่อจะเตือนท่านทั้งหลายว่า เวลานี้เราสอบสนามหลวงมาเสร็จแล้ว แล้วก็มีโอกาสที่จะเที่ยวสัญจรไปมาแล้วก็มีโอกาสที่จะทำอะไรๆ หลายๆ อย่าง ขอให้ท่านทั้งหลายมีความสำนึกรู้สึกตัวอยู่เสมอว่าเราเป็นผู้ปฏิบัติ เป็นผู้ปฏิบัติต้องสังวรสำรวมระวัง อย่างคำสอนที่ท่านสอนว่า "ภิกขุ" ท่านแปลว่า"ผู้ขอ" ถ้าแปลอย่างนี้การปฏิบัติมันก็ไปรูปหนึ่ง...หยาบๆ ถ้าใครเข้าใจอย่างพระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า "ภิกขุ" แปลว่า "ผู้เห็นภัยในสงสาร" นี่มันก็ลึกซึ้งกว่ากันทั้งนั้น ผู้เห็นภัยในสงสาร ก็คือเห็นโทษของวัฏฏะทั้งหลายนั้น ในวัฏฏะสงสารนี้มันมีภัยมากที่สุด แต่ว่าคนธรรมดาสามัญไม่เห็นภัยในสงสารนี้ เห็นความสนุก เห็นความสนานความรื่นเริงบันเทิงในโลกอันนี้ แต่ท่านว่า "ภิกขุผู้เห็นภัยในสงสาร" สงสารนั้นคืออะไร? สังสาเรสุขัง สังสาเรทุกขังทุกข์ในสงสารนี้เหลือที่จะทนได้ มันมากเหลือเกินแหละ อย่างความสุขนี่มันก็เป็นสงสาร ท่านก็ไม่ให้เอาไปยึดมั่น ถ้าเราไม่เห็นภัยในสงสาร เมื่อเกิดความสุขเราก็ยึดความสุขนั้นเข้าไป ไม่รู้จักทุกข์ คล้ายๆไม่รู้จักความผิด เหมือนเด็กไม่รู้จักไฟ มันเป็นเช่นนั้น ถ้าเราเข้าใจการประพฤติปฏิบัติอย่างนี้ว่า "ภิกขุ" "ผู้เห็นภัยในสงสาร" ถ้ามีธรรมะข้อนี้ เข้าใจอย่างนี้ มันจมอยู่ในใจของผู้ใด ผู้นั้นจะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน ที่ไหนก็ตาม ก็เกิดความสลด เกิดความสังเวช เกิดความรู้ตัว เกิดความไม่ประมาทอยู่นั่นแหละ ถึงท่านจะนั่งอยู่เฉยๆ ก็เป็นอยู่อย่างนั้น ท่านจะทำอย่างไรอยู่ท่านก็เห็นภัยอยู่อย่างนั้น อันนี้มันอยู่คนละที่กันเสียแล้ว การปฏิบัตินี้เรียกว่า "ผู้เห็นภัยในสงสาร" ถ้าเห็นภัยในสงสารแล้วท่านก็อยู่ในสงสารนี้แหละ แต่ท่านไม่อยู่ในสงสารนี้ คือรู้จักสมมุติอันนี้ รู้จักวิมุตติอันนี้ ท่านก็จะพูดก็พูดต่างเรา ทำก็ทำต่างเราคิดก็คิดต่างเรา นี่การปฏิบัติมันฉลาดกว่ากันอย่างนี้
ฉะนั้นครูบาอาจารย์ท่านยังบอกว่า ให้เอาเยี่ยงของท่านอย่าไปเอาอย่างท่าน มันมีเยี่ยงกับอย่าง ๒ อย่างคลุมกันอยู่ ถ้าว่าคนไม่ฉลาดก็ไปจับหมดทุกสิ่งทุกอย่าง มันก็ไม่ได้ อันนี้แหละเวลานี้เราก็ต้องมีการมีงานอะไรหลายๆอย่าง พวกเราทั้งหลายอย่าพากันเผลอ
ส่วนผมปีนี้ร่างกายไม่ค่อยสบาย ไม่ค่อยดี บางสิ่งบางอย่างผมก็มอบให้พระภิกษุสามเณรทุกๆ องค์ช่วยกันทำต่อไปบางทีผมก็พักผ่อน โดยมากก็ชอบเป็นอย่างนี้ตั้งแต่ไหนแต่ไรมาทางโลกก็เหมือนกัน ถ้าพ่อแม่ยังอยู่ลูกเต้าก็สบายสมบูรณ์ ถ้าพ่อแม่ตายไปแล้วลูกเต้าแตกกันแยกกัน เป็นคนรวยก็กลับเป็นคนจน อันนี้มันเป็นธรรมดาอยู่ในโลกนี้ มันมีอยู่แล้วและเรามองเห็นอยู่ เช่นว่าเมื่อครูบาอาจารย์ยังอยู่ก็สบายสมบูรณ์บริบูรณ์ ยกตัวอย่างเช่นพระพุทธเจ้าของเราเป็นต้น เมื่อท่านยังทรงพระชนม์อยู่นั้น ก็เรียกว่ากิจการต่างๆ นั้นก็เรียบร้อย มันดีทุกอย่าง เมื่อปรินิพพานไปแล้วนั้นนะ ความเสื่อมมันเข้ามาเลย เพราะอะไร? ก็เพราะเรานะเมื่อครูบาอาจารย์ยังอยู่ก็เกิดเผลอไป ประมาทไป ไม่ขะมักเขม้นในการศึกษาและประพฤติปฏิบัติ ทางโลกก็เหมือนกันพ่อแม่ยังอยู่แล้วก็ปล่อยให้พ่อแม่ อาศัยพ่อแม่เราว่ายังอยู่ ตัวเราก็ไม่เป็นการเป็นงาน เมื่อพ่อแม่ตายไปหมดแล้วก็ต้องเป็นคนจนฝ่ายพระเจ้าพระสงฆ์เราก็เหมือนกัน ถ้าหากครูบาอาจารย์หนีหรือมรณภาพไปแล้ว ชอบคลุกคลีกัน ชอบแตกสามัคคีกัน ชอบเสื่อมเกือบทุกแห่งเลย อันนี้เป็นเพราะอะไร? เพราะว่าเราทั้งหลายพากันเผลอตัวอยู่ เราก็อาศัยบุญบารมีของครูบาอาจารย์อยู่ เราก็ไม่เป็นอะไร สบาย ถ้าหากว่าครูบาอาจารย์เสียไปแล้ว ลูกศิษย์ชอบแตกกัน ชอบแยกกัน ความเห็นมันต่างกัน องค์ที่คิดผิดก็ไปอยู่แห่งหนึ่ง องค์ที่คิดถูกก็ไปอยู่แห่งหนึ่ง ผู้ที่ไม่สบายใจหนีออกไปจากเพื่อนแล้วไปตั้งใหม่อีก ก่อกำเนิดขึ้นมาใหม่อีก มีบริษัท มีบริวาร ประพฤติดีประพฤติชอบขึ้นมาอีกในกลุ่มนั้น ชอบเป็นอย่างนี้ ปัจจุบันนี้ยังเป็นอย่างนั้น อันนี้ก็เพราะพวกเราทำให้บกพร่อง บกพร่องเมื่อครูบาอาจารย์ยังอยู่ เรายังอาศัยความประมาทกันอยู่ ไม่หยิบเอาข้อวัตรปฏิบัติอันที่ท่านประพฤติปฏิบัติมานั้น ยกเข้ามาใส่ใจของเรา จะประพฤติปฏิบัติตาม อย่างนั้นไม่ค่อยมี
แม้แต่ครั้งพุทธกาลก็เหมือนกันเคยเห็นไหม? พระภิกษุผู้เฒ่านั่นไงล่ะ สุภัททะภิกขุนั่น พระมหากัสสะปะมาจากปาวาร มาถามปริพาชกว่า "พระพุทธเจ้าของเรายังสบายดีอยู่หรือเปล่า?" "พระพุทธเจ้าปรินิพพานไป ๗ วันเสียแล้ว" พระทั้งหลายที่ยังมีกิเลสหนา ปัญญาหยาบ ยังไม่บรรลุมรรคผลนิพพานก็น้อยใจร้องไห้ก็มี ครวญครางหลายๆอย่าง ผู้ถึงธรรมะก็เห็นว่า "พระพุทธเจ้าของเราปรินิพพานไปแล้ว ไปด้วยดีแล้วหนอ" ผู้ที่มีกิเลสมาก อย่างเช่นพระสุภัททะพูดว่า "ท่านจะร้องไห้ทำไม? พระพุทธองค์ท่านนิพพานไปนะดีแล้ว เราจะอยู่สบายกัน เมื่อท่านยังอยู่นั้นจะทำอะไรก็ไม่ได้ จะพูดอะไรก็ไม่ได้ ขัดข้องทั้งนั้นแหละเราอยู่ลำบากใจเรา อันนี้มันดีแล้วท่านนิพพานไปแล้ว สบายเลยอยากทำอะไรก็ทำ อยากพูดอะไรก็พูด อันนี้เราจะร้องไห้ทำไม? มันเป็นมาแต่โน้น มันเป็นมาอยู่อย่างนี้
ฉะนั้น อย่างไรก็ตาม ถึงครั้งพระพุทธเจ้าเราก็เอานี้ไว้ไม่ได้แต่ว่าอย่างเรามีแก้วน้ำใบหนึ่ง เราพยายามรักษามันให้ดี ใช้แล้วก็เช็ดมัน เก็บมันไว้ที่สมควร ระมัดระวังแก้วใบนั้นมันจะได้ใช้ไปนานๆ เราใช้ไปเสร็จแล้วคนอื่นจะได้ใช้ต่อไปนานๆ ให้มันนานเท่าที่มันจะนานได้ ถ้าหากว่าเราใช้แก้วแตกวันละใบ วันละใบ วันละใบ กับการใช้แก้วใบหนึ่ง ๑๐ ปี จึงแตก มันก็ต่างกันดีกว่ากันไหม? มันก็เป็นอย่างนั้น อย่างการประพฤติปฏิบัตินี้ก็เหมือนกันอย่างพวกเราอยู่ด้วยกันหลายๆองค์อย่างนี้นะ ปฏิบัติให้สม่ำเสมอจะให้ดีมากสักสิบองค์เถอะ สิบองค์วัดป่าพงนี้เจริญเหมือนกับคนในบ้านๆ หนึ่งนั่นแหละ ขนาดสัก ๑๐๐ หลังคา มีคนดีสัก ๕๐ คน บ้านนั้นก็เจริญ อันนี้จะหาสัก ๑๐ คน ก็ยาก อย่างวัดหนึ่งอย่างนี้นะ จะหาครูบาอาจารย์ประพฤติปฏิบัติมานั้น ผู้มีศรัทธาจริงจังนั้น ๕-๖ องค์ มันก็ยาก มันเป็นเช่นนั้น
อย่างไรก็ตาม พวกเราทั้งหลายก็ไม่มีหน้าที่อื่นอีกแล้วนอกจากการประพฤติดีปฏิบัติชอบเท่านั้น เพราะเรานี้ไม่มีอะไรแล้ว ดูซิใครเอาอะไรไหม? ทรัพย์สมบัติของเราก็ไม่เอาแล้วครอบครัวเราก็ไม่มีแล้ว อะไรทุกอย่างแม้ตั้งแต่การฉันก็ยังฉันมื้อเดียว เราละมาหลายๆอย่างแล้ว ไอ้สิ่งที่มันดีกว่านี้เราละมาเยอะๆ คล้ายๆ กับที่ว่าเป็นพระนี้เราละหมดไม่มีอะไร ไอ้สิ่งที่พวกเขาชอบๆกันนั้นนะทิ้งหมด ก็ตกลงว่า เราบวชมาในพุทธศาสนานี้ก็เพื่อหวังการประพฤติปฏิบัติ เพราะเราละมาแล้ว ไม่เอาอะไรแล้วเราจะมาคิดเอาอะไรอีก จะมาเอาโลภอีก จะมาเอาโกรธอีก จะมาเอาหลงอีก จะมาเอาอะไรต่างๆ ไว้ในใจของเราอีก อันนี้มันไม่สมควรแล้ว
ให้เราคิดไปว่าเราบวชมากันทำไม? เราปฏิบัติกันทำไม? บวชมาปฏิบัติ ถ้าหากเราไม่ปฏิบัติก็อยู่เฉยๆ เท่านั้นแหละ ถ้าไม่ปฏิบัติก็เหมือนฆราวาส มันก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร ไม่ทำธุระหน้าที่การงานของเรานี้มันก็เสียเพศสมณะ ผิดความมุ่งหวังมาแล้วถ้าเป็นเช่นนั้นก็เรียกว่า เราประมาทแล้ว เราประมาทแล้ว ก็เรียกว่าเราตายแล้ว อันนี้ให้เข้าใจ นานๆก็พิจารณาไปเถอะ อย่าไปลืมความตายนี้ ดูซิ ถามว่าเมื่อเราตายมีเวลาไหม? ถามทวงเราเสมอแหละ "ตาย...เมื่อ ไหร่ตาย?" ถ้าเราคิดเช่นนี้จิตใจเราจะระวังทุกวินาทีเลยทีเดียว ความไม่ประมาทจะเกิดขึ้นมาทันที เมื่อความประมาทไม่มีแล้ว สติ ความระลึกได้ว่าอะไรเป็นอะไรก็เกิดมาทันที ปัญญาก็แจ่มแจ้ง เห็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งชัดเจนในเวลานั้น เราก็มีสติประคองอยู่ รอบรู้อยู่ทางอารมณ์ทั้งกลางวันและกลางคืนทุกสิ่งสารพัดนั้นแหละก็เป็นผู้มีสติอยู่ ถ้าเป็นผู้มีสติอยู่ก็เป็นผู้สำรวมถ้าเป็นผู้สำรวมอยู่ก็เป็นผู้ไม่ประมาท ถ้าเป็นผู้ไม่ประมาทก็เป็นผู้ปฏิบัติถูกต้องเท่านั้น อันนี้เป็นหน้าที่ของเราทั้งหลาย
ฉะนั้นวันนี้ขอพูดถวายพวกท่านทั้งหลาย ต่อไปนี้ถ้าหากว่าเราจะออกจากที่นี้ไปอยู่สาขาก็ตาม จะไปอยู่ที่ไหนก็ตาม อย่าลืมตัว อย่าลืมตัวของตัว คือเรายังไม่สำเร็จเรายังไม่เสร็จสิ้น การงานของเรายังมีมาก ภาระของเรายังมีมาก คือข้อประพฤติปฏิบัติในการละการบำเพ็ญของเรายังมีมาก ให้เป็นห่วงไว้ พวกท่านทั้งหลายให้ตั้งใจทุกๆองค์ จะอยู่ในสาขาก็ดี อยู่ในที่นี้ก็ดี ให้ท่านทรงข้อวัตรปฏิบัติไว้ เพราะว่าในเวลานี้พวกเราทั้งหลายรวมกันมากแล้ว หลายสาขาแล้ว ต้องให้ท่านพยายาม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต่างสาขาต่างมีกำเนิดจากวัดป่าพง จะถือว่าวัดป่าพงนี้เป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นครูบาอาจารย์ เป็นเยี่ยงอย่างของสาขาเหล่านั้นก็ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระเณรครูบาอาจารย์ทุกองค์ซึ่งอยู่ประจำวัดป่าพงนี้ พยายามให้เป็นแบบเป็นตัวอย่าง เป็นครูบา-อาจารย์ของสาขาทั้งหลายเหล่านั้น ให้เข้มแข็งในการประพฤติปฏิบัติตามหน้าที่ของสมณะพวกเราทั้งหลายต่อไป