ดูความกลัวมันซิ วันหนึ่งตอนบ่ายๆ ทำยังไงก็ไม่ได้บอกให้ไปมันก็ไม่ไป ชวนเอาปะขาวไปด้วย ไปให้มันตายเสีย ถ้าหากมันพอจะตายก็ให้มันตายเสีย มันลำบากนัก มันโง่นัก ก็ให้มันตายซะ พูดในใจอย่างนี้ ใจมันก็ไม่อยากจะไปเท่าไร แต่ก็บังคับมัน เรื่องอย่างนี้จะให้มันพร้อมใจไปทุกอย่างนะ มันไม่พร้อมหรอก อย่างนั้นจะได้ทรมานมันหรือ ก็พามันไป
ไม่เคยอยู่ป่าช้าเลยสักที พอไปถึงป่าช้าแล้ว โอย บอกไม่ถูก ปะขาวจะมาอยู่ใกล้ๆ ก็ไม่ยอมให้มา ให้ไปอยู่โน่นไกลๆ โน่น ความจริงแล้วอยากจะให้มาอยู่ใกล้ๆ เป็นเพื่อนกัน แต่ไม่เอาให้ไปไกลๆ เดี๋ยวตัวเองจะอาศัยเขา กลัวนักก็ให้มันตายเสียคืนนี้ทั้งกลัวทั้งทำ ไม่ใช่ว่าจะไม่กลัว แต่ก็กล้า ที่สุดมันก็ถึงตายเหมือนกันเท่านั้นแหละ
พอค่ำลงก็พอดีเลย โชค เขาหามศพมาโตงเตงโตงเตง นั่นทำไมจึงเหมาะกันอย่างนี้?โอ๊ย! เดินจนไม่รู้ว่าตัวเองเหยียบดินเลยละทีนี้ หนี คิดอยากจะหนี เขานิมนต์ให้มาติกาศพ ก็ไม่อยากจะมาติกาให้ใครหรอก เดินหนีไป สักพักก็เดินกลับมาเขาก็ยิ่งเอาศพฝังไว้ใกล้ๆ เขาเอาไม้ไผ่ที่หามศพมาทำเป็นร้านให้นั่ง ฮือ จะทำอย่างไรดีล่ะ? หมู่บ้านกับป่าช้าก็ไม่ใช่ใกล้ๆ ห่างกันตั้ง ๒-๓ กิโลเมตรแน่ะ เอาละตายก็ยอมตาย ไม่กล้าทำ มันก็ไม่รู้หรอกว่าเป็นอย่างไร โอ๊ย มันช่างออกรสชาติเสียจริงๆ
มืดเข้ามืดเข้า จะไปทางไหนละอยู่กลางป่าช้าอย่างนี้ เอ้าให้มันตายเสีย มันเกิดมาตายหรอกนะชาตินี้ พอตะวันตกดินเท่านั้น มันก็บอกให้เข้าอยู่แต่ในกลดท่าเดียว เดินก็ไม่อยากจะเดิน มันบอกให้อยู่แต่ในกลด จะเดินออกไปหาหลุมศพ ก็เหมือนมีอะไรมาดึงรั้งเอาไว้ไม่อยากให้เดิน ความรู้สึกกล้ากับกลัวมันฉุดรั้งกันอยู่ เอ้าเอาลงไป อย่างนี้แหละหัดมัน เดินออกไปเกิดความกลัว ก็หยุด ทีนี้พอมืดสนิทลงจริงๆ ก็เข้าในกลดทันที ฮือยังกับมีกำแพงเจ็ดชั้นนะทีนี้ เห็นบาตรของตัวเองอยู่ใบเดียวก็เหมือนกันกับมีเพื่อนอย่างนั้นแหละ เอาไปเอามา บาตรก็เป็นเพื่อนได้ตั้งอยู่ข้างๆ ใบเดียว ก็รู้สึกดีใจได้อาศัยบาตรเป็นเพื่อนนั่งอยู่ในกลดเฝ้าดูผีทั้งคืน ไม่ได้หลับไม่ได้นอนเลย นั่งเงียบอยู่จะให้ง่วงก็ไม่ง่วง มันกลัว ทั้งกลัวทั้งกล้า ทำอยู่อย่างนี้ตลอดคืนเลย
นี่ละเช่นนี้ใครจะกล้าทำ? ลองดูซิปฏิบัตินี่ พูดถึงเรื่องอย่างนี้แล้ว ใครจะกล้าไปอยู่ในป่าช้านั่น? ทุกอย่างถ้าเราไม่ทำไม่ได้เกิดประโยชน์ ไม่ได้ปฏิบัติ คราวนี้ละเราได้ปฏิบัติ พอสว่างขึ้นก็รู้สึกว่า โอ รอดตายแล้วนี่ ดีใจจริงๆ ภายในใจเรานะ อยากให้มีแต่กลางวันเท่านั้น ไม่อยากให้มีกลางคืนเลย อยากฆ่ากลางคืนทิ้ง ให้มีแต่กลางวัน สบายใจ อือ ไม่ตายแล้ว คิดว่าไม่มีอะไร มีแต่เรากลัวเฉยๆ
วันนี้ตอนเช้าได้ทดลองกระทั่งหมา ไปบิณฑบาตคนเดียวหมามันวิ่งตามหลังมามันจะกัด "เอ้า ไม้ไล่มันละ จะกัดก็กัดไปเลย" มีแต่จะตายท่าเดียว ก็ให้มันกัดให้ตายซะ มันก็งับผิดงับถูกรู้สึกป๊าบแข้งขาเหมือนมันขาดออกอย่างนั้นละ แม่ออกภูไทนะ ก็ไม่รู้จักไล่หมาหรอก เขาว่าผีมันไปกับพระ หมาจึงได้เห่าได้กัดเลยไม่ยอมไล่มัน เอ้า ช่างมัน เมื่อคืนที่แล้วก็กลัวจนเกือบจะตายทีหนึ่งแล้ว ตอนเช้านี้หมาจะกัดก็เลยปล่อยให้มันกัดซะ ถ้าหากว่าแต่ก่อนเราเคยกัดมัน ก็ให้มันกัดเราซะ แต่มันก็ไม่กัด งับผิดงับถูกอย่างนั้นเอง นี่แหละเราหัดตัวเรา
บิณฑบาตได้มาก็ฉัน พอฉันเสร็จดีใจ แดดออกมาบ้างรู้สึกอบอุ่น ได้พักผ่อนและเดินจงกรมบ้าง ตอนเย็นจะได้ภาวนาดีละทีนี้เพราะได้ทดลองมาคืนหนึ่งแล้ว คงไม่เป็นอะไรแล้ว พอบ่ายๆ มาอีกแล้ว หวนมาอีกแล้ว เป็นผู้ใหญ่เสียด้วยซีทีนี้ เอามาเผาไว้ใกล้ๆ ข้างหน้ากลดเสียด้วย ยิ่งร้ายกว่าเมื่อคืนวานเสียอีก ดีเหมือนกันเขาเอามาเผา เขาช่วยกัน แต่จะให้ไปพิจารณาไม่ไป พอเขากลับบ้านหมดแล้วจึงไป โอ๊ย เขาเผาผีให้เราดูอยู่คนเดียวนี่ไม่รู้จะว่าอย่างไร บอกไม่ถูกเลย ไม่มีอะไรจะเปรียบเทียบให้ฟังหรอกความกลัวที่มันเกิดขึ้นนี่ เป็นกลางคืนด้วยซิ กองไฟที่เผาศพก็แดงๆ เขียวๆ พึบพับอยู่ๆ จะเดินจงกรมไปข้างหน้าก็ไปไม่ได้ ที่สุดก็เข้าในกลด เหม็นกลิ่นเน่าของศพทั้งคืนเลย นี่ก่อนที่มันจะเกิดอะไรขึ้นมา ไฟลุกอยู่พึ่บพึ่บ ก็หันหลังให้ ลืมนอน มันไม่คิดอยากจะนอนเลย มันตื่นตาแข็งอยู่อย่างนั้น มันกลัว กลัวไม่รู้จะไปอาศัยใคร มีแต่เราคนเดียว ก็อาศัยเราเท่านั้นละไม่มีที่ไปนี่ คิดไปไหนก็ไม่มีที่จะไป หนีไปไหนก็ไม่ได้ เพราะมีแต่กลางคืนมืดเสียด้วย นั่งตายมันอยู่ตรงนี้แหละไม่ไปไหนละ นั่นพูดถึงใจมันจะอยากทำไหม? มันจะพาทำอย่างนั้นไหม? พูดกับมัน มันไม่พาทำหรอก ใครล่ะอยากจะมาทำอย่างนั้น นี่ถ้าไม่เชื่อมั่นในคำสอนของพระพุทธเจ้าจะไม่มาทำอย่างนี้
ดึกประมาณ ๔ ท่ม หันหลังให้กองไฟ มันบังเอิญอะไรก็ไม่รู้ มีเสียงอยู่ข้างหลังในกองไฟดังทึงทังทึงทัง หรือโลงศพตกลงมา หมาจิ้งจอกมากัดกินซากศพหรือก็ไม่ใช่ ฟังเหมือนเสียงควายครืดคราดครืดคราดอยู่ เอา ช่างมันเถอะ เอาไปเอามา เดินมาเหมือนคนเดินเข้ามาหา เดินเข้ามาข้างหลัง เดินหนักเหมือนควายแต่ไม่ใช่ เหยียบใบไม้หนักๆ ดังแครกๆ อ้อมเข้ามาหา เอ้า ยอมตายแล้วนี่จะไปไหนได้ล่ะ แต่จะเข้ามาจริงๆ ก็ไม่เข้ามา เดินโครมๆ ออกไปข้างหน้าโน้น ไปหาพ่อปะขาวแก้วโน่น จนเงียบเสียงเพราะอยู่ไกลกัน ไม่รู้เหมือนกันว่าเป็นอะไร เพราะความกลัวทำให้คิดไปหลายอย่าง นานประมาณครึ่งชั่วโมงเห็นจะได้ เดินกลับมาอีกแล้ว เดินกลับมาจากพ่อปะขาวแก้ว เหมือนคนเดินจริงๆ ตรงเข้ามาตรงเข้ามา ตรงดิ่งเข้ามาเหมือนจะเหยียบพระอย่างนั้นแหละหลับตาอยู่จะไม่ยอมลืมตามันละ ให้มันตายทั้งตาหลับอยู่นี่ มาถึงใกล้ๆ ก็หยุดกิ๊ก ยืนนิ่งอยู่เงียบๆ อยู่ข้างหน้ากลด รู้สึกเหมือนกับว่า มันเอามือที่ถูกไฟไหม้มาคว้าไปคว้ามาอยู่ข้างหน้าอย่างนี้ อย่างนี้ โอ๊ย ตายคราวนี้ล่ะ สละหมดแล้ว หลงพุทโธ ธัมโม สังโฆหมด ลืมหมด มีแต่กลัวอย่างเดียวเต็มเอี๊ยดแทนที่อยู่ แน่นเหมือนกับกลอง จะคิดไปไหนมาไหนไม่ไป มีแต่กลัวเท่านั้น ตั้งแต่เกิดมาไม่เคยมีกลัวเหมือนครั้งนี้เลย พุทโธ ธัมโม ไม่มีเลยไม่รู้ไปไหน มีแต่กลัวแน่นอยู่เหมือนกลองเพลอย่างนั้นแหละ เอ้าให้มันเป็นอยู่อย่างนี้ล่ะ มันเป็นอย่างไร ทำอะไรไม่ได้ นั่งอยู่ก็เหมือนไม่ถูกอาสนะ ทำความรู้ไว้เท่านั้น กลัวมาก มันกลัวมากจนเปรียบเหมือนกับน้ำที่เราเทใส่ในโอ่ง เทใส่มากเต็มแล้วมันก็ล้นออกมา มันกลัวมากจนหมดกลัวแล้วก็ล้นออกมา "ที่มันกลัวมากกลัวมายนักนะ มันกลัวอะไร?" ใจมันถาม "กลัวตาย" อีกใจหนึ่งตอบ "แล้วตายมันอยู่ที่ไหน ทำไมถึงกลัวเกินบ้านเกินเมืองเขานักล่ะ?..หาที่ตายมันดูซิตายมันอยู่ที่ไหน? "เอ้า ตายเลยอยู่กับตัวเอง" อยู่กับตัวเองแล้วจะหนีไปไหนจึงจะพ้นมันล่ะ วิ่งหนีมันก็ตาย นั่งอยู่มันก็ตาย เพราะมันอยู่กับเราไปไหนมันก็ไปด้วยนั่นแหละ เพราะความตายมันอยู่กับตัวเราไม่มีที่ไปหรอก กลัวหรือไม่กลัวมันก็ตายเหมือนกัน เพราะตายอยู่กับตัวเองนี่ หนีมันไม่ได้หรอก"ชี้บอกไปไวๆ อย่างนี้
พอบอกไปอย่างนี้เท่านั้น สัญญาก็เลยพลิกกลับทันทีเปลี่ยนขึ้นมาทันที ความกลัวทั้งหลายเลยหายออกไปเลย ปานฝ่ามือกับหลังมือเราพลิกกลับ อัศจรรย์เหลือเกิน ความกลัวมากๆ มันหายไปได้ ความไม่กลัวมันกลับมาแทนในที่เดียวกันนี้ โอ...ใจมันสูงขึ้นสูงขึ้น เหมือนอยู่บนฟ้านะ เปรียบไม่ถูก
พอชนะความกลัวนี้แล้ว ฝนก็เริ่มตกทันทีเลย ฝนอะไรก็ไม่รู้ ลมก็แรงมาก ไม่ได้กลัวตายละ ไม่กลัวว่าต้นไม้กิ่งไม้มันจะหักลงมาทับตาย ไม่สนใจมันเลย ฝนตกลงมาหนักเหมือนฝนเดือนสี่ หนักมาก พอฝนหายแล้วเปียกหมด นั่งนิ่งไม่กระดิกเลยทำอย่างไรละเปียกหมดนี่? ร้องไห้...ร้องออกมาเอง นั่งร้องไห้น้ำตามันไหลอาบลงมา ที่มันร้องไห้ก็เพราะนึกไปว่า ตัวเรานี่ทำไมเหมือนคนไม่มีพ่อมีแม่แท้ มานั่งตากฝนยังกับคนไม่มีอะไร ยังกับคนสิ้นทุกสิ่งทุกอย่างนั้นแหละ เลยคิดไปอีกว่า คนที่เขามีบ้านอยู่ดีๆ เขาคงจะไม่คิดหรอกว่ามีพระมานั่งตากฝนอยู่ทั้งคืนแบบนี้เขาคงจะนอนห่มผ้าห่มสบาย เราซินั่งตากฝนอยู่ทั้งคืนอย่างนี้แล้วมันเรื่องอะไรน้อ คิดไปมันวิตกไป เลยสังเวชชีวิตของตนร้องไห้น้ำตามันไหลพรากๆ "เอ้า น้ำไม่ดีนี่ให้มันไหลออกให้หมดอย่าให้มันมีอยู่" นี่แหละปฏิบัติ เอาอยู่อย่างนี้
ทีนี้เลยไม่รู้จะพูดอย่างไร จะบอกอย่างไร เรื่องราวที่มันเป็นต่อไป มีแต่นั่งดูนั่งฟังอยู่เฉยๆ เมื่อมันชนะแล้วนั่งดูอยู่อย่างนั้น สารพัดที่มันจะรู้มันจะเห็นต่างๆ นานา พรรณนาไม่ได้คิดถึงพระพุทธเจ้า ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ วิญญูชนพึงรู้เฉพาะตนนี่ เราทุกข์ตากฝนอย่างนี้ ใครละจะมารู้ด้วยกับเรา? ก็รู้แต่เฉพาะเราเอง เป็นปัจจัตตังเท่านั้นแหละ มันกลัวมากๆ ความกลัวมันหายไป ใครอื่นจะมารู้ด้วย? ชาวบ้านชาวเมืองไม่มารู้ด้วยกับเราหรอก เรารู้คนเดียว มันก็เป็นปัจจัตตัง จะไปบอกใคร ไปหาใคร มันเป็นปัจจัตตัง แน่เข้า พิจารณาเข้า มีกำลังขึ้น มีศรัทธาขึ้นจนสว่าง
สว่างมาลืมตาครั้งแรกเหลืองไปหมดเลย ปวดปัสสาวะปวดจนหายปวดเฉยๆ อยู่ ยามเช้าลุกขึ้นมองไปทางไหนเหลืองหมด เหมือนแสงพระอาทิตย์ยามเช้าอย่างนั้น แล้วลองไปปัสสาวะดู เพราะมันปวดแต่กลางคืนแล้ว ไปปัสสาวะมีแต่เลือด "ฮึ...หรือไส้ข้างในมันขาด!" ตกใจเล็กน้อย "หรือขาดแล้วจริงๆ ข้างในนี่" "เอ้า ขาดก็ขาด แล้วใครทำให้มันขาดล่ะ?" มันพูดออกมาไวเหมือนกัน "ขาดก็ตาย ตายก็ตายซิ นั่งอยู่เฉยๆ ไม่ได้ทำอะไรนี่อยากขาดก็ขาดซิ" ใจมันว่า ใจนะเหมือนกับมันแย้งกัน ดึงกันอย่างนั้นแหละ ใจหนึ่งมันเบียดเข้ามาว่าเป็นอันตราย อีกใจหนึ่งมันก็สู้ ก็ค้าน ก็ตัดทันทีเลย ปัสสาวะเป็นแท่งเป็นแท่ง "ฮือ นั่นจะไปหายาที่ไหนหนอ? ไม่ไปหาหัวมันละจะไปหาที่ไหน ขุดรากไม้ไม่ได้นี่พระ ตายก็ตาย ช่างมัน จะทำอย่างไรได้ ตายก็ดี ตายเพราะบำเพ็ญอย่างนี้ ตายเพราะปฏิบัติอย่างนี้ก็พอใจตายแล้วตายเพราะไปทำความชั่วนั่นซิไม่ค่อยดี ตายเพราะได้ปฏิบัติแบบนี้ตายก็ตาย" ใจมันว่าไปอย่างนั้น
ฝนตกคืนนั้นทั้งคืน วันรุ่งขึ้นเป็นไข้ จับไข้สั่นไปทั้งตัว เป็นไข้อยู่ก็จำต้องไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน บิณฑบาตก็ไม่ได้อะไรหรอกมีแต่ข้าว เห็นคนแก่คนหนึ่งถือมัดถั่วกับขวดน้ำปลามาตามหลัง"เอ เขาจะเอามาตำถวายหรือนี่ จะฉันไหมหนอ" คิดอยู่อย่างนั้นทั้งที่เขายังไม่ลงมือตำเลย จะฉันหรือไม่ฉันก็ไม่รู้จัก เพราะคิดว่าตำส้มถั่วนี่มันจะแสลงกับไข้ เขากำลังลงมือตำเราก็คิด "ฉันไหมหนอ ฉันไหมหนอ" อยู่ เพราะว่าฉันข้าวเปล่าๆ มาหลายวันแล้วไม่มีอะไรอยู่ในป่า จนกระทั่งเขานำมาถวายก็รับ รับแล้วก็ตักใส่บาตรอยู่ พิจารณาอยู่อย่างนั้น เมื่อเรารู้ว่าจะแสลงกับไข้ก็ยังจะฉันมัน ก็ฉันเพราะตัณหาเท่านั้นแหละ หรือมันเป็นอย่างไรพิจารณาไม่ออก พิจารณากลับไปกลับมา ฉันข้าวเปล่าๆ ดูมันก่อนได้ความว่าถ้าจะเป็นตัณหาได้ ก็เพราะว่ายังมีอาหารอย่างอื่นอีกแต่นี่มีแต่มันอย่างเดียวเป็นตัณหาไม่ได้หรอก ก็เลยฉัน "เอ้า ถ้ามันแสลงกับไข้ล่ะ?" "แสลงก็ไม่ตายหรอก เพราะหนึ่ง ต้องมีคนมาแก้ไข สอง ต้องอาเจียนออก มันไม่อยู่หรอกถ้าไม่ถึงคราวมันตาย ถ้าถึงคราวตายของมัน คนจะมาแก้ก็ไม่มีหรอก มันตายเลย" เลยฉันเข้าไป ฉันตำส้มถั่วของชาวบ้าน พิจารณาตกแล้วจึงฉัน ฉันแล้วให้ศีลให้พรชาวบ้าน แล้วเขาก็กลับ
พอตอนเที่ยง นึกถึงตำส้มถั่วขึ้นมาเท่านั้น ขนหัวลุกซู่รู้สึกแน่นขึ้นมาทันที มันไม่ถูกกับไข้แน่ๆ มันจับไข้ ผิดตำส้มถั่วจริงๆ ละนี่ เอ้า ผิดก็ผิด ถ้าไม่ถึงคราวตายของมัน มันก็จะอาเจียนออกมาหรอก แน่นไปแน่นมา ดันไปดันมาสักประมาณบ่ายหนึ่งก็อาเจียนออกมาจริงๆ แน่ะ! อาเจียนออกมาจริงๆ ไม่ถึงคราวมันหรือถ้าหากไม่อาเจียนก็ต้องมีคนมาแก้ แล้วก็อาเจียนออกมาจริงๆ พิจารณาไปอย่างนั้น
อย่าตามใจมัน หัดมัน เอาชีวิตเข้าแลกเลยปฏิบัตินี่ อย่างน้อยต้องได้ร้องไห้ ๓ หน นั่นแหละ การปฏิบัติ ถ้ามันง่วงนอนอยากนอน ก็อย่าให้มันนอน พอมันหายง่วงจึงให้มันนอนอย่างนั้น แต่เรานะ โอยปฏิบัติไม่ได้หรอก บางครั้งบิณฑบาตมา ก่อนจะฉันก็มานั่งพิจารณาอยู่ มันพิจารณาไม่ออก เหมือนสุนัขบ้าน้ำลายหกน้ำลายไหลเพราะความอยาก จะพิจารณาอะไรก็พิจารณาไม่ออก บางทีพิจารณาก็ไม่ทันใจรีบตาม มันก็ยิ่งร้ายใหญ่ ถ้ามันไม่ฟัง อดทนไม่ได้ ก็ดันบาตรออกไปเสีย อย่าให้มันได้ฉันซะ หัดมัน ทรมานมัน การปฏิบัตินี่ อย่าทำตามมันเรื่อยๆ ผลักบาตรหนีไป อย่าให้มันฉัน มันอยากมากนัก อย่าให้มันฉันมันพูดไม่ฟังความนี่ ฮึ น้ำลายก็หยุดไหล พอรู้ว่าจะไม่ได้ฉันมันเข็ด พอวันต่อมามันไม่กวนหรอก มันกลัวว่ามันจะไม่ได้ฉันเงียบลองๆ ทำดูซิถ้าไม่เชื่อ
คนเรานะมันไม่เชื่อไม่กล้าทำ ถึงว่าคนไม่มีศรัทธาจะทำกลัวแต่มันจะหิว กลัวแต่มันจะตาย ไม่ทำดูที่นั่นมันก็ไม่รู้จักไม่กล้าทำหรอกพวกเรานะ ไม่กล้าทำดู กลัวแต่มันจะเป็นนั่นกลัวแต่มันจะเป็นนี่ เรื่องอาหารการขบฉัน เรื่องนั่นเรื่องนี่นะ โอยทุกข์กับมันมามากจนรู้เท่าว่ามันทุกข์ นั่นแหละเรื่องเล็กๆ น้อยๆ นี่เรื่องการปฏิบัตินี่ ไม่ใช่เรื่องจะพิจารณาง่ายๆ ไม่ใช่เรื่องเบาๆ นะ
พิจารณาเรื่องอะไร? เรื่องอะไรละที่สำคัญที่สุด? เรื่องอื่นไม่มีแล้วมันตาย เรื่องนี้สำคัญ ตายจึงเป็นเรื่องสำคัญในโลกพิจารณาไป ทำไป หาไป ก็ยังไม่พบ ไม่มีผ้านุ่งผ้าห่มก็ยังไม่ตายไม่มีหมากกิน ไม่มีบุหรี่สูบก็ยังไม่ตาย ถ้าไม่มีข้าวไม่มีน้ำกินนี่ตาย เห็นเท่านี้ของสำคัญในโลก มีข้าวกับน้ำนี่สำคัญเลี้ยงร่างกาย เลยไม่สนใจเรื่องอื่น เอาแต่มันจะพอได้ ส่วนข้าวกับน้ำนี่พอไม่ตายมีอายุปฏิบัติไปเท่านั้นก็เอาละ เอาไหมล่ะ เอาเท่านี้อย่างอื่นเรื่องเบ็ดเตล็ดนั่น ถ้ามันจะได้หรือไม่ได้ก็ช่างมัน จะมีจะพบก็ช่าง ข้อสำคัญมีแต่ข้าวกับน้ำเท่านั้นก็พอ ถ้าอยู่ไปจะพอกินได้ไหม จะพอตายไหม พิจารณาไปอย่างนั้น พอได้กิน พอได้ใช้อยู่หรอก เข้าไปบิณฑบาตบ้านไหน เขาคงจะให้หรอก ข้าวทีละก้อน น้ำหากินมันจนได้แหละ เอาสองอันเท่านี้ไม่คิดจะรวยเท่าใดหรอก
เรื่องการปฏิบัติ เรื่องผิด เรื่องถูก มันปนกันมานั่นแหละเราต้องกล้าทำ ต้องกล้าปฏิบัติ ป่าช้านะไม่เคยไปก็ต้องหัดไป ไปกลางคืนไม่ได้ต้องไปกลางวัน แล้วหัดไปค่ำๆ บ่อยๆ ต่อไป ตอนค่ำก็ไปได้ แล้วจะเห็นประโยชน์ในการกระทำของตน ทีนี้ก็จะรู้เรื่องอันนี้อะไรจิตใจของเรามันไม่รู้เรื่องรู้ราวมาตั้งกี่ชาติ กี่ชาติ อันไหนเราไม่ชอบ อันไหนเราไม่รัก ก็ไม่อยากให้มันประพฤติปฏิบัติปล่อยมันกลัวอย่างนี้ แล้วว่าเราได้ปฏิบัติ มันยังไม่เรียกปฏิบัติหรอก ถ้าปฏิบัติจริงๆ ละก็ชีวิตนั่นแหละ พูดง่ายๆ ถ้าตั้งใจจริงๆ จะไปสนใจทำไม กูได้น้อย มึงได้มาก มึงทะเลาะกู กูทะเลาะมึงไม่มีหรอกเรื่องอย่างนั้นนะ เพราะไม่หาเอาเรื่องอย่างนั้น ใครจะทำอย่างไรก็ช่าง จะเข้าวัดไหนก็ตาม ก็ไม่ได้หาเอาเรื่องเช่นนี้ไม่ได้ไปเพ่งเอาเรื่องเช่นนี้ ใครจะปฏิบัติต่ำปฏิบัติสูง ก็ไม่ได้หาเอาเรื่องเช่นนั้น หาเอาเรื่องของตนเท่านั้น อย่างนี้แหละกล้าประพฤติกล้าปฏิบัติ ปัญญาจะเกิด ญาณจะเกิด เพราะการปฏิบัติ
ถ้าหากว่าปฏิบัติถึงที่มันแล้ว มันปฏิบัติแท้ๆ กลางคืนกลางวันก็ตามก็ปฏิบัติ กลางคืนก็นั่งสมาธิเงียบๆ แล้วลงมาเดินอย่างน้อยก็ต้องได้สองสามครั้ง เดินจงกรมนั่งสมาธิ นั่งสมาธิแล้วลงมาเดินจงกรม มันไม่อิ่มมันเพลิน บางทีฝนตกพรำๆ ไม่หนักให้นึกถึงเมื่อคราวทำนาโน่น กางเกงที่นุ่งทำงานกลางวันยังไม่ทันแห้ง ตื่นเช้ามาก็ต้องสวมใส่เข้าไปอีกตั้งแต่เช้า เข้าไปเอาควายในคอก มองดูควายข้างนอกเห็นแต่คอ ไปจับเอาเชือกควายมา มีแต่ขี้ควายเต็มไปหมด หางควายตะวัดแกว่งเอาขี้ของมันมาเปรอะเราเต็มไปหมด ตีนเป็นฮังก้าด้วย* เดินไปทรมานไป "ทำไมถึงทุกข์ ทำไมถึงยากแท้?" ทีเราเดินจงกรมฝนตกแค่นี้มันจะเป็นอะไร ทำนายิ่งทุกข์ก็ยังทำได้ เดินจงกรมแค่นี้ทำไมจะทำไม่ได้มันกล้าขึ้นมาหรอกถ้าเราทำได้
ถ้ามันตกกระแสของมันแล้ว เรื่องการปฏิบัตินี่ไม่มีอะไรจะขยันเท่ามันหรอก จะทุกข์ก็ไม่ทุกข์เท่าผู้ปฏิบัติ จะสุขก็ไม่สุขเท่าผู้ปฏิบัติ ขยันก็ไม่ขยันเท่าผู้ปฏิบัติ ขี้เกียจก็ไม่ขี้เกียจเท่าพวกนี้พวกนี้เป็นเลิศ เลิศกว่าเขา ขยันก็เลิศเขา ขี้เกียจก็เลิศเขา มีแต่เลิศทั้งนั้น ถึงว่าถ้าตั้งใจปฏิบัติแล้วมันก็น่าดูจริงๆ แต่พวกเราว่าปฏิบัตินะมันไม่ถึง มันไม่ได้ทำ เปรียบก็เท่ากับว่า ถ้าหลังคารั่วตรงนี้ ก็ขยับไปนอนตรงนั้น ถ้ารั่วตรงนั้นก็ขยับมานอนตรงนี้"ทำยังไงจะได้บ้านได้ช่องดีๆ กับเขาสักที?" นี่ถ้ามันรั่วทั้งหลังก็คงหนีเลย อย่างนี้ก็ไม่น่าเอา มันก็อย่างนั้นแหละการปฏิบัติ
จิตของเรากิเลสของเรานะ ถ้าไปทำตามมันก็ยิ่งไปกันใหญ่ยิ่งทำตามก็ยิ่งหมดข้อวัตรปฏิบัติ เรื่องการปฏิบัตินี่จนมันอัศจรรย์ในจิตของตนนะ อัศจรรย์มันขยันหมั่นเพียรไม่รู้เป็นอย่างไร ใครจะปฏิบัติก็ตาม ไม่ปฏิบัติก็ตาม ไม่ได้สนใจใคร ทำของตนปฏิบัติของตนไปสม่ำเสมออย่างนั้น ใครจะไปใต้มาเหนือก็ช่างเขาเราทำของเราอยู่อย่างนั้น มันต้องดูตัวเอง มันจึงจะเป็นการปฏิบัติครั้นปฏิบัติไป ปฏิบัติแล้วไม่มีเรื่องอะไรในใจ มีแต่เรื่องธรรมะตรงไหนมันทำยังไม่ได้ ตรงไหนมันขัดข้องอยู่มันก็วนอยู่แต่ตรงนั้น มันไม่แตกแล้วมันไม่หนีหรอก หมดอันนี้แล้วไปคาอยู่อะไรอีกมันก็ไปติดอยู่ตรงนั้นอีก ติดอยู่ที่นั่นมันไม่หนี ถ้ามันติดอยู่มันเอาจนแตกนั่นแหละ ถ้ามันไม่เสร็จมันก็ไม่ไปมันไม่สบายใจถ้ามันไม่เสร็จหมด มันพิจารณาจ่ออยู่ที่นั่น นั่งก็อยู่ที่นั่น นอนก็อยู่ที่นั้น เดินก็อยู่ที่นั้น เปรียบเหมือนกับเราทำนาไม่เสร็จนั่นแหละ นาเราเคยดำทุกปี แต่ปีนี้ตรงนั้นยังไม่เสร็จ ใจมันก็เลยติดเป็นทุกข์ อยู่ที่นั้นไม่สบาย เหมือนเราทำงานไม่เสร็จ ถึงมาอยู่กับเพื่อนมากๆ ใจก็ไม่สบาย พะวงแต่เรื่องงานที่เราทำไม่เสร็จอยู่นั่นแหละ หรือเหมือนกับเราปล่อยลูกเล็กๆ ไว้บนบ้าน แต่เราให้อาหารหมูอยู่ใต้ถุนบ้าน ใจมันก็คิดอยู่แต่กับลูก กลัวมันจะตกบ้าน ทำอย่างอื่นอยู่ก็คิดอยู่อย่างนั้น เช่นเดียวกันกับข้อปฏิบัติของเรามันไม่ลืมสักทีเลย ทำอย่างอื่นอยู่ก็ไม่ลืม พอจะออกจากบ้านมัน มันก็ป๊าปเข้ามาในใจทันที ติดตามอยู่กระทั่งคืนกระทั่งวันไม่ได้ลืมสักที เป็นอยู่อย่างนั้นมันจึงเป็นไปได้ ไม่ใช่ของง่าย
ตอนแรกก็อาศัยครูบาอาจารย์ให้ท่านแนะนำ เข้าใจแล้วก็ทำ ครูบาอาจารย์สอนแล้วก็ทำตามที่ท่านสอน พอเข้าใจแล้วทำได้แล้วท่านก็ไม่ได้สอนอีก เราทำของเราเองละทีนี้ มันจะเกิดประมาทอยู่ตรงไหน มันจะเกิดไม่ดีอยู่ตรงไหน มันก็รู้ของมันเองมันก็สอนของมันเอง มันก็ทำของมันเอง มันเป็นผู้รู้ มันเป็นปัจจัตตัง จิตมันเป็นของมันเอง รู้เองว่าผิดน้อยผิดมาก ผิดตรงไหนมันก็พยายามดูของมันอยู่อย่างนั้น พยายามประพฤติปฏิบัติเองของมัน เป็นอย่างนั้นละปฏิบัติ คล้ายๆ เป็นบ้าหรือเป็นบ้าไปเลยก็ว่าได้ ปฏิบัติจริงๆ ก็เป็นบ้านะแหละ มันเปลี่ยน มันเป็นสัญญาวิปลาศ แล้วมันเปลี่ยนสัญญานั่น ถ้ามันไม่เปลี่ยนมันก็ดุร้ายอยู่เหมือนเดิม มันก็ทุกข์อยู่เหมือนเดิม
มันก็แสนจะทุกข์นั่นละการปฏิบัติ แต่ว่าทุกข์นั่นถ้ามันไม่รู้จักว่ามีทุกข์ มันก็ไม่รู้จักทุกข์หรอก ถ้าเราจะพิจารณาทุกข์เราจะฆ่าทุกข์นี่ มันก็ต้องพบกันก่อนซิ จะไปยิงนกถ้าไม่เจอนกแล้วจะได้ยิงหรือ ทุกข์ ทุกข์ พระพุทธเจ้าท่านสอนว่า ทุกข์ ชาติทุกข์ ชะราปิทุกข์ เกิดขึ้นมาแล้วไม่อยากให้มันทุกข์ มันก็ไม่เห็นทุกข์ ไม่เห็นทุกข์มันก็ไม่รู้จักทุกข์ ไม่รู้จักทุกข์มันก็เอาทุกข์ออกไม่ได้อย่างนี้ แล้วคนเราไม่อยากเห็นทุกข์ ไม่อยากได้ทุกข์ ทุกข์ตรงนี้ก็หนีไปนั้น นั่นแหละยิ่งเอาทุกข์ไว้ไม่ได้ฆ่ามัน ไม่ได้คิดไม่ได้พิจารณาดูมัน ทุกข์ตรงนี้หนีไปตรงนั้น ทุกข์ตรงนั้นหนีไปตรงนี้ หนีแต่ทางกายเรา ครั้นมันหลงอยู่เมื่อใดจะไปตรงไหนมันก็ทุกข์ จะขึ้นเครื่องบินหนีไปจากมันก็ขึ้นไปด้วย แม้จะมุดลงไปในน้ำมันก็มุดไปด้วย เพราะทุกข์มันอยู่กับเรา แต่เรามันหลงมันอยู่กับเรา จะไปหนีจะไปละมันที่ไหนได้ คนเรานะทุกข์ ทีนี้หนีไปที่นั้น ทุกข์ที่นั้นหนีมาทางนี้ ว่าเราหนีทุกข์มันก็ไม่ใช่ ทุกข์มันไปกับเรา เราไปกับทุกข์ไม่รู้จักทุกข์ ถ้าไม่รู้จักทุกข์ก็ไม่รู้จักเหตุเกิดของทุกข์ ไม่รู้จักเหตุของทุกข์ ก็ไม่รู้จักความดับทุกข์ ที่ไหนมันจะดับได้ มันไม่มีหรอก
มันต้องหมั่นมาพิจารณาให้มันแน่นอน ต้องกล้าประพฤติกล้าปฏิบัติ อยู่กับเพื่อนกับฝูงก็เหมือนอยู่คนเดียวไม่กลัว ใครจะขี้เกียจขี้คร้านก็ช่างเถอะ ผู้ใดเดินจงกรมทำเพียรมากๆ ละรับรองใครจะไปไหนมาไหน ก็ทำการปฏิบัติของตัวเองอยู่อย่างนั้น ทำเพียรอยู่อย่างนั้น ถ้าทำจริงๆ แล้วก็พรรษาเดียวเท่านั้น การปฏิบัตินี่ ให้ทำนะให้ทำอย่างที่พูดมานี่ ให้ฟังคำสอนของอาจารย์ อย่าเถียง อย่าดื้อ ท่านสั่งให้ทำทำไปเลย ไม่ต้องกลัวกับการปฏิบัติมันรู้จักเพราะการกระทำ ไม่ต้องสงสัยหรอก
การปฏิบัตินั้นเป็นปฏิปทาด้วย ปฏิปทาอย่างไร? ปฏิบัติไปเรื่อยๆ สม่ำเสมอ ปฏิบัติเหมือนหลวงตาเปไม่ได้นะ ในพรรษาท่านก็สมาทานไม่พูด ไม่พูดแต่ก็เอาหนังสือมาเขียน "พรุ่งนี้ปิ้งข้าวเหนียวให้สักก้อนนะ" อยากกินข้าวเหนียวปิ้ง ท่านไม่พูดแต่เอาหนังสือมาเขียน ยิ่งยุ่งกว่าเดิมอีก เดี๋ยวก็เขียนเอาอันนั้นเดี๋ยวก็เขียนเอาอันนี้วุ่นวายไปหมด ท่านสมาทานไม่พูด แต่มาเขียนเอา นี่ก็ไม่รู้จะสมาทานไม่พูดไปทำไม ไม่รู้จักการปฏิบัติของตนเอง ความเป็นจริงปฏิปทาของเรา เป็นผู้มักน้อย เป็นผู้สันโดษปล่อยไปตามธรรมดาปกติของเรา อย่าไปสนใจมันจะขี้เกียจ อย่าไปสนใจมันจะขยัน ปฏิบัตินี่อย่าว่าขยัน อย่าว่าขี้เกียจ ธรรมดาคนเรานั้นนะ ขยันจึงจะทำ ถ้าขี้เกียจแล้วไม่ทำ นี่ปกติของคนเราแต่พระท่านไม่เอาเช่นนั้น ขยันก็ทำ ขี้เกียจก็ทำ ไม่สนใจอย่างอื่นตัดไป ละไป หัดไป ทำไปเรื่อยๆ ไม่ว่าวันนี้หรือคืนนี้ ปีนี้ ปีหน้ายามไหนก็ตาม ไม่สนใจขยัน ไม่สนใจขี้เกียจ ไม่สนใจร้อน ไม่สนใจหนาว ทำไปเรื่อยๆ นี่ท่านเรียกว่าสัมมาปฏิปทา
บางทีก็ขะมักเขม้นขึ้นมาคุมกันอยู่เสีย ๖ วัน ๗ วัน พอเห็นว่าไม่เข้าท่าก็หยุด เลิกออกมาเลยยิ่งไปกันใหญ่ ทั้งพูดทั้งคุยไม่รู้อะไรต่ออะไร พอนึกได้ทำเข้าไปอีกสองวันสามวันเท่านั้น พอเลิกแล้วนึกได้อีกก็ทำอีก เหมือนกับคนทำงาน บทจะทำก็ทำเสียจนไม่รู้เนื้อรู้ตัว เรื่องขุดไร่ขุดสวน ถางไร่ ถางภูก็ดี บทจะเลิกจอบเสียมก็ไม่ยอมเก็บ ทิ้งอยู่อย่างนั้น หนีไปเลย วันต่อมาดินจับเกรอะไปหมด แล้วก็นึกขยันทำอีก ทิ้งไปอีก อย่างนี้ไม่เป็นไร่ไม่เป็นนา ปฏิบัตินี่ก็เหมือนกันนั่นแหละ ปฏิปทาถ้าถือว่าไม่สำคัญก็ไม่สำเร็จ สัมมาปฏิปทานี่สำคัญมากจริงๆ คือเราทำเรื่อยๆ อย่าไปว่ามันได้อารมณ์ดีอารมณ์ไม่ดี ดีก็ช่าง ไม่ดีก็ช่างช่างมัน พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้สนใจใครหรอก ท่านผ่านมาหมดของดีไม่ดี ของชอบไม่ชอบเหล่านี้ นั่นแหละจึงเป็นการปฏิบัติการปฏิบัติที่จะเอาแต่ของชอบ ของไม่ชอบไม่เอา อย่างนี้ไม่เป็นการปฏิบัติ มันเป็นวิบัติ นี่ไปที่ไหนก็ไม่สบาย อยู่ที่ไหนก็ไม่สบายเป็นทุกข์อยู่ตลอดกาลตลอดเวลา กระทำเพียรอย่างนี้ก็เหมือนกันกับพราหมณ์บูชายันต์ ทำไมบูชายันต์? ก็เพราะเขาต้องการสิ่งที่เขาปรารถนา เราทำเพียรก็เหมือนกัน ทำไมเราจึงทำความเพียรล่ะ? ทำเพื่อมีภพมีชาติ ต้องการตามใจตามปรารถนาจึงเอา ไม่ได้ตามปรารถนาก็ไม่เอา เหมือนกับพราหมณ์บูชายันต์ เขาต้องการเขาจึงบูชายันต์
พระพุทธเจ้าท่านไม่ว่าอย่างนั้น การกระทำเพียรก็เพื่อละเพื่อปล่อย เพื่อเลิก เพื่อถอน ไม่ต้องการภพชาติ ไม่ต้องการเอานั่นเอานี่ กว่าที่ท่านจะมาถูกทางท่านก็ปฏิบัติมาไม่รู้กี่อย่างต่อกี่อย่าง มีพระเถระองค์หนึ่ง ท่านบวชมหานิกายว่ามันไม่เคร่ง ก็เปลี่ยนมาเป็นธรรมยุต ครั้นบวชธรรมยุตแล้วมาปฏิบัติ ปฏิบัติไปบางทีก็ไม่ยอมกินข้าวตั้ง ๑๕ วันนะ ครั้นกินก็กินเฉพาะผักเฉพาะหญ้า กินสัตว์นะมันบาป กินผัก กินหญ้าดีกว่า กินฝักลิ้นฟ้าหมดทีละ ๔-๕ ฝักแน่ะ กินอย่างนั้นมันก็ได้แค่นั้น ต่อมาสักหน่อย เฮ้ย เป็นพระไม่ดีเป็นไปลำบาก รักษาวัตรมันยาก ลดลงมาเป็นผ้าขาวดีกว่า เลยสึกจากพระมาเป็นผ้าขาว เพราะเก็บผักเก็บหญ้ากินเองก็ได้ ขุดหัวเผือกหัวมันกินเองก็ได้ เลยมาเป็นผ้าขาว ทำไปทำมาไม่รู้เรื่องรู้ราว เลยหมดไป หมดไปจากพระจากผ้าขาวหมดเลย เดี๋ยวนี้ไม่รู้ว่าไปอย่างไร ตายหรือยังก็ไม่รู้ นี่เพราะทำอย่างไรก็ไม่พอใจไม่หนำใจเลย ไม่รู้ว่าตัวเองกำลังทำตามกิเลส กิเลสพาทำก็ไม่รู้จัก พระพุทธเจ้านะท่านสึกเป็นผ้าขาวหรือเปล่า? ท่านทำอย่างไร ท่านปฏิบัติอย่างไรก็ไม่คิดดู ท่านพากินผักกินหญ้าเหมือนวัวเหมือนควายหรือเปล่า? เออ...ครั้นจะกินก็กินไปเถอะ เราทำได้แค่ไหนก็เอาแค่นั้น
อย่าไปติคนอื่น อย่าไปว่าคนอื่น มันสบายอย่างใดก็เอาอย่างนั้น อย่าไปเสี้ยม อย่าไปถาก อย่าไปฟันเข้ามากเกินไป จะไม่เป็นคันกะบวย เลยไม่เป็นอะไร ก็ทิ้งไปเสยเฉยๆ อย่างนี้ก็มีอย่างการทำความเพียรเดินจงกรม ๑๕ วัน ก็เดินอยู่อย่างนั้นไม่กินข้าวละแข็งแรงอยู่ ครั้นเลิกทำแล้วทิ้งนอนเรื่อยเปื่อยไม่ได้เรื่อง นี่แหละมันไม่ได้คิดไตร่ตรองให้ดี ไปๆ มาๆ เป็นอะไรก็ไม่ถูกใจ เป็นพระก็ไม่ถูกใจ เป็นเณรก็ไม่ถูกใจ เป็นผ้าขาวก็ไม่ถูกใจ เลยไม่เป็นอะไร ไม่ได้อะไรเลยหมด นี่แหละมันไม่รู้จักการปฏิบัติของตน ไม่พิจารณาเหตุผลมัน จะปฏิบัติเพื่อเอาอะไรให้คิดดู ที่ท่านให้ปฏิบัตินะปฏิบัติเพื่อทิ้ง มันคิดรักคนนั้น มันคิดชังคนนี้ อย่างนี้มีอยู่แต่อย่าไปสนใจมัน แล้วปฏิบัติเพื่ออะไร?เพื่อละสิ่งเหล่านี้ มันสงบก็ทิ้งความสงบ มันรู้แล้ว ก็ทิ้งมันซะความรู้เหล่านั้น รู้แล้วก็แล้วไป ครั้นถือว่าตัวว่าตนว่ารู้แล้ว ก็ถือว่าตัวเก่งกว่าคนอื่นเท่านั้นซิ ไปๆ มาๆ เลยอยู่ไม่ได้ อยู่ที่ไหนเดือดร้อนที่นั่น เรื่องปฏิบัติไม่ถูกหนทางมัน นี่เราไม่ได้ปฏิบัติ
ปฏิบัติพอสมควรตามกำลังของเรา มันนอนมากไหมก็ทรมานมันดู มันกินมากก็ทรมานมัน เอามันพอสมควร เอาแต่ศีล สมาธิ ปัญญา เอาธุดงควัตรใส่เข้าไปด้วย ธุดงควัตรนี่เพื่อเป็นเครื่องขูดเกลา เอาขนาดหนึ่งมันไม่พอนะ เอาธุดงควัตรเข้าใส่มันจึงแก้ได้ ธุดงควัตรนี้ก็เป็นของสำคัญอยู่ บางคนเอาศีล เอาสมาธิ ฆ่ามันก็ไม่ได้ ไม่เป็น ต้องเอาธุดงควัตรเข้าช่วยอย่างนั้นธุดงควัตรมันตัดหลายอย่าง เช่น บางทีให้อยู่โคนต้นไม้ อยู่โคนต้นไม้ก็ไม่ผิดศีล อยู่ป่าช้า อยู่ป่าช้าก็ไม่ผิดศีล ถ้าตั้งธุดงควัตรอยู่ป่าช้าแล้ว ไม่อยู่น่ะถึงผิด ไปอยู่ลองดูซิป่าช้านั่นมันจะเป็นอย่างไร มันจะเป็นเหมือนอยู่กับหมู่กับพวกหรือเปล่า? มันมีประโยชน์ทุกๆ อย่างนั่นแหละธุดงควัตรนี่
ธุ ทัง คะ ท่านว่าข้อวัตรปฏิบัติอันบุคคลปฏิบัติยาก เป็นข้อปฏิบัติของพระอริยะเจ้า ผู้ใดต้องการเป็นพระอริยะเจ้าต้องมีธุดงควัตรเป็นเครื่องขัดเกลา ยากที่คนจะทำได้ และยากที่จะมีคนศรัทธาทำ เพราะมีแต่สิ่งขัด มีแต่ขัด มีแต่ขืนทั้งนั้น อย่างถือผ้าก็ผ้าสามผืน เที่ยวบิณฑบาตมาฉัน บางทีก็ฉันแต่ในบาตร เที่ยวบิณฑบาตไป อะไรตกบาตรก็ฉันอันนั้น เขาจะเอาอะไรมาถวายภายหลังไม่เอา เวลาบิณฑบาตเขาใส่อะไรให้ก็ฉันแต่อันนั้น การที่ถือธุดงค์ข้อนี้ทางภาคกลางดี สบาย เพราะเขาพร้อมอยู่แล้วแต่ถ้ามาทางภาคอีสานธุดงค์ข้อนี้ได้ปฏิบัติละเอียดดี เพราะได้กินแต่ข้าวเปล่าๆ เท่านั้น บ้านเราเขาใส่บาตรแต่ข้าวเปล่าๆ ทางโน้นเขาใส่บาตรใส่ข้าวใส่กับด้วย มาบ้านเราทิ้งใส่ให้แต่ข้าวเท่านั้น ธุดงค์ข้อนี้อย่างอุกฤษฎ์เลย เคร่งอย่างนั้น บิณฑบาตมาฉัน ฉันแล้วใครจะเอาอะไรมาถวายอีกก็ไม่ฉัน ธุดงควัตรนี่มันช่วยมาก ช่วยจริงๆ ฉันหนเดียว ภาชนะอันเดียว อาสนะอันเดียว ลุกไปแล้วไม่ฉันอีกอย่างนั้น อันนี้เรียกว่าธุดงควัตร แล้วจะมีใครบ้างที่ประพฤติปฏิบัติได้ ยากที่จะมีคนศรัทธาเพราะมันยากมันลำบากมาก ท่านจึงว่าผู้ใดปฏิบัติธุดงควัตรนี้มีอานิสงส์มากจริงๆ
ที่เราว่าปฏิบัตินะมันยังไม่เรียกว่าปฏิบัติหรอก ถ้าปฏิบัตินะมันไม่ใช่ของเบาๆ มันไม่กล้าประพฤติ ไม่กล้าปฏิบัติหรอกคนเรานะ ที่ไหนมันขัดมันไม่กล้าทำหรอก อันไหนมันขัดหัวใจไม่อยากทำ ไม่อยากปฏิบัติ ไม่อยากขัดกิเลส ไม่อยากเกลามันไม่อยากเอามันออก
ความเป็นจริงท่านว่าการปฏิบัตินั้น อย่าทำตามใจของตนนัก ปฏิบัติให้พิจารณาบ้าง ใจเรามันถูกล่อลวงมาหลายภพหลายชาติแล้ว ว่าเป็นใจของตน มันไม่ใช่หรอก มันล้วนแต่เป็นของปลอม มันพาเราโลภ มันพาเราโกรธ มันพาเราหลง มันพาปล้นพาสดมภ์ พาอยากได้ พาอิจฉาพยาบาท อย่างนี้มันไม่ใช่ของเราแล้วลองถามดูใจของเราซิ อยากดีไหม? มีแต่อยากดีทั้งนั้น แล้วทำอย่างนั้นมันดีไหมล่ะ? แน่ะ! ไปทำไม่ดีแต่มันอยากได้ดี ถึงว่าของที่มันไม่จริงมันก็ต้องเป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้ตามมัน ให้ขัดมัน มันไปทางนั้น หลบมาทางนี้ มันมาทางนี้ หลบไปทางโน้นนั่นแหละ พูดง่ายๆ ก็เท่ากันกับเรื่องเก่าที่พูดมาแต่ต้น ใจเรามันจะชอบอันนี้ เอาไปโน่น ใจมันจะชอบอันโน่น เอามานี่เหมือนคนเคยเป็นเพื่อนกันมาก่อน แต่มาถึงวันนี้ก็มีความเห็นไม่ตรงกัน ไปคนละทาง แยกทางกัน พูดจาไม่ลงรอยกัน ทะเลาะกันเลย มันแยกไปอย่างนั้น นั่นแหละไม่ตามใจของตน ถ้าผู้ใดทำตามใจของตน มันรักอันไหน มันชอบอันไหน ก็เอาไป ตามเรื่องตามราวของมันนั่นแหละ ยังไม่ได้ปฏิบัติอะไรเลยสักอย่างลองดูก็ได้
นี่แหละเขาว่าได้ปฏิบัติมันไม่ใช่ มันวิบัติอยู่ ถ้าไม่หยุดดูไม่ทำดู ไม่ปฏิบัติดู ก็ไม่เห็นไม่เป็น ปฏิบัตินี่พูดง่ายๆ มันก็ต้องเอาชีวิตนั่นแหละเข้าแลก ไม่ใช่มันไม่ทุกข์นะปฏิบัตินี่ มันต้องทุกข์ ยิ่งพรรษาหนึ่งสองพรรษานี่แหละยิ่งทุกข์ พระหนุ่มเณรน้อยนี่ยิ่งทุกข์มาก ผมนี่มันเคยทุกข์มามาก ทุกข์กับอาหารการกินนี่ก็ยิ่งทุกข์ ก็เราอายุ ๒๐ ปี มาบวช มันกำลังกินกำลังนอนจะว่าอย่างไรกับมันล่ะ บางครั้งก็ไปนั่งเงียบคิดถึงแต่ของกินของอยากอยากกินตำกล้วยตานี อยากกินตำส้มมะละกอทุกอย่างนั่นแหละน้ำลายอย่างนี้ไหลยืด นี่แหละได้ทรมานมัน ทุกสิ่งทุกอย่างมันไม่ใช่ของง่ายนะ ถึงว่ามันได้พาเราทำบาปมามาก แล้วเรื่องอาหารการกินนี่ คนกำลังกิน กำลังนอน กำลังสนุก มายึดเอาไว้ มาขังเอาไว้ มันก็ยิ่งไปกันใหญ่ เท่ากับน้ำกำลังไหลไปขวางเอาไว้ยิ่งแตกใหญ่ เอาไว้ได้ก็ดี เอาไว้ไม่ได้ก็พัง จนกว่ามันสบายจากสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ ละก็ไม่ยากเลย
ภาวนาปีแรกไม่ได้อะไร มีแต่ภาวนาของอยากของกินวุ่นวายไปหมด แย่มากเหลือเกิน บางครั้งนั่งอยู่เหมือนกับได้กินกล้วยจริงๆ รู้สึกเหมือนหักกล้วยเข้าปากอยู่อย่างนั้น มันเป็นของมันเอง เหล่านี้มันมีแต่เรื่องการปฏิบัติหมดทั้งนั้น แต่ว่าอย่าไปกลัวมัน มันเป็นมาหลายภพหลายชาติแล้ว เราได้มาฝึกมาหัดมันทุกอย่าง แสนยาก แสนลำบาก แต่ว่าอันไหนยากๆ นั่นแหละ ทำอันไหนไม่ยากไปทำมันทำไม ทำในสิ่งที่มันยาก ทำที่มันได้สิ่งง่ายๆ นะ ใครๆ ทำก็เป็นหรอก สิ่งทำยากๆ นี่ต้องทำให้มันได้ พระพุทธเจ้าของเราก็เช่นกัน ถ้าจะมาคอยพะวงญาติพี่น้องพงศ์พันธุ์ทรัพย์สมบัติ ความร่าเริงบันเทิงต่างๆ รูปก็ดี เสียงก็ดี กลิ่นก็ดี รสก็ดี โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ก็ดี ก็ไม่ได้เป็นพระ-พุทธเจ้าหรอก..เหล่านี้มันไม่ใช่ของน้อย.คนเราก็หาเอาแต่สิ่งเหล่านี้ทั้งโลกนั่นแหละ ออกบวชแต่อายุยังน้อย หนีจากมันได้มันก็ตายนั่นแหละ บางคนก็ยังมาพูดว่า "ถ้าเหมือนหลวงพ่อก็ค่อยยังชั่วหน่อย ไม่ได้สร้างครอบครัวก็สบายไม่ได้คิดอะไร" ว่าไปนั่น ผมว่า "อย่ามาพูดอยู่ใกล้ๆ นะเดี๋ยวโดนไม้ค้อนหรอก" ยังกับเราไม่มีหัวใจอย่างนั้น
เรื่องของคนไม่ใช่เรื่องย่อยๆ มันเรื่องชีวิตทั้งนั้นแหละ ถึงว่านักปฏิบัติเรากล้าหาญฝึกเร่งเข้าไป ไม่เชื่ออย่างอื่น เชื่อพระ-พุทธเจ้าท่านสอน หาความสงบใส่ตัวเอง พอมาภายหลังจึงรู้ปฏิบัติไป พิจารณาไป ไตร่ตรองไป ผลมันสะท้อนกลับมาที่นี้เท่ากัน มีเหตุมีผลเหมือนกัน นักปฏิบัติของเราก็เช่นกัน อย่าไปยอมมัน ทีแรกแค่เรื่องการนอนมันก็ยังยาก ว่าจะลุกตื่นขึ้นเวลานั้นเวลานี้มันก็ไม่ลุก นี่ต้องหัดมันว่าจะลุกก็ลุกขึ้นทันที บางทีมันก็ได้ แต่บางทีพอรู้สึกตัวว่าจะลุกมันก็ไม่ลุก บางทีก็จะให้มันลุกว่าหนึ่ง...สอง...เอ้า ถ้านับถึงสามแล้วไม่ลุก ต้องตกอเวจี ตกนรกนะ บอกมันอย่างนั้น พอจะสามมันรีบลุกขึ้นทันที มันกลัวตกนรก อย่างนี้ต้องหัดมัน ไม่หัดไม่ได้หรอก มันต้องหัดทุกด้านทุกมุม จะอาศัยครูบาอาจารย์ อาศัยหมู่ อาศัยเพื่อน มาแนะนำพร่ำสอนเราอยู่เรื่อยๆ นะ โอย ไม่ได้กินหรอก อย่างนี้ไม่ต้องบอกกันมากหรอก บอกทีสองทีก็เลิก ทำไปปฏิบัติไปของมันเอง
จิตที่มันเป็นไปแล้วมันไม่ทำผิดหรอก อยู่ต่อหน้าคนมันก็ไม่ทำผิด อยู่ลับหลังมันก็ไม่ทำผิด เรื่องจิตที่มันเป็นแล้วมันไม่มีที่ลับที่แจ้งสักแห่ง มันเป็นของมันอยู่อย่างนั้น ฉะนั้นพระอริยะเจ้าทั้งหลายท่านจึงเชื่อจิตของท่านว่ามันเป็นเช่นนั้น นี่เราทั้งหลายก็เหมือนกัน ข้อวัตรปฏิบัติเล็กๆ น้อยๆ นี้ก็ยังไม่รู้จัก บางคนต้องการจะมาปฏิบัติเพื่อเอาความสุขเฉยๆ สุขมันจะเกิดมาจากไหนก่อน? อะไรเป็นเหตุมัน? ความสุขทั้งหลายนะมันต้องมีทุกข์ก่อนมันจึงจะเป็นสุข เราทำทุกสิ่ง ทำงานก่อนจึงได้เงินมาซื้อกินมิใช่หรือ ทำนาก่อนจึงจะได้กินข้าว มันต้องผ่านความทุกข์มาก่อนทุกอย่างนะแหละ บางคนมาบวชว่าจะมาพักผ่อนให้สบาย จะมานั่งพักผ่อนเอาสบายเลยเขาว่า ไม่ได้เรียนหนังสือมาก่อน จะมาจับหนังสืออ่านได้เลยอย่างนั้นหรือ? ไม่ได้หรอก
อย่างนี้แหละคนที่มีความรู้สูงๆ เมื่อเข้ามาบวชมาปฏิบัติไม่ค่อยได้เรื่อง เพราะมันรู้ไปคนละอย่างคนละทาง มันไม่ได้ทรมานตัวเอง ไม่ได้ดูตัวเอง หาเอาแต่ความยุ่งเหยิงมาใส่ใจของตน เอาแต่สิ่งที่ไม่ใช่ความสงบระงับ ส่วนด้านรู้ของพระพุทธเจ้าของเราไม่ใช่รู้ด้านโลกีย์ ท่านรู้ด้านโลกุตระ มันรู้ไปคนละทาง ฉะนั้นผู้เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา ไม่ว่าผู้ใด ไม่ว่าชั้นใด ภูมิใดก็ตาม ก็ให้หยุด กระทั่งพระเจ้าอยู่หัวมาบวชก็หยุดเรื่องนั้นเรื่องโลกไม่ได้เอามาใกล้ ไม่ได้เอามาอวดมาอ้าง ไม่ได้เอาลาภนั้นมาไม่ได้เอายศนั้นมา ไม่เอาความรู้นั้นมา ไม่เอาอำนาจนั้นมาไม่เอาการปฏิบัติเป็นเรื่องละ เป็นเรื่องวาง เป็นเรื่องถอน เป็นเรื่องเลิก ต้องเข้าใจอย่างนั้น ทุกอย่างมันจึงจะเป็นไปได้
เป็นไข้ยิ่งไม่ฉีดยา กินยา มันจะหายหรือ ที่ไหนมันกลัวต้องเข้าไป ป่าช้าตรงไหนมันกลัวต้องเข้าไปดู ห่มผ้าเข้าไปพิจารณา อนิจจาวะตะสังขารา ไปยืนแล้วก็เดินจงกรมอยู่ที่นั้น ไปพิจารณาให้รู้ให้เห็นว่ามันกลัวอยู่ตรงไหน แล้วมันจะบอก มันจะรู้เอง มันให้รู้เท่าสังขาร อยู่ดูมันจนค่ำจนมืดไปเรื่อยๆ ต่อไปดึกๆ ก็เข้าไปได้ แต่นี่ไม่กล้าไป...กลัว มันไม่กล้าเข้าไปปฏิบัติ ถ้าทำอย่างนั้นนะเขาเรียกปฏิบัติ ปฏิบัติไม่รู้เรื่องการปฏิบัติ ไม่รู้จักเรื่องของมัน เราจะต้องกล้า ต้องฝึก ต้องหัด อันใดที่พระศาสดาทรงบัญญัติไว้ อันนั้นต้องเกิดประโยชน์ อันนั้นต้องมีประโยชน์ ที่พระพุทธเจ้าท่านว่า "ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นเห็นตถาคต ผู้ใดเห็นตถาคต ผู้นั้นเห็นพระนิพพาน" ไม่ปฏิบัติตาม ท่านจะเห็นธรรมได้อย่างไร ไม่เห็นธรรมจะรู้จักท่านได้อย่างไร ไม่รู้จักท่านจะรู้จักคุณของท่านได้อย่างไร ถ้าทำตามท่านแล้วก็จะรู้จักว่า พระพุทธเจ้าท่านสั่งสอนมาแน่นอนเหลือเกินเรื่องสัจธรรมนี้ สัจธรรมเป็นความจริงที่สุด