รบความโลภ รบความโกรธ รบความหลงนี่แหละ คือข้าศึกการปฏิบัติในทางพุทธศาสนา ทางแห่งพระพุทธเจ้านั้นรบด้วยธรรมะ รบด้วยความอดทน ด้วยความต่อต้านซึ่งอารมณ์สารพัดอย่าง ธรรมะกับโลกมันเกี่ยวข้องกัน มีธรรมก็มีโลก มีโลกก็มีธรรม มีกิเลสก็มีผู้สะสางกิเลส คือรบกับกิเลสทั้งหลายนี่เรียกว่ารบภายใน รบภายนอกนั้นต้องจับลูกระเบิด จับปืนมาขว้างกัน มายิงกัน เอาชนะเอาแพ้กัน เอาชนะคนอื่นก็เป็นทางโลก ทางธรรมะไม่ต้องรบกับใคร เอาชนะใจของตัวเอง อดทนต่อสู้กับอารมณ์ทุกอย่าง
ทางธรรมะ ถ้าหากว่าเรามาประพฤติปฏิบัติแล้วไม่ต้องก่อกรรมทำเวรซึ่งกันและกัน ปลดปล่อยความชั่วทั้งหลายออกจากกายออกจากใจของพวกเราทั้งนั้น พ้นจากการอิจฉา พ้นจากการพยาบาท พ้นจากการจองเวรกัน เวรอันใดจะระงับไปได้ก็เพราะการไม่จองเวร ไม่ผูกเวรกัน กรรมกับเวรมันต่างกัน แต่ว่ามันคล้ายกัน กรรมทำแล้วก็แล้วกันไปไม่ต้องจองล้างจองผลาญกันอีก นี่เรียกว่าเป็นกรรมเวร หมายถึงการจองกันไว้อีก ว่าเอ็งมาทำฉันฉันจะต้องทำเอ็งต่อไปมิได้ขาด ต้องแก้แค้นกันไปเรื่อยๆ นี้เรียกว่าเวรนั้นยังไม่ระงับ เพราะการจองเวรเมื่อไรยังเป็นไปอยู่อย่างนั้น มันก็เป็นห่วงโซ่ต่อกันเป็นสาย จึงไม่จบไม่สิ้น ภพไหนชาติไหนก็ดี มันก็เป็นอยู่อย่างนั้น พระบรมศาสดาท่านสอนโลก ท่านโปรดโลกโปรดสัตว์ แต่ว่าโลกก็เป็นอยู่อย่างนี้ ผู้ที่มีปัญญาเกิดมาแล้วก็ต้องพิจารณาเอาอะไรที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งใหญ่ นักรบนักอะไรทั้งหลายทั้งปวงนั้น พระพุทธเจ้าก็เคยทำมาเหมือนกัน แต่ว่าไม่เกิดประโยชน์เท่าที่ควร มันก็เป็นอยู่เฉพาะโลกมีแต่เรื่องผูกกรรมผูกเวรกันต่อไป
ฉะนั้น การมาอบรมในการบวช ก็เลิกสิ่งชั่วกันไปเลยเลิกอะไรที่มันเป็นกรรมเป็นเวร เอาชนะตัวเอง ไม่เอาชนะคนอื่น รบก็รบเฉพาะกิเลส มีความโลภเกิดขึ้นมาก็รบมัน ความโกรธเกิดขึ้นมาก็รบมัน ความหลงเกิดขึ้นมาก็พยายามละมัน นี่เรียกว่า "การรบ" การทำสงครามด้านจิตใจกับกิเลสนี้มันยากแสนยากแสนลำบากที่สุด บวชมาเราก็มาพิจารณาเรียนการรบรบราคะรบโทสะรบโมหะ นี่เป็นหน้าที่ของพวกเราทั้งหลายที่จะต้องพิจารณา
นี่เรียกว่าการรบภายใน คือรบกับกิเลสทั้งหลาย แต่น้อยคนนักที่จะรบกับกิเลส ไปรบกับอย่างอื่นเสียมาก กิเลสส่วนนี้ไม่ค่อยจะรบกัน ไม่ค่อยจะเห็นกัน
พระพุทธเจ้าท่านสอนว่า ให้ละความชั่วทุกอย่าง มาประพฤติความดีทุกประการเป็นทางที่ถูกต้องแล้ว ท่านบอกอย่างนี้ก็เรียกว่า ท่านมาจับตัวพวกเราทั้งหลายมาปล่อยที่ต้นทาง เมื่อถึงทางแล้ว เราจะเดินไปหรือไม่เดินไปนั้นเป็นเรื่องของเรา เรื่องของพระพุทธเจ้าก็หมดแค่นั้น ท่านชี้ทางไว้ ทางที่ผิดทางที่ถูกเท่านั้นก็พอแล้ว การประพฤติปฏิบัติเป็นหน้าที่ของพวกเรา
ดังนั้น เมื่อเรามาอยู่ที่ทางนี้ ก็เรียกว่าเรายังไม่รู้อะไร ไม่เป็นอะไร เราก็ต้องศึกษา การศึกษานี้จะต้องอดทนต่อทุกสิ่งทุกอย่าง คล้ายๆ กับเราเป็นนักศึกษาเคยศึกษาทางโลกมา มันยากลำบากพอสมควร ก่อนจะมีความรู้มีวิชามาพอจะปฏิบัติการงานได้ ต้องข่มใจตัวเอง เมื่อใจเรามันเห็นผิด เมื่อใจเราไม่ชอบหรือมันขี้เกียจทั้งหลายนี้ เราจะต้องข่มใจความรู้จึงจะเกิดในใจเรา แล้วสามารถนำไปปฏิบัติการงานได้ การปฏิบัติการงานในทางพระนี้ก็เหมือนกัน ถ้าหากว่าเราตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติพินิจพิจารณาคงจะมองเห็นทางพอสมควร
ทิฐิมานะนี้เป็นของสำคัญมาก ทิฐิคือความเห็น ความเห็นทุกสิ่งสารพัดมันเป็นทิฐิทั้งนั้น เห็นดีเป็นชั่วเห็นชั่วเป็นดีสารพัดอย่างแล้วแต่จะเห็น อันนั้นก็ไม่เป็นประมาณ เป็นประมาณอยู่ที่ความยึดมั่นถือมั่นเรียกว่ามานะ ความเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในความเห็นอันนั้นอย่างจริงจัง พาให้เราเวียนว่ายตายเกิดไม่มีทางจบ เพราะการไปยึดมั่นถือมั่น ดังนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงสอนว่า ให้ลดทิฐิให้ละทิฐิคือความเห็น อย่างเช่นคนมาอยู่ด้วยกันมากๆ อย่างนี้มันก็ปฏิบัติได้ง่ายๆ ถ้ามีความเห็นถูกต้องตรงกัน แต่ถึงแม้ว่าจะอยู่องค์เดียว ๒ องค์ ๓ องค์ก็ปฏิบัติยากอยู่ลำบาก ถ้าความคิดไม่ถูกต้องความเห็นไม่ดี เมื่อมาน้อมลงเพื่อละทิฐิอันเดียวกันอยู่หลายองค์ก็ตามเถอะ มันก็ลงสู่พระพุทธพระธรรมพระสงฆ์เหมือนกัน จะว่ามีหลายองค์มันจะเกะกะก็ไม่ได้คล้ายๆ กับตัวกิ้งกือ ตัวกิ้งกือมันมีขาหลายขาใช่ไหม เรานับไม่ถ้วน มองดูมันก็น่ารำคาญเหมือนกันว่า มันจะยุ่งกับขากับแข้งของมัน มันเดินไปเดินมาความจริงมันไม่ยุ่ง มันมีจังหวะมีระเบียบ.ถึงแม้จะมีขามากมันก็ไม่ยุ่งยาก ในทางพุทธศาสนานี้ก็เหมือนกัน ถ้าปฏิบัติแบบยุคสาวกของพระพุทธเจ้าแล้วมันก็ง่าย เรียกว่าสุปะฏิปันโนเป็นผู้ปฏิบัติดี, อุชุปะฏิปันโนเป็นผู้ปฏิบัติตรง, ญายะปะฏิปันโนเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อพ้นจากทุกข์, สามีจิปะฏิปันโนเป็นผู้ปฏิบัติชอบเป็นผู้ปฏิบัติถูกต้อง, คุณสมบัติทั้ง ๔ ประการนี้ถ้าตั้งอยู่ในใจของพวกเราทั้งหลายแล้ว คือคุณสมบัติของพระสงฆ์ ถ้าทำอย่างนี้เราจะมีเป็นร้อยเป็นพันเราจะมีมากแค่ไหนก็ช่างเถอะ มันลงสายเดียวกันถึง แม้พวกเราทั้งหลายจะมาจากทิศต่างๆ ก็เหมือนกันนั่นเอง ไม่ใช่อื่นไกล ถึงความเห็นมันจะไปคนละทิศละทาง ยังเห็นผิดอยู่ก็ช่างมันเถอะ ถ้ามีความถูกต้องมันก็เหมือนกัน คล้ายกับว่าห้วยหนองคลองบึงต่างๆ ที่มันไหลลงสู่ทะเล เมื่อมันไปตกถึงทะเลแล้วมันก็มีสีครามรสเค็มด้วยกัน มนุษย์เราทั้งหลายก็เช่นกัน เมื่อลงสู่กระแสของธรรมะแล้ว มันก็ลงสู่ธรรมะอันเดียวกัน จะอยู่คนละทิศละทางก็ช่าง จะอยู่ที่ไหนก็ตาม มันมารวมกันเป็นอันเดียวกันอย่างนั้น แต่ว่าความคิดที่มันแก่งแย่งซึ่งกันและกันนั้นเป็นทิฐิมานะ ดังนั้นพระพุทธเจ้าจึงสอนว่า เรื่องความเห็นนั้นก็ปล่อยไว้ เรื่องมานะอย่าเข้าไปยึดมั่นถือมั่นจนเกินความเป็นจริง
พระพุทธองค์ท่านสอนว่า ให้มีสติอยู่เสมอ จะยืนจะเดินจะนั่งจะนอนจะอยู่ที่ไหนก็ช่างเถอะ ให้มีสติประคองอยู่เสมอ เมื่อเรามีสติเราก็เห็นตัวของเรา เห็นใจของเรา แล้วก็เห็นกายในกายของเรา เห็นใจในใจของเรา ทุกอย่างถ้าไม่มีสติเราก็ไม่รู้เรื่อง อะไรมาตกอยู่หน้าบ้านตกอยู่ในกุฏิเราก็ไม่เห็น เพราะเราไม่มีสติ การมีสตินี้จึงเป็นสิ่งสำคัญ ผู้ใดมีสติอยู่ทุกเวลาผู้นั้นจะได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้าอยู่ตลอดเวลา เพราะว่าตามองเห็นรูปก็เป็นธรรมะ หูได้ฟังเสียงก็เป็นธรรมะ จมูกได้กลิ่นก็เป็นธรรมะ ลิ้นได้รสก็เป็นธรรมะ กายไปถูกโผฏฐัพพะกระทบเย็นร้อนอ่อนแข็งก็เป็นธรรมะ ธรรมารมณ์ที่มันเกิดขึ้นกับใจนึกขึ้นได้เมื่อใดเป็นธรรมะเมื่อนั้น ฉะนั้น ผู้ที่มีสติได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้าอยู่ตลอดเวลา จะยืนจะเดินจะนั่งจะนอน มันมีอยู่ทุกเวลาเพราะอะไร? เพราะเรามีสติมีความรู้
สติ คือ ระลึกได้ สัมปชัญญะความรู้อยู่ตัวรู้ก็คือตัวพุทโธ ตัวพระพุทธเจ้านั่นแหละพอมีสติสัมปชัญญะรู้อยู่ปัญญาก็วิ่งตามมาเท่านั้น รู้เรื่องต่างๆ ตาเห็นรูปสิ่งนี้ควรไหม? ไม่ควรไหม? หูฟังเสียงสิ่งนี้ควรไหม? ไม่ควรไหม? มันเป็นโทษไหม? มันผิดไหม? มันถูกต้องเป็นธรรมะไหม? สารพัดอย่าง ดังนั้นผู้มีปัญญาแล้วจึงได้ฟังธรรมะอยู่ตลอดเวลา แม้มองเห็นต้นไม้ก็เป็นธรรมะ มองเห็นสิ่งต่างๆ มันเป็นธรรมะหมด ทั้งนั้นถ้าเรารู้จักธรรมะ
พวกเราทั้งหลายให้เข้าใจว่า ในเวลานี้เราเรียนอยู่กลางธรรมะ จะเดินไปข้างหน้าก็ถูกธรรมะ จะถอยไปข้างหลังก็ถูกธรรมะ ธรรมะทั้งนั้น ถ้าเรามีสติอยู่แม้แต่เห็นสัตว์ต่างๆ ที่วิ่งไปก็มีปัญญาว่า สัตว์มันก็เหมือนกันกับเรานั่นแหละ มันไม่แปลกไปกว่าเราหรอก มันหนีจากความทุกข์ไปหาความสุขเหมือนกัน อันไหนที่มันไม่ชอบมันก็ไม่เอาเหมือนกัน มันกลัวสิ้นชีวิตของมันเหมือนกัน ถ้าเราคิดไปเช่นนี้ก็เรียกว่า สัตว์ทั้งหลายในโลกนี้กับมนุษย์ก็ไม่แปลกกันที่สัญชาตญาณต่างๆ เมื่อเราคิดไปเช่นนี้ก็เรียกว่าเป็นการภาวนารู้เห็นตามความเป็นจริง ว่าสัตว์ทั้งหลายก็ดี มนุษย์ทั้งหลายก็ดี มันก็เป็นเพื่อนเกิดเพื่อนแก่เพื่อนเจ็บเพื่อนตายด้วยกันทั้งนั้น ไม่ใช่อื่นไกล สัตว์ทุกประเภทมันก็เหมือนมนุษย์ มนุษย์ทุกประเภทมันก็เหมือนสัตว์ ทีนี้เมื่อเรารู้เห็นสภาวะตามเป็นจริงจิตเราก็ถอนออกจากสิ่งเหล่านั้น
ฉะนั้น ท่านจึงให้มีสติ ถ้ามีสติแล้วมันจะเห็นกำลังใจของตน เห็นจิตของตน ความรู้สึกนึกคิดของตัวเองเป็นอย่างไรก็ต้องรู้ตัว รู้นั่นแหละเรียกว่าพุทโธหรือพระพุทธเจ้า ผู้รู้รู้ถึงที่มันแล้วก็รู้แจ้งแทงตลอด เมื่อมันรอบรู้อยู่เช่นนี้ก็ประพฤติปฏิบัติได้ถูกต้องดีเท่านั้นไม่ใช่อื่นไกล ฉะนั้น ปฏิบัติง่ายๆ พิจารณาง่ายๆ เราจึงมีสติอยู่ ผู้ไม่มีสติก็เหมือนเป็นบ้าไม่มีสติ ๕ นาทีก็เป็นบ้า ๕ นาทีก็ประมาทอยู่ ๕ นาที ถ้าขาดจากสติเมื่อใดก็เป็นบ้า เมื่อนั้นให้เข้าใจอย่างนี้ สตินี้จึงมีคุณค่า คนมีสติแล้วก็รู้จักว่าตัวเรามีลักษณะอย่างไร จิตใจของเราอยู่ในลักษณะอย่างไร ความเป็นอยู่ของเราอยู่ในลักษณะอย่างไร นี่ผู้มีปัญญามีความเฉลียวฉลาดแล้วก็ได้ฟังธรรมอยู่ทุกเวลา ออกจากครูบาอาจารย์แล้วก็ได้ฟังธรรมอยู่เสมอ รู้อยู่เสมอเพราะว่าธรรมอยู่ทั่วๆ ไป ฉะนั้น พวกเรานั่นในวันหนึ่งๆ ให้ได้ปฏิบัติเถอะ ขี้เกียจก็ทำขยันก็ทำ เราปฏิบัติธรรมะไม่ปฏิบัติตามตัวเรา ถ้าปฏิบัติตามตัวเราไม่เป็นธรรมะ ไม่ว่ากลางวันกลางคืนสงบก็ทำไม่สงบก็ทำ เหมือนกับเราเป็นเด็กไปเรียนหนังสือ จะเขียนไม่สวยในครั้งแรก มันหัวยาวๆ ขายาวๆ เขียนไปตามเรื่องของเด็ก นานไปก็สวยขึ้นงามขึ้นเพราะฝึกมัน การประพฤติธรรมก็เหมือนกัน ทีแรกก็เกะๆ กะๆ สงบบ้างไม่สงบบ้าง ไม่รู้เรื่องมันเป็นไป บางคนก็ขี้เกียจ อย่าขี้เกียจซิ ต้องพยายามทำอยู่ ด้วยความพยายามเหมือนกับเราเป็นเด็กนักเรียน โตมาก็เขียนหนังสือได้ดี จากไม่สวยมาเขียนได้สวย เพราะการฝึกตั้งแต่เด็กนั่นแหละ อันนี้ก็เหมือนกันฉันนั้น พยายามให้มีสติอยู่ทุกเวลาจะยืนจะเดินจะนั่งจะนอน พยายามทำให้มันสม่ำเสมอ เมื่อเราทำกิจวัตรอะไรมันคล่องดีแล้วเป็นต้น เราก็สบายใจ นั่งก็สบาย นอนก็สบาย เมื่อความสบายเกิดขึ้นจากกิจวัตร การนั่งสมาธิก็สงบง่ายเป็นเรื่องสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ดังนี้ฉะนั้น จงพากันพยายามสิ่งที่ครูบาอาจารย์พาทำนี้ ให้พยายามทำเถอะ ตามความสามารถของเรา นี่เรียกว่าการฝึก